ชีวิตดีสังคมดี

'เกษตรกร' 'แรงงาน' ถูกกดทับ ปม ‘เศรษฐกิจไทย’ ทำไมติดหล่ม

'เกษตรกร' 'แรงงาน' ถูกกดทับ ปม ‘เศรษฐกิจไทย’ ทำไมติดหล่ม

20 มี.ค. 2566

ครอบครัว 'เกษตรกร' - 'แรงงาน' ถูกกดทับ ปม ‘เศรษฐกิจไทย’ ทำไมติดหล่ม แนะรัฐแบ่งปันโอกาส เกิดตลาดแบ่งปัน ให้คนตัวเล็กตัวน้อยเข้าถึงข้อมูล เพื่อมีอาชีพ พึ่งพาตัวเองแบบยั่งยืน

สถานการณ์ครอบครัวไทยปี 2566 ส่วนมากมีสถานะครอบครัวเดียว หรือ ครอบครัวมีขนาดเล็กลง บนความหลากหลายทางเพศในพหุสังคม ขณะเดียวกันอัตราเด็กเกิดน้อยลง แต่จำนวนผู้สูงวัยเพิ่มและอายุยืน กลับมีปัญหาเรื่องรายได้และเงินออม บ้านเมืองมีความหวังจากพลังคนรุ่นใหม่ต่อการขับเคลื่อนสังคมไทยและเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่ อย่างไร

 

 

 

"คมชัดลึก" ชวนผู้อ่านหาคำตอบเหล่านี้ จาก "รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ" คณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่าสถานการณ์ครอบครัวไทย มีทั้งครอบครัวใหญ่ ครอบครัวเดี่ยว ช่วงปี 2565 และ ปี 2566 ครอบครัวภาคเกษตรและครอบครัวภาคแรงงาน อยู่ในภาวะยากลำบากมากๆ ยกตัวอย่างทุกวันนี้ ผู้สูงอายุจำนวนมากอยู่ต่างจังหวัด ผู้สูงวัยเหล่านั้นดำรงชีพได้อย่างไร

 

เกษตรกร-แรงงานลำบาก ผู้สูงวัยพึ่งพาลูกหลาน

คำตอบ ก็คือผู้สูงวัยที่ยังร่างกายแข็งแรงดี อาจเป็นเกษตรกร แต่ไม่ใช่ทุกคน เมื่ออายุ 70 ปีผู้สูงวัยเขาเอาเงินที่ไหนมาดำรงชีพ คำตอบก็คือลูกหลานที่มาทำงานที่โรงงาน ในกรุงเทพฯ ในเมืองใหญ่ จะเห็นชัดว่าครอบครัวเกษตรกร จำนวนมากพึ่งพาลูกหลาน โยงมาครอบครัวแรงงาน ต้องเลี้ยงภรรยา เลี้ยงลูก รายได้ไม่พอ ทำงาน 8-12 ชม. ต่อวัน เมื่อเกิดวิกฤติโควิด19 ถูกลดชั่วโมงการทำงาน บางคนถูกเลิกจ้าง ถูกปลดออก 

 

"การปลดคนงานออก ไม่เดือดร้อนเฉพาะคนงาน หรือ แรงงาน แต่เดือดร้อนคนแก่ ครอบครัวเกษตรกรลำบากมาก ภาคเกษตรไม่ได้ดี ข้าวเคยส่งออกอันอันดับหนึ่ง แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว 

 

ยางพาราอีก 2 ปี จะมีปัญหาเพราะว่าเราพึ่งพาจีนมากเกินไป แต่ทุนจีนเขาพึ่งพาตัวเอง ยางพาราจีนเขาเหมาสวนยางพาราภาคใต้ของจีน จีนยังเหมาสวนพม่า ลาว เขมร จีนจะผลิตยางพาราได้มากที่สุดและปลูกได้หลายประเทศ

 

