ชีวิตดีสังคมดี

เช็กสิทธิ 'บัตรทอง' ผ่าตัดแปลงเพศ กลุ่ม LGBTQ+ เร่งออกแพ็กเกจ

03 ธ.ค. 2566

'บัตรทอง' ผ่าตัดแปลงเพศ กลุ่ม LGBTQ+ ได้ เร่งออกแพ็กเกจสิทธิประโยชน์ โรงพยาบาลจุฬาฯ ใช้ 'สิทธิบัตรทอง' แล้ว 1 ราย

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงกรณีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ “บัตรทอง” ผ่าตัดแปลงเพศ ในกลุ่ม LGBTQ+ ว่า การผ่าตัดแปลงเพศ อยู่ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว และเมื่อปี 2565 มีการออกประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข ระบุไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า การกระทำใดๆ เพื่อความสวยงาม โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ไม่ครอบคลุมหรือเบิกไม่ได้ ดังนั้น ถ้าเป็นกรณีมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ก็สามารถใช้สิทธิได้ 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่า โรงพยาบาลมีแต่การเบิกในเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศ ในกรณีเพศกำกวมแต่กำเนิด แต่ละปี จะมีประมาณ 100 กว่าราย แต่ไม่เคยเบิกกรณีผ่าตัดกลุ่ม LGBTQ+ เข้ามา จะมีก็เมื่อปีที่แล้ว ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เบิกเข้ามา 1 ราย

 

 

“เรื่องการแปลงเพศของกลุ่ม LGBTQ+ ที่ผ่านมา ไม่เคยมีการพูดคุยเป็นเรื่องเป็นราวว่า ตรงไหนทำได้หรือไม่ได้อย่างไร และ โรงพยาบาลก็ไม่เคยทำ และเบิกเข้ามา สปสช.ก็ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง จึงมีการนัดภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องมาหารือทั้งแพคเกจ ตั้งแต่ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค รักษาฟื้นฟูครบทุกกระบวนการ เพราะจะมีตั้งแต่การใช้ฮอร์โมน จนถึงการแปลงเพศ ซึ่งฮอร์โมนบางตัวอาจจะไม่อยู่ในบัญชียาหลัก ก็ต้องไปดูรายละเอียด” นพ.จเด็จกล่าว

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การผ่าตัดแปลงเพศที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ส่วนใหญ่จะมองเหมือนเสริมสวย แต่เราตีความชัดเจนขึ้น ถ้าจำเป็นในทางการแพทย์ ก็จะอยู่ในสิทธิประโยชน์ จึงขึ้นกับแพทย์ที่ทำการรักษาว่า จะตัดสินใจทำหรือไม่ เพื่อป้องกันว่า ไม่ใช่ใครจะทำอะไรก็ได้ จะคิดเอาเองไม่ได้ ตรงนี้มีความชัดเจนขึ้น เราค่อนข้างมั่นใจตัวระเบียบใหม่ที่ประกาศสิทธิประโยชน์ออกมาว่า กรณีมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ก็เบิกได้

 

 

นพ.จเด็จกล่าวว่า แม้จะมีระบบเบิกจ่ายรองรับ แต่ไม่รู้ว่าเงินที่ได้เพียงพอหรือไม่ เพราะการจ่ายคาดว่าคงไม่ถึงแสนบาท แต่จริงๆ แล้วการผ่าตัดแปลงเพศราคาค่อนข้างสูง เพราะมีหัตถการอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสิทธิประโยชน์จะต้องครอบคลุมทั้งหมด จึงต้องมาหารือเรื่องของราคา ขณะนี้ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมเพศวิทยาคลินิกและเวชศาสตร์ทางเพศ ที่ดูแลรักษาผู้มีเพศสภาพไม่ตรง ได้ทำคู่มือทำไกด์ไลน์ออกมาว่า มีประมาณ 8-9 หัตถการที่ต้องทำ เช่น ตัดกราม, ผ่าตัดใบหน้า, ผ่าตัดหน้าอก, ผ่าตัดอวัยวะเพศ เป็นต้น 

 

 

ทั้งนี้แต่ละหัตถการ ก็จะแบ่งเป็น 1 DRG ในการเบิกแยกกัน ไม่ได้รวมเป็นก้อนเดียว แต่กำลังให้ทีมทำเป็นแพคเกจทั้งหมดของทรานส์เจนเดอร์ ซึ่งบางเรื่องมีอยู่แล้ว แต่กระจัดกระจาย เราไม่เคยเอาพวกนี้มามองเป็นเรื่องของทรานส์เจนเดอร์ เราจะรวมแพคเกจมาคุยกันใหม่ ที่มีอยู่แล้วก็เอามารวม ที่ยังไม่มีก็เอามาเสริม แล้วประกาศเป็นแพคเกจสำหรับคนกลุ่มนี้ คาดว่าประมาณ 1-2 เดือนน่าจะแล้วเสร็จ

 

 

เมื่อถามต่อว่า สิทธิแปลงเพศจะจำกัดเฉพาะในสิทธิบัตรทองใช่หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า เรื่องรักษา สิทธิใครสิทธิมัน แต่เรื่องส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเราครอบคลุมหมด เช่น การส่งเสริมการใช้ฮอร์โมนก็จะอยู่หมดทุกสิทธิ แต่จะเขียนเป็นแพคเกจให้ชัดเจน ซึ่งยาฮอร์โมน คาดว่าจะใช้งบส่งเสริมป้องกันโรค (PP) เพราะเป็นการใช้ยาขณะยังไม่ป่วย ส่วนเกณฑ์ในการพิจารณาเบิกจ่ายสิทธิ ก็ต้องคุยกับผู้เชี่ยวชาญ เพราะเวลาใครจะถูกบอกว่าจะเป็นทรานส์เจนเดอร์แล้วต้องใช้ยา ไม่ใช้ยาตัวไหน ใครจะเป็นคนตัดสิน แพทย์จะตัดสินด้วยเกณฑ์ (Criteria) อะไร หรือตัวผู้ป่วยเอง หรือคนที่เขารู้สึกอยากจะใช้ฮอร์โมนจะตัดสินอย่างไร เลือกเองได้ไหมยังคุยกันอยู่ แต่โดยหลักต้องตัดสินใจร่วมกัน เหมือนเราแนะนำคนคุมกำเนิด หลังๆ เขาก็ไปซื้อเองไม่ต้องมาปรึกษาอะไรก็ได้ ตรงนี้ก็ต้องดูให้ละเอียดอีกที คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 เดือนเช่นกัน