
ดัน 'กองทุนบำนาญแห่งชาติ' ผู้สูงอายุต้องได้ 3,000 บาท ลดเหลื่อมล้ำ
นักวิชาการดัน 'กองทุนบำนาญแห่งชาติ' ถึงให้พรรคการเมือง จ่าย 3,000 บาทผู้สูงอายุ คุ้มครองความจนวัยเกษียณ หลังต่อสู้มา 15 ปี ถูกตีตกเวทีครม. เลือกตั้ง66 ยังมีความหวังกับรัฐบาลใหม่
ทุกๆ 1 ปีจะมี "ผู้สูงอายุ" เกษียณ 1 ล้านคน ส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม แต่พ่วงด้วยภาระหนี้สิน คำถามก็คือว่า พวกเขาจะดำรงชีพได้อย่างไรหากไม่มีลูกหลานดูแล เพราะหลายๆ คนมีลูกหลานแต่ใช่ว่าจะกลับมาดูแล การมี "กองทุนบำนาญแห่งชาติ" เป็นหลักประกันจากภาครัฐน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด
ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการได้ออกมาเปิดเผยงานวิจัย "กองทุนบำนาญแห่งชาติ" ระบบเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน เพื่อผลักดันนโยบายกองทุนบำนาญแห่งชาติสู่พรรคการเมือง ว่า วันที่ 14 พฤษภาคม ปี 2566 กำหนดให้เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จึงเป็นโอกาสดีที่ภาคประชาชนยื่นข้อเสนอต่อ "พรรคการเมือง" ซึ่งแนวความคิดนี้ผลักดันมาตลอด 15 ปี นักวิชาการศึกษาข้อมูลมากมาย และได้ข้อสรุปว่าประเทศไทยจะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ ต้องเจาะไปที่กลุ่มผู้สูงอายุ จัดให้มีบำนาญถ้วนหน้า แต่เรื่องนี้ไม่ถูกแก้ไขคล้ายกับปัญหาระบบการศึกษาที่มีจุดต้องแก้ไขมากมาย แต่ไม่สามารถแก้ได้ เป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่ว่าจะพยายามแก้ไขเท่าไรก็ไม่เคยสำเร็จสักที
" "ผู้สูงอายุ" ระดับล่างไม่มีสิทธิ์ลืมตาอ้าปาก แรงงานไม่ได้รับความเป็นธรรม ค่าแรงโตไม่ทันค่าเงินเฟ้อ ขณะที่ประเทศไทยมีคนรวยที่ติดอันดับ 50 ของโลก แต่ละปีธุรกิจของเขากำไร 6-7 เท่าตัว แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้จน การพัฒนาเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมด้วย ไม่ใช่เกิดมาจนแล้วต้องจนตลอดชีพ ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามสภาพที่เกิดมาก็คงไม่สามารถก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำได้" ดร.ทีปกร กล่าว
ดร.ทีปกร กล่าวต่อว่า นักวิชาการมีความพยายามศึกษาหาข้อมูลและต่อสู้มาตลอด 15 ปี มีงานศึกษายืนยันมากมายว่าประเทศไทยต้องผลักดันให้มี "กองทุนบำนาญแห่งชาติ" หลายครั้ง พยายามผลักดันพระราชบัญญัติผู้สูงอายุเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ไม่เคยผ่านแม้แต่ ครม. เดียว โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าเป็นภาระประเทศ เป็นการจ่ายเงินซ้ำซ้อน งบประมาณไม่เพียงพอ" ดร.ทีปกร กล่าว
คำถามที่ตามมาสำหรับรัฐบาล คือ "กองทุนบำนาญแห่งชาติ" จะหางบจากที่ไหน เพราะต้องใช้งบมหาศาล ดร.ทีปกร ตอบคำถามว่า โครงการนี้ใช้งบมหาศาลจริง แต่เมื่อมองในมุมลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องได้รับสิทธิ์ถ้วนหน้า เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับระบบบำนาญข้าราชการแล้ว ยังใช้งบไม่ถึงข้าราชการ
ตัวเลข 10 ปีที่ผ่านมามีจำนวนข้าราชการเพิ่มขึ้นสูงอย่างน่าตกใจ ทำให้เป็นภาระมหาศาล ดังนั้น การมี "กองทุนบำนาญแห่งชาติ" ให้กับประชาชน 3,000 บาทไม่ได้มากไปกว่าข้าราชการเลย และจะมีคนตั้งคำถามว่า "เปรียบเทียบได้อย่างไร" ตรงนี้ต้องเข้าใจว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะถึงยังไงไม่มีใครกล้าตัดงบประมาณบำนาญข้าราชการแน่นอน เพราะถ้าตัดถูกฟ้องแน่นอน
วันนี้เรามาถูกทางแล้วแค่จะทำอย่างไรถึงจะคุ้มครองคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน เพราะประเทศไทยเป็น 1 ในประเทศที่ประชากรแก่เร็วที่สุดในโลก จำนวน "ผู้สูงอายุ" เกษียณในแต่ละปี สูงถึง 1 ล้านคน
ช่วงวิกฤตโควิดปีแรกมีข้อมูลทางวิชาการพบ "ผู้สูงอายุ" ทางภาคใต้ถึงร้อยละ 30 พวกเขาไม่มีเงินออม แต่มีภาระหนี้สิน หมายความว่า ผู้สูงอายุเสี่ยงที่จะเป็นคนจนครึ่งประเทศ หากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาความยากจน ต้องเจาะไปที่กลุ่มผู้สูงอายุจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
นอกจากนี้ งานวิชาการยังระบุไว้ว่าถ้าหากจ่ายบำนาญคนละ 2,000 บาทจะสามารถดึงพวกเขาขึ้นมาได้ แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องเงินเฟ้อ ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลเราสามารถจ่ายบำนาญให้ "ผู้สูงอายุ" ไปได้ถึงวันละ 200 บาท หรือเดือนละ 6,000 บาท แม้ตัวเลขจะอยู่ที่ 6,000 แต่ก็ยังไม่มากกว่าข้าราชการ
โจทย์สำคัญคือต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มเติม งานวิชาการ "กองทุนบำนาญแห่งชาติ" ได้ระบุวิธีหาเงินไว้ว่า สามารถขยายฐานภาษี 1% (เป็นเงิน 8 แสนล้านบาท) ปฏิรูปงบประมาณ จัดลำดับงบประมาณว่าควรใช้จ่ายอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และถึงเวลาแล้วที่ต้องมีระบบข้อมูลประชาชนทุกคน ใครทำอะไร ที่ไหน เงินเดือนเท่าไหร่
"เรามีตัวอย่างโครงการบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่ง ณ เวลานั้นใครๆ ก็คิดว่าทำไม่ได้ เพราะใช้งบประมาณมหาศาล แต่หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง โครงการสำเร็จ ครั้งนี้หลังวิกฤตโควิด เราควรมีอะไรบางอย่างที่ผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่ออนาคตของคนไทย ฝากถึงทุก "พรรคการเมือง" ด้วยครับ" ดร.ทีปกร กล่าวทิ้งท้าย