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

แรงงาน ไม่พร้อมมีลูก

ครัวเรือนไทยมีหนี้สะสมไม่พอกิน หนี้ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ90 ของจีดีพี เงินใช้จ่ายน้อยลง สภาพครอบครัวไทย ครอบครัวแรงานจะเล็กลง เพราะคนงานไม่สามารถกู้เงินได้ แรงงานมีลูกมากไม่ได้ ชีวิตคนงานที่มีครอบครัวลูกอยู่ด้วยกัน 6 โมงเช้า พ่อแม่ไปทาง ลูก 3-4 ขวบไปเรียนอนุบาล พ่อแม่กลับบ้าน 2-3 ทุ่ม ปัญหาเต็มไปหมด

 

รัฐบาลไม่สนใจ แรงงานกลุ่มนี้ไม่พร้อมมีลูก ไม่พร้อมดูแลลูก เมื่อมีลูกส่งให้พ่อแม่เลี้ยง เพราะแรงงานยังเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งแรงงาน การเพิ่มรายได้คนงานไม่เพียงช่วยคนงาน แต่หมายถึงคนงานหนึ่งคนต้องเลี้ยงคน 3 วัย มี ตัวเอง พ่อแม่ ลููก 

 

ไทยมีครัวเรือนผู้ใช้แรงงานมากที่สุด

ไทยมีครัวเรือนผู้ใช้แรงงานมากที่สุด รองลงมาคือเกษตรกร ถ้า 2 กลุ่มนี้มีรายได้ลดลง กำลังซื้อในประเทศไทยก็ไม่มี ก็ลากเศรษฐกิจไม่ได้ จีดีพีร้อยละ 50 มาจากการใช้จ่ายของครัวเรือน การลงทุนดี แต่ถามว่าการลากจูงเศรษฐกิจคือการใช้จ่ายของครัวเรือน ต้องมีรายได้ ขายของไม่ได้ ธุรกิจก็ไปไม่ได้ การแจกเงินเพื่อให้คนมีเงินจับจ่ายซื้อของก็คือธุรกิจ ถ้าไม่แจกกำลังซื้อลดขายไม่ออก การเพิ่มรายได้ของครัวเรือนมีความจำเป็นมาก แต่รัฐไม่คิดตามหลักเศรษฐศาสตร์ ครัวเรือนรายได้ไม่เพิ่ม กำลังซื้อไม่มี จีดีพีไม่เพิ่ม ต้องเพิ่มกำลังซื้อ จะเพิ่มอย่างไร รัฐเอาเงินมาแจกตอนนี้หนี้ทะลุร้อยละ 70

 

ความจริงเศรษฐกิจครัวเรือสำคัญที่สุด แต่รัฐมองไม่เห็นความสำคัญของครัวเรือน แต่จีดีพีที่ใหญ่ของประเทศไทยมี 4 ตัวแปรได้แก่

  1. ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน 
  2. ลงทุนธุรกิจ 
  3. รายจ่ายจากรัฐบาล หรือ งบประมาณ
  4. การค้าระหว่างประเทศ

 

ทั้ง 4 ตัวแปรนี้ ใหญ่ที่สุดคือค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สร้างจีดีพีได้ร้อยละ 50 แต่อีก 3 ตัวร้อยละ 50 ตัวธุรกิจสร้างไม่เกิน ร้อยละ 23 เมื่อพูดเรื่องเศรษฐกิจก็เป็นการลงทุน เรากลายเป็นประเทศติดกับดักรายได้ปานกลาง 

 

ทางออก เมื่อผู้สูงวัยมีจำนวนมาก คนวัยทำงาน หรือ หนุ่มสาวลดลง หากจับครัวเรือนสำคัญที่สุด สร้างจีดีพี เราอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยม ระบบตลาด สิ่งที่ดีที่สุด คิดการแบ่งปันตลาด เราต้องทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยมีอาชีพมีรายได้ เข้าถึงข้อมูล เพื่อนำไปสู่การสร้างอาชีพ เกิดการพึงพาตัวเองได้ แต่ที่ผ่านมารัฐพึ่งไม่ได้ 

 

