ชีวิตดีสังคมดี

'PM2.5' รุนแรงจัด ยิ่งแก้ล่าช้า มาตรการไม่ยั่งยืน ยิ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปัญหา 'PM2.5' ฤดูแล้งนี้รุนแรงสุดขีด ยิ่งแก้ล่าช้า มาตรการไม่ยั่งยืน ยิ่งรุกลามกระทบถึงเศรษฐกิจ กรุงเทพฯเจอหนักแล้ว คิวต่อไปภาคเหนือ อีสานเตรียมรับมือ

รศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ให้สัมภาษณ์กับคมชัด ลึก ถึงความเสียหาย และผลกระทบในมุมเศรษฐศาสตร์ และการลงทุนในการแก้ปัญหาฝุ่น "PM2.5" ว่า ปีนี้ฝุ่น "PM2.5" มาช้ากว่าปกติ เนื่องจากเกิดฝนตกในช่วง ต.ค.  เกษตรไร่อ้อยเปิดหีบอ้อยช้าลง แต่นับจากนี้สถานการณ์ จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น  ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่เข้า ที่มีผลทำให้ความร้อนเพิ่มมากยิ่งขึ้น และนับตั้งแต่เดือน ก.พ.-เม.ย. เป็นต้นไปประเทศไทยจะไม่เจอกับฝนเลย สถานการณ์เช่นนี้จะยิ่งทำให้เกิดเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าได้มากยิ่งขึ้น ประกอบกับเกษตรกรจะเริ่มเผาเพื่อเตรียมแปลงเกษตรมากขึ้น สำหรับปัญหาฝุ่น "PM2.5" ในช่วงระยะนี้เราจะเห็นได้ว่าพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก  แต่ตั้งแต่ก.พ. 2567 เป็นต้นไปปัญหาดังกล่าวจะเริ่มกระทบในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน หากภาครัฐยังไม่เอาจริงเอาจังแก้ไขปัญหาฝุ่น "PM2.5" ที่ต้นตอ ทั้งจากระบบขนส่ง รถยนต์ ภาคโรงงานอุตสาหกรรม มาตรการที่ยั่งยืนที่จะต้องทำกับเกษตรกรมากกว่ามาตรการการจ่ายเงิน เราจะต้องเผชิญกับภาวะ "PM2.5" ที่รุนแรงต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น 

รศ.ดร.วิษณุ อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีมาตรการดูแลปัญหา "PM2.5" ที่มีความยั่งยืนมากพอ โดยเฉพาะการควบคุมมาตรฐานรถยนต์จา Euro 4 เป็น  Euro 5 ที่มีการเลื่อนประกาศบังคับใช้มาแล้วหลายครั้ง จนล่าสุดที่จะประกาศใช้ในวันที่ 1 ม.ค 2567 ดังนั้นจะต้องติดตามว่า หากมีการควบคุมรถยนต์มาตรการ  Euro 5 ทั้งหมดแล้วจะช่วยลดฝุ่นละอองขนาดเล็กได้มากน้อยเพียงแนวทางดังกล่าวจะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงจะต้องมีความพร้อมด้วย รวมไปถึงความเข้มงวดในการตรวจวัดการปล่อยมลพิษของโรงงานขนาดเล็ก และขนาดกลาง ที่ขณะนี้ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน 

ส่วนประเด็นที่กำลังเป็นกระแสวิจารณ์ว่าการทำงานแก้ไขปัญหา "PM2.5" ของรัฐบาลชุดนี้ไม่มีความแตกต่างจากรัฐบาลในยุคที่ผ่านมา รศ.ดร. วิษณุ ได้แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นดังกล่าวว่า การทำงานแก้ปัญหาฝุ่นของรัฐบาลชุดก่อนนั้นเริ่มส่งไม้ต่อมาให้รัฐบาลชุดใหม่ในช่วงปลายแล้ว สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนคือ การผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมมาธิการ ในสภา แต่ก็ยังไม่มีกำหนดที่แน่นอนว่าจะดำเนินการเสร็จเมื่อไหร่ และจะประกาศใช้ได้ทันช่วงววิกฤตฝุ่น "PM2.5" หรือไม่  ส่วนมาตรการแรงจูงใจอื่นๆ เช่น มาตรการตัดอ้อย 120 บาทต่อตัน ที่สนับสนุนให้เกษตรหันมาตัดอ้อยสด แทนการเผา เป็นมาตรการที่ไม่มีความยั่งยืน อย่าลืมว่าเรายังไมีการเผาจากภาคเกษตรกรรมอื่นๆ อีกไม่ว่าจะเป็นนาข้าว และข้าวพดเลี้ยงสัตว์ที่มีสัดส่วนมากถึง 62% มากกว่าอ้อยที่มีสัดส่วนเพียง 10% เท่านั้นดังนั้นมาตรการที่ดำเนินการยังไม่ถือว่าจัดการแหล่งกำเนิดฝุ่นได้อย่างแท้จริง  เพราะปัญหาฝุ่นควัน มลพิษมาจากการเผานาข้าว และไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากกว่า ดังนั้นนโยบายด้านการเกษตรเรายังไม่เห็นแนวทางที่จะทำควบคุมได้อย่างยั่งยืน  สรุปคือ มาตรการของรัฐบาลชุดนี้ดีขึ้นแต่ยังไม่มากพอ ดำเนินการล่าช้า และไม่ยั่งยืนมากเท่าที่ควรจะทำ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงว่าไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด 

 

 

สถานการณ์ฝุ่น "PM2.5" ที่รุนแรงมากขึ้นเพราะความร้อนและแล้งที่เพิ่มขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ขณะที่การออกมาตรการของภาครัฐที่ล่าช้าไม่ได้กระทบเฉพาะสุขภาพของประชาชนเท่านั้น แต่จากผลงานวิจัยของ รศ.ดร.วิษณุ เกี่ยวกับมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ จากฝุ่น PM 2.5 ในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่มีสถานการณฝุ่นใกล้เคียงกับปี 2566 พบว่า มูลค่าความเสียหายจากฝุ่น PM2.5 ต่อครัวเรือนไทยอยู่ที่ 2.173 ล้านล้านบาท  เฉพาะกรุงเทพฯ มูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 436,330 ล้านบาท/ปี  ชลบุรี 80,119 ล้านบาท/ปี  นครราชสีมา 70,784  ล้านบาท/ปี  เชียงใหม่ 70,356 ล้านบาท/ปี และขอนแก่น 53,466 ล้านบาท/ปี  โดยในปี 2566 คาดว่ามูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ จากฝุ่น PM 2.5 จะสูงกว่าปี 2562 เนื่องจากค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ในครึ่งแรกของปี 2566 ซึ่งมีค่าประมาณ 35.11 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงกว่าครึ่งแรกของปี 2562 ซึ่งมีค่าประมาณ 31.47 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ขณะที่ครึ่งหลังของปี 2566 ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 น่าจะต่างกันไม่มากนักกับปี 2562 

 

 

"แน่นอนว่าปัญหาฝุ่น PM2.5ไม่ได้สร้างความเสียหายแค่นี้ เพราะปัญหาฝุ่นพิษทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสไปจำนวนมากเพราะฝุ่น PM2.5 กระทบไปทั้งระบบตั้งแต่ท่องเที่ยว กระทบเศรษฐกิจ กระทบสุขภาพ ยิ่งรัฐาบาลงทุนแก้ปัญหาน้อยและล่าช้ามากเท่าไหร่โอกาสที่จะได้รับผลกระทบก็จะยิ่งมีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว" รศ.ดร.วิษณุ กล่าวทิ้งท้าย  
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