ชีวิตดีสังคมดี

'คนเร่ร่อนไร้บ้าน' ปัญหาสังคมที่แก้ไม่หาย เกิดขึ้นซ้ำๆ เหมือนวงเวียนชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'คนเร่ร่อนไร้บ้าน' ปัญหาสังคมหน่วยงานรัฐแก้ไม่ตก ทั้งบังคับใช้กฎหมาย ส่งตัวเข้าศูนย์คนไร้ที่พึ่ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ หรือแท้จริงแล้วพวกเขาไม่ใช่ปัญหาสังคม

"คนเร่ร่อนไร้บ้าน" ตามพื้นที่สาธารณะในหัวเมืองใหญ่ กลายเป็นภาพชินตา เกิดคำถามตัวโตๆ ว่า พวกเขามาจากที่ไหน ทำไมไม่มีบ้าน แต่คำถามที่สำคัญคือ เขาจะมีพฤติกรรมทำอันตรายกับอื่นหรือไม่ ตัวอย่างเห็นชัดเจนคือ "นกน้อย ตัวตึงระยอง" สาวใหญ่กับกระติกน้ำใบโตที่ใช้เป็นกลอง พร้อมไม้เล็ก 2 กิ่ง ใช้ตีกลอง ร้องเพลงไปรอบๆ ตามจุดท่องเที่ยวจังหวัดระยอง 

อดีตคนไร้บ้านที่ประชาชนรู้จักในชื่อ "ตัวตึงระยอง" ออกรับงานสร้างความบันเทิงหลังจากได้รับความช่วยเหลือจาก พม. โดยเธอฝากขอบคุณที่ให้โอกาสกลับคืนสู่สังคม

 

แต่หลังจากมีกระแสว่า เธอคลุ้มคลั่งตอนขอเงินคนอื่นไม่ได้ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดระยอง (พม.ระยอง) เข้าให้การช่วยเหลือ เจรจาส่งรักษาอาการทางจิตเวช ทุกวันนี้เธอหายเป็นปกติ เพราะกินยาครบและต่อเนื่อง สามารถรับงานสร้างความบันเทิงในนาม ตัวตึงระยอง เช่นเคย 

ทว่ายังมี  "คนเร่ร่อนไร้บ้าน"  อีกหลายคนที่การช่วยเหลือยังเข้าไม่ถึง ทั่วประเทศมีราวๆ 4,000 คน เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) 1,761 คน ตัวเลขเหล่านี้มีนัยสำคัญคือเป็นคนเร่ร่อนหน้าใหม่ที่มาในช่วงไวรัสโควิด19 ระบาด มีปัจจัยการว่างงาน การหางานยากขึ้นหรือไม่

 

  พม. ลงพื้นที่ค้นหาคนเร่ร่อนเพื่อรับการช่วยเหลือ

 

งานวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย กระทบการว่างงาน การหางานได้ยากขึ้นถึงร้อยละ 36.38  

 

แรงงานที่ประสบปัญหาหางานได้ยากขึ้นจากสถานการณ์โควิด19 ร้อยละ 47.01 ไม่สามารถประเมินได้ว่าโอกาสในการหางานที่ยากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงสถานการณ์ก่อนโควิด19 คือเท่าไร ร้อยละ 13.68, 10.26 และ 9.40 สามารถประเมินได้ว่าโอกาสในการหางานที่ยากขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด19 นั้นเพิ่มขึ้น 50 %, 70 % และ 80 % เมื่อเทียบกับสถานการณ์ก่อนโควิด19 ตามลำดับ ส่วนที่เหลือตัวเลขมีการกระจายตัวแต่ไม่มีสัดส่วนที่โดดเด่นขึ้นมาอย่างชัดเจน สาขางานที่ได้รับผลกระทบที่สุด คือ บริการพักแรม ร้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ 

 

ช่วยเหลือคนเร่ร่อนให้เข้ารับการรักษาจากอาการป่วย

 