เพราะรัฐถูก 3 กลุ่มนี้คนครอบงำ ได้แก่

  1. ภาคธุรกิจ 
  2. ระบบราชการ ครอบงำอำนาจมายาวนาน 
  3. ประชาชนรัฐไม่ได้มองเป็นพลังทางเศรษฐกิจที่สำคัฐ

 

เศรษฐกิจฐานราก อยู่ที่ครอบครัวแรงงาน และ ครอบครัวเกษตรกร ที่เปรียบเหมือนรากแก้ว หรือ รากเหง้าของต้นไม้ ต้นไม้คือประเทศ หากครอบครัวแรงงาน ครอบครัวเกษตรกร รัฐไม่บำรุงคนส่วนใหญ่ จะเอาอาหารมาเลี้ยงลำต้นให้พอเพียงได้อย่างไร

 

“รัฐต้องเปิดช่องให้คนตัวเล็กสามารถแข่งขันได้ ให้เขามีรายได้เพิ่ม รัฐต้องแบ่งปันโอกาส เกิดตลาดแบ่งปัน และตลาดที่ดีที่สุด ให้คนฐานรากเข้าถึงตลาดมากขึ้น แสวงหาอาชีพ ได้มีความรู้ มีข้อมูลมากขึ้น”

 

ตลาดแบ่งปัน เป็นอย่างไร

  1. เศรษฐกิจริมถนน ควรเปิดช่องให้คนตัวเล็กให้เขาได้ทำมาหากิน
  2. เศรษฐกิจทะเล ให้ประมงรายย่อยทำมาหากิน
  3. เศรษฐกิจต่างประเทศ เป็นระดับรัฐบาล หรือ รัฐต่อรัฐ 

 

แต่เราปล่อยให้ปลาตัวใหญ่กินเรียบ ปัจจุบัน แม่ค้า พ่อค้า ขายไข่ปิ้ง ลูกชิ้นปิ้ง ข้าวราดแกง ร้านสะดวกซื้อกวาดไปหมด คนตัวเล็กตัวน้อยไม่รู้จะทำมาหากินอะไร ชาวบ้านจะหากินอะไรเพื่อยังชีพ

 

ข้าวสารควรอยู่ในมือชาวนา

เกษตรกรทำนาปลูกข้าว เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ทำไมปล่อยให้ชาวนาขายข้าวให้โรงสีในราคาต่ำ ส่วนชาวนาเมื่อขายข้าวเปลือกแล้ว ต้องซื้อข้าวสารกินจากห้างสรรพสินค้าในราคาสูงกว่าขายข้าวเปลือกหลายเท่าตัว

 

กลไกตลาด ให้ชาวนารู้จักตลาดง่ายๆ มียุ้งฉางใส่ข้าวเปลือก รัฐอาจจะแจกเงิน 1 ล้านบาท ทำไมไม่แจกเครื่องหว่าน เครื่องไถ ถ้าชาวนาไม่ขายข้าวเปลือกให้โรงสี ข้าวเปลือกจะหายไปจากตลาดทันทีร้อยละ 20 เมื่อชาวนากินข้าวตัวเอง ราคาข้าวก็ขึ้นเอง

 

ทำไมผู้กำหนดนโยบายไม่แบ่งปันตลาดให้ชาวนา ทำไมชาวนาต้องนำข้าวเปลือกไปขายโรงสี ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐไม่คิดถึงการแบ่งปันตลาดให้ข้าวสารอยู่ในมือชาวนา

 

การแบ่งปันโอกาส และ การแบ่งปันตลาด ในการจัดสรรรายได้กลับมาสู่เศรษฐกิจฐานรากนั้น ไม่ใช่รัฐเอาเงินมาแจก เป็นเงินที่กู้มาไม่มีความยั่งยืน หนี้รัฐบาลร้อยละ70 เพราะอยู่ใต้อำนาจนักธุรกิจและข้าราชการ

 

"ความจริงทุกพรรคการเมืองพูดในเรื่องนี้ แต่ไม่ทำ ที่ไม่ทำเพราะขัดผลประโยชน์ ถ้านายทุนพรรคเป็นเจ้าของโรงสีและระดมเงินมาให้พรรค ก็เป็นแบบนี้ ทางแก้ไขมีแต่ไม่ทำเพราะเสียประโยชน์”

