ชีวิตดีสังคมดี

ทดลองนวัตกรรมลดฝุ่น 'PM2.5'คืนอากาศบริสุทธิ์ได้มากกว่า 60,000 ลบ.ม./ชม.

ทดลองนวัตกรรมลดฝุ่น 'PM2.5'คืนอากาศบริสุทธิ์ได้มากกว่า 60,000 ลบ.ม./ชม.

30 พ.ย. 2566

ทดลองติดตั้งสวนนันทนาการแบบกึ่งเปิดนวัตกรรมลดฝุ่น 'PM2.5'คืนอากาศบริสทุธิ์ได้มากกว่า 60,000 ลบ.ม./ชม. สกัดฝุ่นไม่ให้ย้อนกลับเข้าระบบคืนพื้นที่ทำกิจกรรมนอกบ้านให้ประชาชน

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  เปิดตัว "ต้นแบบสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่" หรือ “MagikFresh” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก "PM2.5" ด้วยการออกแบบโครงสร้างกึ่งเปิดขนาดย่อมบนพื้นที่ 100 ตารางเมตร พร้อมติดตั้งเครื่องกรองฝุ่น "PM2.5" เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ทำกิจกรรมนันทนาการและพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งภายในจะมีอากาศสะอาดและช่วยลดฝุ่น "PM2.5" จากภายนอกได้ โดยความร่วมมือกับสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ที่ได้ให้การสนับสนุนพื้นที่บริเวณอุทยานสวนจตุจักร เพื่อติดตั้งและทดสอบการใช้งาน ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างกรุงเทพมหานคร และ สวทช. 

 

สวนนันทนาการแบบกึ่งเปิดที่สวนจตุจักร
 

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ดำเนินโครงการภายใต้ แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ และได้รับการพิจารณาเป็นโครงการสำคัญปี 2566 ภายใต้ชื่อโครงการนวัตกรรมสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่ โดยมี ดร.พรอนงค์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นหัวหน้าโครงการ  เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยสร้างสรรค์พื้นที่สวนสำหรับการทำกิจกรรมนันทนาการและพักผ่อนหย่อนใจ ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก "PM2.5" โดย สวทช. ได้คิดค้นรูปแบบโครงสร้างที่สามารถควบคุมการไหลเวียนของอากาศภายในพื้นที่กึ่งปิดกึ่งเปิดโดยฝุ่น "PM2.5" จากภายนอกไม่สามารถเข้ามาได้ ร่วมกับนวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการกรอง ฝุ่นPM2.5 เพื่อสร้างพื้นที่อากาศสะอาดให้หายใจได้เต็มปอดโดยไม่ต้องกังวลต่อมลพิษ ฝุ่นPM2.5 ซึ่งโครงสร้างได้ถูกออกแบบให้สามารถถอดประกอบเพื่อการขนย้ายไปติดตั้งใช้งานในสถานที่ต่าง ๆ ที่ประสบปัญหา ฝุ่นPM2.5 ได้  ส่วนนันทนาการแบบกึ่งเปิดจะตั้งไว้ที่สวนจตุจักร ระหว่างเดือน พ.ย. 2566 - พ.ค. 2567 เป็นระยะเวลา 7 เดือน 

 

 

สวนนันทนาการแบบกึ่งเปิดที่สวนจตุจักร

รายละเอียดการทำงาน และจุดเด่นของสวนนันทนาการแบบกึ่งปิด

นวัตกรรรมประกอบไปด้วย ส่วนโครงสร้างที่มีลักษณะเฉพาะ คือ มีพื้นที่เปิดโล่งด้านบน ที่อากาศสามารถไหลเวียนออกสู่ภายนอก โดยที่ฝุ่น  "PM2.5" จากภายนอกไม่สามารถย้อนกลับเข้ามาได้ ภายในมีเครื่องกรองอากาศที่สามารถสร้างอากาศบริสุทธิ์ได้มากถึง 60,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/ ชม. ทำให้มีการไหลเวียนของอากาศภายในโครงสร้างไม่ต่ำกว่า10 รอบ/ชม. และช่วยให้ฝุ่น  "PM2.5" ภายในโครงสร้างมีค่าต่ำกว่า 25 ไมโครกรัม/ลบ.ม. 

 

สร้างสวนนันทนาการแบบกึ่งเปิด

 

ทั้งนี้นวัตกรรมดังกล่าวได้รับความคุ้มครองทรัพสินย์ทางปัญญา เป็นการนำเสนอนวัตกรรมเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่ประชาชนไม่สามารถทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้งได้ในช่วงที่มีปัญหา "PM2.5" สูงเกินค่ามาตรฐาน นวัตกรรมสวนนันทนาการเป็นนวัตกรรมต้นแบบเหมาะหรับพื้นที่เปิดโล่ง เช่น สวนสาธารณะ ลานกีฬา โดยสามารถเคลื่อนย้ายไปติดตั้งในที่ต่างๆ ที่กำลังเผชิญกับ  "PM2.5"  ได้ 

 

ทดลองนวัตกรรมลดฝุ่น \'PM2.5\'คืนอากาศบริสุทธิ์ได้มากกว่า 60,000 ลบ.ม./ชม.

 

ที่ผ่านมา สวทช. ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาของฝุ่น "PM2.5" มาโดยตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่องโดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

1.ด้านการรับมือที่ต้นตอของปัญหา มีการวิจัยพัฒนาเชื้อเพลิงการเผาไหม้ โดยการพัฒนาคุณภาพของสูตรน้ำมันเชื้อเพลิงไบโอดีเซล B10 และเพิ่มคุณภาพน้ำมันดีเซลด้วยกระบวนการ Hydrotreating ทั้งสองเชื้อเพลิงเป็นการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ

2. ด้านการตรวจวัดและระบบสารสนเทศ มีการวิจัยพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดค่า PM 2.5 ด้วยเทคนิค Quartz Crystal Microbalance (QCM) ที่มีความแม่นยำสูง และการใช้ Supercomputer เพื่อคาดการณ์ระดับ PM2.5 ล่วงหน้า

3. ด้านการป้องกัน มีการวิจัยพัฒนาหน้ากากอนามัย nMask : Non-biological Mask ที่ได้ผ่านการทดสอบจากองค์กรมาตรฐานสากล (Nelson laboratory USA) ซึ่งสามารถกรองเชื้อไวรัส แบคทีเรีย จุลินทรีย์ คาร์บอนมอนนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน รวมทั้ง PM2.5 และการวิจัยพัฒนาเครื่องกรองฝุ่นละอองและกำจัดเชื้อโรคในอากาศ หรือเรียกว่า IonFresh+ ซึ่งเป็นผลงานของทีมวิจัยเดียวกันกับที่พัฒนาสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่นี้ ซึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีการกรองฝุ่น "PM2.5" นี้ ยังสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศในระยะยาวและเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”