นอกจากผลกระทบเรื่องอาชีพแล้ว ยังมีผลจากการศึกษาของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุอีกว่า การเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ของ "คนเร่ร่อนไร้บ้าน" เป็นเวลานาน เสี่ยงทำให้มีปัญหาทางสุขภาพกายและจิตใจสูงขึ้น จากการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ และโควิด-19 ทำให้คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ สูงขึ้นกว่าร้อยละ 30 จากคนไร้บ้าน 1,307 คน เพิ่มเป็น 1,700 –1,800 คน ขณะที่คนไร้บ้านทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 4,000 คน

 

 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)

 

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) บอกว่า "คนเร่ร่อนไร้บ้าน" หรือ คนจนเมือง ร้อยละ 95 เป็นคนหน้าใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด19 กทม. พยายามเข้าถึงเพื่อช่วยเหลือเรื่องอาหาร ที่พักอาศัย การจ้างงาน แต่คนจนเมืองหลายคนไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือ เพราะชอบความเป็นอิสระ ที่ผ่านมา กทม. มีโครงการที่ร่วมกับ สสส. คือ ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง เข้าใจว่าเงินรายวันอาจไม่เพียงพอถ้าหากต้องจ่ายค่าเช่าห้องอีก กทม. จึงเดินหน้ารื้อ โครงการบ้านอิ่มใจ ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้คนจนเมืองมีที่พักอาศัยในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก่อนหาที่พักของตัวเองได้ ซึ่งเสร็จภายในปีงบประมาณ 2567

 


"คนจนเมืองไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือทุกคน ไม่ได้เป็นปัญหาทุกคน ป่วยทางจิตน้อยมาก บางคนต้องการพื้นที่ความสบายใจ เพราะเราต่างไม่รู้ว่าพวกเขาต้องเจอมรสุมชีวิตอะไรมาบ้างถึงมาอยู่จุดนี้ สิ่งที่เราทำได้คือช้อนพวกเขาขึ้นมาให้ได้มากที่สุด แต่การรับความช่วยเหลือต้องเป็นไปด้วยสมัครใจ ไม่บังคับ พวกเขาไม่ได้เรียกร้องอะไรมากมาย หลักๆ แค่มีงานทำ" นายศานนท์ กล่าว

 

นายธนิต ตันบัวคลี่ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กล่าวถึงความคืบหน้า   โครงการบ้านอิ่มใจ ว่า กทม.ใช้พื้นที่และอาคารเดิมที่ตั้งอยู่สะพานเฉลิมวันชาติ (สะพานวันชาติ) เป็นอาคาร 3 ชั้น ใช้เก็บเอกสารของสำนักงานเลขานุการปลัดกรุงเทพฯ ขณะนี้สถาปนิกกำลังออกแบบให้สามารถรองรับคนจนเมืองประมาณ 100 คน ชั้นแรกเป็นจุดแรกรับและคัดกรอง ชั้น 2 และ 3 เป็นห้องพัก และชั้นดาดฟ้าไว้สำหรับทำกิจกรรม ตามแผนเริ่มลงมือปรับปรุงได้ในเดือนกันยายนนี้

 

นายนายธนิต บอกอีกว่า เดือนเมษายนที่จะถึงนี้ กทม. จะเปิดห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ และลานกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์จากบุญถาวร ผ่านมูลนิธิกระจกเงา บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าให้สำหรับคนจนเมือง

 

พม. ลงพื้นที่สำรวจเพื่อให้เข้าถึงความช่วยเหลือ

 

การก้าวพ้นสังคมไทยไร้คนเร่ร่อนคงเป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุผลคนจนเมืองเอง หรือด้วยเหตุผลทางสังคม ที่สุดแล้วหน่วยงานรัฐมีบทบาทช่วยเหลือประชาชนตามที่เข้าถึงได้ เพราะคนจนเมืองอาจแก้ด้วยกฎหมายไม่ได้ ทว่าแก้ด้วยคุณธรรม จริยธรรมอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด 
 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