ชีวิตดีสังคมดี

แก้กฎหมาย 'ลงโทษเด็ก' แบบรุนแรง งานวิจัยพบกระทบจิตใจ สมอง ร่างกายไปจนโต

แก้กฎหมาย 'ลงโทษเด็ก' แบบรุนแรง งานวิจัยพบกระทบจิตใจ สมอง ร่างกายไปจนโต

13 พ.ย. 2566

แก้กฎหมาย 'ลงโทษเด็ก' แบบรุนแรงทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสังสอน ไม่ควรมีอีกต่อไป งานวิจัยพบความรุนแรงกระทบต่อสภาพจิตใจ ร่างกาย และสมองของเด็กติดตัวไปจนโต

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเด็กและการ "ลงโทษเด็ก" จำนวนหนึ่งมาจากการถูกกระทำโดยพ่อและแม่ ผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางร่างกาย คำพูดที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งหากเด็กถูกกระทำความรุนแรงซ้ำๆ จะก่อให้เกิดความเครียดที่ส่งผลกระทบต่สมอง ปิดกั้นพัฒนาการ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาพบว่าเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงมักจะแจ้งเหตุน้อยมาก และได้รับความช่วยเหลือจำนวนน้อยว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยส่วนใหญ่จะมีการรายงานเฉพาะกรณีที่ถูกทำร้ายร่างกายอย่างหนักจนต้องเข้ารับการักษาที่โรงพยาบาล บางรายบาดเจ็บสาหัส หรือบางรายถึงขั้นเสียชีวิต

ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริม สร้างความเข้าใจ ให้เกิดการเลี้ยงดูเด็ก หรือการ "ลงโทษเด็ก" ที่ถูกต้องผ่านกระบวนการเลี้ยงดูแบบเข้าจากครอบครัว และการแก้ไขกฎหมายเพื่อเป็นตัวนำในการลดปัญหาความรุนแรงในเด็ก มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ร่วมกับเครื่อข่ายสิทธิเด็กประเทศไทยจึงจัดประชุมวิชาการ หัวข้อ การยุติการลงโทษทางกายทุกรูปแบบต่อเด็ก เพื่อผลักดันให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (2)

โดย น.ส.วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและประธานเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาเด็กถูกลงโทษทางกายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาอย่างยาว โดยเฉพาะการให้ความรุนแรงต่อเด็กนครอบครัว เป็นเรื่องที่สังคมไม่ได้ให้ความสำคัญและปล่อยให้เกิดพฤติกรรมซ้ำ ไม่มีการแจ้งเหตุต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากงานวิจัยพบว่า การลงโทษทางกายทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงลบที่หลากหลายต่อเด็ก ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น การทำร้ายร่างกายโดยตรง บางครั้งทำให้เกิดความเสียหายรุนแรง ทุพพลภาพระยะยาวหรือเสียชีวิต ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่หรือผู้ดูแล ความไว้วางใจ ความมั่นคง และความปลอดภัย  กระตุ้นให้เกิดความเจ็บป่วยทางจิต รวมถึงความผิดปกติของพฤติกรรมและความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ความสิ้นหวัง ความนับถือตนเองต่ำ การทำร้ายตนเอง การ พยายามฆ่าตัวตาย ติดแอลกอฮอล์ ยาเสพติด และความมั่นคงทางอารมณ์ ส่งผลกระทบไปถึงพฤติกรรมของเด็กในวัยผู้ใหญ่  

 

 

โดยเฉพาะการควบคุมอารมณ์และทักษะการแก้ไขความขัดแย้ง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางอ้อมต่อการศึกษา รวมถึงการเลิกเรียนกลางคัน และความสำเร็จทางวิชาการและอาชีพลดลง เพิ่มความก้าวร้าวในเด็กการก่อพฤติกรรมที่รุนแรง ต่อต้านสังคมเพิ่มการยอมรับและการใช้ความรุนแรงในรูปแบบอื่น ๆ และความสัมพันธ์ในครอบครัวเสียหาย

 

 

อย่างไรก็ตามการลงโทษทางร่างกายและการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเด็กสามารถทำได้หลายแนวทาง หนึ่งในหนทางที่จะทำให้สังคมตระหนักได้นั้น คือการกฏิรูปกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อห้ามการลงโทษทางร่างกาย

 

ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก อธิบายเพิ่มเติมว่า คณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยกวับเด็กให้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งมีการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร ในการทำโทษทางร่างกายภายในครอบครัว ในมาตรา 1567 ที่ระบุผู้ใช้อำนาจปกครองสิทธิ  ที่ระบุเอาไวว่า 1.การกำหนดที่อยู่ของบุตร 2.ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่างสั่งสอน 3.ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป 4.เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย  และข้อ 2 ที่ระบุเอาไว้นั้น เป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเข้าเป็นรัฐภาคี  และแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเชียนว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็ก จึงต้องกำหนดลักษณะการทำโทษบุตรของผู้ใช้อำนาจปกครองโดยไม่ใช้ความรุนแรง

 

 

นอกจากนี้ยังมีแนวทางอื่นๆ ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานที่เป็นอันตรายเกี่ยวกับการเลี้ยงดูและการลงโทษเด็ก สนับสนุนผู้ปกครองและผู้ดูแล ให้ข้อมูลความรู้และการสร้างทักษะเพื่อพัฒนาอบรมเลี้ยงดูแบบไม่ใช้ความรุนแรง การทำโปรแกรมลดความรุนแรงในโรงเรียน เพื่อสร้างบรรยากาศเชิงบวกในโรงเรียน และสภาพแวดล้อมที่ปราศจากความรุนแรง และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน และผู้บริหาร  ให้บริการตอบสนองและสนับสนุนการดูแลผู้ถูกกระทำรุนแรงที่เป็นเด้กและครอบครัว เพื่อช่วยลดการทำผิดวินัยหรือการใช้ความรุนแรงซ้ำอีกและลดผลที่ตามมา

 

 

“ประเทศไทยเป็นประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมานานกว่า 31 ปี และที่่านมามีการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด้กหลายครั้ง แต่เรากลับพบว่าเรายังได้เห็นสภาพเด็กถูกลงโทษด้วยความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง บุคคลภายนอกยังไม่กล้าที่จะแจ้งเรื่องหากเห็นผู้ปกครองทำร้ายเด็ก หรือสั่งสอนด้วยความรุนแรง การแก้ไขกฎหมายจะกลายเป็นแนวทางที่จะให้สังคมไทยตระหนักถึงการเลิกลงโทษเด้กด้วยความรุนแรงมากขึ้น” นางสาววาสนา กล่าวสรุป