ปลดล็อกไม่ต้องใส่ 'ชุดนักเรียน' ไว้ผมทรงอิสระ ส่งเอกสารถึง 437 โรงเรียน
กทม.ปลดล็อกมาโรงเรียนไม่ต้องใส่ 'ชุดนักเรียน' 1 วัน/สัปดาห์ เปิดให้ไว้ทรงผมอิสระ ส่งหนังสือหา 437 โรงเรียนห้ามดำเนินการที่กระทบต่อสิทธิเสรีทางร่างกายและจิตใจ
กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกหนังสือถึงโรงเรียนในสังกัดจำนวน 437 แห่ง เพื่ออนุญาตให้โรงเรียนกำหนดการใส่ "ชุดนักเรียน" และ ไว้ทรงผม ได้อย่างอิสระ โดยไม่กระทบสิทธิมนุษยชน และริดลอนสิทธิของนักเรียน ภายหลังจากที่กระแสสังคม เริ่มมีการตั้งคำถามถึงความเป็นจำเป็นในการแต่ง "ชุดนักเรียน" มากขึ้น
ล่าสุด กทม. จึงได้มีการออกหนังสือถึงสำนักงานเขต จำนวน 2 ฉบับ ว่าด้วยการอนุโลมให้นักเรียน สามารถไว้ทรงผมได้อย่างอิสระ และแต่งกายมาเรียนด้วยชุดอะไรก็ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยมีรายละเอียดดังนี้
แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 และ พ.ศ 2566 ประกาศ ณ วันที่ 16 ม.ค. พ.ศ. 2566 เพื่อเป็นการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน จึงให้โรงเรียนจัดทำข้อกำหนดฯ ให้นักเรียนไว้ทรงผมได้อย่างอิสระบนพื้นฐานสุขอนามัยที่ดี สะอาด ส่งเสริมบุคลิกภาพและความมั่นใจ จากนั้นให้นำไปประชาสัมพนธ์ให้ทราบเป็นการทั่วไปก่อนนำไปประกาศใช้ โดยในกรณีมีนักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ ให้โรงเรียนรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน ผู้ปกครอง เพื่อทำความเช้าใจและตกลงร่วมกัน แต่ห้ามไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจของนักเรียน เช่น การตัดผม ทำให้อับอาย ฯ
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ยังได้ออกหนังสือแนวทางการแต่งกายของนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า ตามที่ระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ข้อ 15 กำหนดว่า สถานศึกษาใดจะกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี นักศึกษาวิชาทหาร หรือแต่งชุดพื้นเมือง ชุดไทย ชุดลำลอง ชุดฝึกงาน ชุดกีฬา ชุดนาฏศิลป์ หรือชุดอื่นๆ แทนเครื่องแบบนักเรียนตามระเบียบนี้ในวันใด ให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนด โดยคำนึงความประหยัดและเหมาะสม เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง
จึงให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครจัดทำข้อกำหนดให้นักเรียนแต่งกายด้วยชุดใดก็ได้ที่ไม่เป็นการบังคับอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ โดยให้นักเรียนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนด จากนั้นให้นำไปประชาสัมพันธ์ให้ทราบเป็นการทั่วไปก่อนไปประกาศใช้โดยในกรณีที่มีนักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ ให้เป็นไปตามความประสงค์ของนักเรียนผู้นั้นที่จะสวมชุดนักเรียน ชุดพละ หรือชุดอื่นใดที่โรงเรียนกำหนดให้มีไว้อยู่แล้ว แต่ห้ามไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งให้คำนึงถึงอัตลักษณ์ความหลากหลาย ความเชื่อทางศาสนา และเพศวิถีของนักเรียน
โดยประกาศทั้ง 2 ฉบับของ กทม.นั้น ลงวันที่ 26 มิ.ย. 2566 โดยนางวัทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รักษาการแทนปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ลงนามในหนังสือดังกล่าว ทั้งนี้ในเอกสารยังระบุว่า เห็นควรมอบให้ฝ่ายการศึกษาต่อไป