 

พลังคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนสังคมไทย

อย่าลืมว่า พลังคนรุ่นใหม่จะขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ชีวิตดี สังคมดี แต่ยังมองไม่เห็นว่ามีพรรคการเมืองไหนมีนโยบายเพิ่มจำนวนประชากรไทย เช่น

  • ให้ลาคลอดได้ 1 ปี 
  • ให้เงินดูแลบุตร
  • แม่ได้รับเงินเดือนมีเวลาดูแลบุตร

 

นำเข้าแรงงานต่างด้าวมากไป

ไทยพึ่งพานำเข้าแรงงานต่างด้าว จากประเทศ เขมร พม่า ลาว แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ส่งเงินกลับบ้าน เราก็ได้ประโยชน์ แต่ไทยพึ่งเขามากเกินไป เงินไหลออกมากขึ้น

 

ยกตัวอย่าง แรงงานพม่ารายได้หลักมาจากประเทศไทยมาก เช่นเดียวกับไทยเราพึ่งจีน เยาวชนเขาไม่รับเงินไทยแต่รับเงินหยวน และจ่ายผ่านแอป เราไม่ได้มองในเรื่องนี้เลย

 

คนรุ่นใหม่ ลดลงต่อเนื่อง

อนาคตคนรุ่นใหม่ จะลดลงเรื่อยๆ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายมันจะเติบโตได้ก็ต่อเมื่อเกิดเซลล์ใหม่มาไล่เซลล์เก่า มาถึงจุดหนึ่งเซลล์ใหม่ไม่เกิด เราก็ตาย เปรียบเซลล์ใหม่ต้องเกิดขึ้นทดแทนเซลล์เก่า สังคมใดไม่มีทดแทนคนรุ่นเก่า สังคมและประเทศชาติไปไม่ได้ เราต้องพึ่งคนรุ่นใหม่ เราจะทำอย่างไร ให้คนรุ่นใหม่เข้าใจอะไรให้ลึกซึ้งไม่ฉาบฉวย คนรุ่นใหม่เขาคือผู้ที่จะสร้างอนาคต เราจะทำอย่างไรให้เขามีความคิดละเอียดมากขึ้น รอบคอบ รอบด้าน หนักแน่นมากกว่านี้ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม เราต้องหล่อหลอมเขาอย่างไร

 

แต่ปัจจุบันคนรุ่นเก่าบางกลุ่ม ต่อต้านคนรุ่นใหม่มากเกินไป ถ้าคนรุ่นเก่าต้องการทำลายคนรุ่นใหม่ แบบนี้สังคมตาย สังคมจะไปได้อย่างไร ก็ตายตามคนเก่าไปเท่านั้น

 

3 ทางรอด สร้างสังคมดี มีความสุข

1.ระบบเศรษฐกิจแบ่งกันโอกาส แบ่งปันตลาด เปิดโอกาสให้คนตัวเล็กตัวน้อย หรือ ประชาชนฐานรากมีตลาดของตัวเองมีรายได้หล่อเลี้ยงคนในครอบครัว สังคม ชุมชน เศรษฐกิจฐานรากนี้ จะลากจูงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้หลุดพ้นจากติดหล่มให้ฟื้นฟูกลับมาอย่างยั่งยืน

 

2.คนฐานรากที่กล่าว มี 2 กลุ่มใหญ่ คือ แรงงานและเกษตรกร การทำให้รายได้แรงงานเพิ่ม มันคือการเพิ่มพลังลากจูงเศรษฐกิจไทย

 

3.สังคมที่เปรียบเหมือนสิ่งมีชีวิต จะเติบโตได้ต้องมีเซลใหม่มาทนแทนเซลล์เก่า คนรุ่นใหม่มาแทนคนรุ่นเก่า ถ้าเราทำลายคนรุ่นใหม่ ในที่สุดก็ไปต่อไม่ได้

 

...กมลทิพย์  ใบเงิน...เรียบเรียง