ชีวิตดีสังคมดี

'แร่โพแทช' ขุมทรัพย์ใต้แผ่นดินอีสาน ช่วยลดต้นทุนปุ๋ยแพง หรือกระทบระยะยาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'แร่โพแทช' ขุมทรัพย์มหาศาลใต้แผ่นดินอีสาน จะช่วยไทยลดต้นทุนปุ๋ย หรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อมในระยะยาว หลังนายกฯ เร่งรัดให้เปิด เหมืองแร่โพแทช ให้สำเร็จ

"แร่โพแทช" ได้รับความสนใจอีกครั้งหลังจากที่ นายเศษรฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้พูดถึงการเร่งรัดให้เปิดเหมืองแร่โพแทช ที่จ.อดุรธานี โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดเรื่องโครงการเหมือง "แร่โพแทช" ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลังจากโครงการมีความล่าช้า นอกจากนี้นายกฯ ยังให้เหตุผลถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีเหมืองแร่โพแทช เพราะ "แร่โพแทช" เป็นสารตั้งต้นในการทำปุ๋ย หากประเทศไทยสามารถมีแร่โพแทชเอง จะทำให้ราคาปุ๋ยในท้องตลาดถูกลง ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายแก่เกษตรลงด้วย เพราะปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยปีละประมาณ 4 ล้านตัน โดยประเทศที่ส่งออกปุ๋ยจากโพแทชมากที่สุด คือ ประเทศแคนนาดา  
 

สำหรับประเทศไทยมีแหล่ง "แร่โพแทช" ชั้นดี อยู่บริเวณพื้นที่ภาคอีสาน โดยที่ผ่านมามีข้อมูลว่าแหล่ง "แร่โพแทช" ใต้ชั้นดินในพื้นที่ภาคอีสานมีมากกว่า 4 แสนล้านตันนับว่าเป็นแหล่งแร่ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย สำหรับแหล่งแร่โพแทชมี 2 แอ่งที่สำคัญและมีแร่โพแทชจำนวนมากได้แก่ 2 แอ่งสกลนครประกอบด้วย สกลนคร หนองคาย อุดรธานี นครพนม  และแอ่งโคราช ประกอบด้วยขอนแก่น  กาฬสินธุ์  มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ  นครราชสีมา ชัยภูมิ 

  • ทำไม "แร่โพแทช" จึงจะช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีได้ 

แร่โพแทช (Potash) หรือโพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium chloride) จัดในกลุ่มเกลืออนินทรีย์ (inorganic salt) ประกอบด้วยสารเคมี 2 ชนิด คือ โพแทสเซียมคลอไรด์ (KCl) ในปริมาณร้อยละ 95 และโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ในปริมาณร้อยละ 5 ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของแร่โพแทชคือ การนำไปสกัดให้ได้เป็นโพแทชเซียมในการผลิตปุ๋ยสำหรับการเกษตรกรรมที่ผ่านมาประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศสูงกว่า 7.2 แสนตันต่อปี และมีการนำเข้าแร่โพแทชในแต่ละปีประมาณ 700,000 ตัน คิดเป็นจำนวนเงินราวๆ 9,000 ล้านบาท โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้พูดในที่ประชุม ครม. ว่า "แร่โพแทชเป็นในหนึ่งใน 3 แร่ที่สำคัญที่ใช้ในการทำปุ๋ย หรือทำเป็นแม่ปุ๋ย ปัจจุบันในโลกมีประเทศที่ผลิตปุ๋ยจากโปแตชเป็นอันดับ 1 คือประเทศแคนาดา ขณะที่ประเทศไทยมีปริมาณแร่โปแตชมากเป็นอันดับสองของโลก" ทั้งนี้หากเหมืองแร่โพแทช สำเร็จ ราคาปุ๋ยเคมีก็มีแนวโน้มที่จะถูกลงจากเดิม เกษตรกรสามารถเข้าถึงปุ๋ยเคมีได้มากขึ้น ลดงบประมาณของประเทศจากการนำเข้าแร่โพแทชจากต่างประเทศและสร้างรายได้จากการส่งออกขายยังต่างประเทศ ปีละประมาณ 18,000 ล้านบาท

 

 

  • เร่งรัดเปิด เหมืองแร่โพแทช เพราะล่าช้า  

หากย้อนกลับไปในรัฐบาลสมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา เป็นนายกฯรัฐมนตรี โดยได้ลงนามอนุมัติโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ก็ได้อนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองใต้ดินจำนวน 4 แปลง ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 26,446 ไร่ ให้แก่บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือเอพีพีซี (APPC) ซึ่งกลุ่มทุนอิตาเลียนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยประทานบัตรมีอายุยาวนานถึง 25 ปี คือปี 2565-2590 แต่ปัจจุบันพบว่า ยังไม่สามารถเปิด เหมืองแร่โพแทช ได้ ซึ่งพบว่าเอกชนบางรายถืออนุญาตประทานบัตรไปแล้วนานกว่า 8 ปี ส่งผลให้โครงการทำ เหมืองแร่โพแทช ในพื้นที่ภาคอีสานเกิดความล้าช้าจนต้องมาเร่งรัดโครงการในรัฐบาลชุดปัจจุบัน 

 

 

  • ผลเสียจาก "แร่โพแทช" ที่หลายฝ่ายกังวล  

อย่างไรก็ตามแม้จะมีการออกมาพูดว่า "แร่โพแทช" ไม่ได้มีความอันตรายต่อร่างกาย เพราะ "แร่โพแทช" มีสารประกอบของโซเดียมคลอไรด์ กาผลิตแร่โพแทชส่วนใหญ่จะทำแบบเหมืองใต้ดิน ทั้งวิธีการแบบห้องสลับค้ำยัน และวิธีเหมืองละลายแร่ แต่ถึงอย่างนั้นประเทศไทยก็มีบทเรียนจากการทำเหมืองแร่โพแทชบริเวณจ.นครราชสีมา เพราะพบว่าหลังจากที่ทำเหมืองไปแล้ว 5 ปี ค่าความเค็มของพื้นที่โดยรอบเพิ่มขึ้นมามากกว่าปกติ บ่อน้ำบางจุดเกิดกลิ่นและฟอง พื้นที่เกษตรกรรมต้องปล่อยทิ้งร้างเพราะ อีกทั้งแหล่งแร่โพแทชส่วนใหญ่อยู่ใต้ดิน ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่เกษตรกรรมหนาแน่น พื้นที่ชุมชน  หากจะดำเนินการเปิดเหมืองจะต้องทำให้พื้นที่ทับซ้อนกับชุมชน ซึ่งหลายฝ่ายให้ความกัวลว่าขุมทรัพย์ใต้ดินที่จะขุดมาใช้ในประเทศไทยจะเป็นผลในทางบวก มากกว่าทางลบ และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนที่จะตามมาภายหลังหรือไม่   

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