ใช้กฎหมายควบคุมปล่อย 'ก๊าซเรือนกระจก' อนาคตรัฐ-เอกชน ต้องรายงานคาร์บอน
ใช้กฎหมาย มาตรการภาษีลดการปล่อย 'ก๊าซเรือนกระจก' อนาคตรัฐ-เอกชน ต้องรายงานอัตราการปล่อยคาร์บอน หนุนประชาชนหันมาให้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกในราคาจับต้องได้ ด้านบ.โอสถสภา สานต่อภารกิจ Carbon Neutral ทำธุรกิจภายใต้แนวคิด ESG
วรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทำให้ภาคเอกชนต้องหันมาให้ความสนใจในการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น โอสถสภาจึงวางเป้าหมายที่จะสานภารกิจ Carbon Neutral เพื่อโลกและผู้บริโภค เปิดเวทีเสวนา Sustainability Dialogue : Mission to Carbon Neutral เพื่อร่วมแบ่งปันมุมมองและทิศทางนโยบายด้านความยั่งยืนจากภาครัฐ และถ่ายทอดโรดแมปด้าน “ความยั่งยืน” และเป้าหมาย “Carbon Neutral” พร้อมพลังในการสร้างความร่วมมือเครือข่ายธุรกิจ เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นหนึ่งในนโยบายของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยครอบคลุม 3 ด้าน คือสิ่งแวดล้อม (Environment), สังคม (Social) และ ธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG และภาพใหญ่ของความยั่งยืนที่หลายองค์กรตั้งเป้าหมายลดการปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" จากกระบวนการผลิตและบริโภค รวมถึงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
- เร่งคลอด พ.ร.บ.การปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ คุมรัฐ-เอกชน รายงานการปล่อยคาร์บอน
นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวระหว่างการเสวนา ว่า กรมการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นกรมฯที่เพิ่มจัดตั้งขึ้นมา เพื่อควบคุมและดูแลให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutra) และ Net Zero ตามแผนการลดความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมออากาศของโลก ดังนั้นสิ่งสำคัญที่กรมฯ จะต้องเร่งดำเนินการการออกร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
ความคืบหน้าของการร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศขณะนี้นั้น กรมฯ อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด ซึ่งจะต้องใช้เวลา และการดำเนินการอย่างรอบครอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และประชาชน รวมทั้งภาคประชาสังคม ซึ่งการออก พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อสร้างมาตรการในการจัดทำรายงาน ตรวจวัดการปล่อยคาร์บอน และ "ก๊าซเรือนกระจก" ของ ภาคธุรกิจ ซึ่งจะมีทั้งมาตรการการบังคับใช้ แนวทางการปฏิบัติ รวมไปถึงมาตรการทางการเงิน ซึ่งเป็นมาตรการที่จะต้องหารือกับหลายภาคส่วน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเสนอฝ่ายนโยบายได้ประมาณต้นปี 2567 ยืนยันว่า พ.ร.บ.จะออกมาแน่นอน เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงทางภสาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ข้อบังคับกฎหมายที่จะออกมานั้นไม่ได้รุนแรง ภาษีคาร์บอนสำหรับภาคเอกชนไม่มีความแตกต่างจากภาษีอื่น
อย่างไรก็ตามประเทศไทยหรือภาคธุรกิจเองไม่สามารถปฏิเสธการทำธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำได้ เพราะปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างมาก ปัจจุบันเราจะต้องปรับตัว ปรับปรุงธุรกิจให้มีการปล่อยคาร์บอนได้น้อยที่สุดสิ่งเหล่านี้ถือว่า อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้ถูกบังคับให้ดำเนินการแต่ก็จำเป็นต้องดำเนินการ
“โจทย์สำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศคือจะต้องมีสาระที่ครอบคลุมในทางสังคม เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชน สอดคล้องกับ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ที่เรื่องทำคาร์บอนเครดิต ดังนั้นเราจะต้องดำเนินการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก (Carbon Inventory) ในอนาคตจะต้องให้นิติบุคคลรายงานการปล่อยคาร์บอนกับภาครัฐ การรายงานจะไม่ได้บังคับแต่เป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจเท่านั้น เราจำเป็นที่จะต้องทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเบื้องต้นไว้ก่อนที่จะมีกฎหมาย เพราะที่สุดแล้วหากธุรกิจไม่ทำก็จะต้องไปติดล็อคกฎ CBAM ของสหภาพยุโรป ดังนั้นภาครัฐจะต้องเป็นส่วนช่วยในการดำเนินการของภาคเอกชน หากเรามีรายงานการปล่อยคาร์บอนชัดเจน ก็จะสามารถนำไปต่อยอ” รองอธิบดี กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ระบุ
- กลไกภาษีขับเคลื่อนให้เกิดการปล่อยคาร์บอนที่ต่ำลง
ด้านกรมสรรพสามิตหนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ได้ระบุว่า ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของการค้าโลก ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องเกาะติดไปตามสถานการณ์และความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และมาตรการด้านการเปลี่ยนแปงสภาพภูมิอากาศเพื่อให้การค้าการลงทุนขับคลื่อนไปได้ ซึ่งภาษีเป็นกลไกลที่จะเข้ามาตอบโจทย์ให้สามารถทำธุรกิจบนพื้นฐานการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการขับเคลื่อนภาษีทางสิ่งแวดล้อมน่าจะมีความสำคัญที่จะช่วยให้เป้าหมายของรัฐบาลไทยเป็นไปได้ กรมฯได้มีการกำหนดวิศัยทัศน์เป็น ESG ขับเคลื่อนการทำงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตมีรายได้ 70% มาจากสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ภาษีคาร์บอนจะเป็นนอีกหนึ่งทางที่ขับเคลื่อนประเทศไปได้
อย่างไรก็ตามกลไกภาษีสรรพสามิต จะเป็นกลไกให้ทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากกว่าการหารายได้เข้าประเทศ เราต้องการใช้กลไกลภาษีสรรพสมิต สร้างให้เกิดปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต เพื่อมุ่งไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์ที่ลดลง ด้านประชาชนเองจะได้เข้าไปสู่ราคาที่เข้าถึงได้สำหรับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ภาษีรถยนต์ที่มีการคำนวนภาษีจากกระบอกสูบ แต่ปัจจุบันมีการคำนวณภาษีจากการปล่อยคาร์บอน ทำให้ผู้ผลิตหันมาปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ผู้บริโภคเองก็ได้มีส่วนร่วมในการลดคาร์บอนด้วย มาตรการดังกล่าวที่ดำเนินมาแล้วค่อนข้างได้ผลเพราะทำให้ประชาชนหันมาให้รถยนต์ปล่อยคาร์บอนลดลง ผู้ผลิตใช้เทคโนโลยีที่ปล่อยคาร์บอนลดลง
รวมไปถึงแนวทางการส่งเสริมของกรมสรรพามิตที่ทำให้ประชาชนได้มีโอกาสการเข้าถึงสินค้า หรรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้ใช้รถไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการลดภาษีสรรพสามิต ลดภาษีอากรขาเข้า ลดราคารถยนต์ไฟฟ้า 150,000 บาท โดยนโยบายดังกล่าวจะดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 นโยบายทำให้ทั้งภาคเอกชน และภาคประชาชนลดอัตราการปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" ได้อีกทาง