ชีวิตดีสังคมดี

'เขื่อนแตกในลิเบีย' สะเทือนถึงไทย นักวิชาการวิเคราะห์ไทยต้องรู้อะไรบ้าง

'เขื่อนแตกในลิเบีย' สะเทือนถึงไทย นักวิชาการวิเคราะห์ไทยต้องทำอะไรบ้างก่อนเกิดเหตุวิบัติรุนแรง ระบุประเทศไทยสร้างเขื่อนมากเกินความจำเป็น

ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้สัมภาษณ์กับ คมชัดลึก ว่า เหตุการณ์ "เขื่อนแตกในลิเบีย" เมืองเดอร์นา ประเทศลิเบีย ที่เกิดการวิบัติส่งผลให้ผู้คนล้มตายจำนวนมากเมืองพังราบเป็นหน้ากลองไป แม้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรง แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลับทำให้เราหันกลับมามองถึงความเสี่ยงของเขื่อนในประเทศไทยที่มีจำนวนมากมากขึ้น   

 

 

ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
 

แน่นอนว่าสิ่งที่กรณี "เขื่อนแตกในลิเบีย" ทำให้ไทยได้เรียนรู้และหันมาให้ความสนใจในการจัดการความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น โดยผศ.ดร.ไชยณรงค์ อธิบายว่า เหตุการณ์เขื่อแตกในลิเบีย ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยต้องรับมือดังนี้   

 

1.รักษาเขื่อนให้ปลอดภัยตลอดเวลา
"เขื่อนแตกในลิเบีย" ขาดการซ่อมบำรุงแม้มีคำเตือนจากนักวิชาการมานานนับทศวรรษว่าเขื่อนมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดน้ำท่วม แต่ไม่มีใครสนใจประเทศไทยต้องบำรุงรักษาเขื่อนให้ปลอดภัยตลอดเวลา โดยมีการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment)ทุกปี โดยหน่วยงานอิสระ ไม่ใช่หน่วยงานเจ้าของเขื่อนเหมือนที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน

2.เขื่อนทุกขนาดมีความเสี่ยง
เขื่อนที่แตกทั้ง 2 เขื่อนเป็นเขื่อนขนาดกลาง มีปริมาตรน้ำรวมกัน 30 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น แต่กลับทำให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นรายหากเป็นในประเทศไทย นักสร้างเขื่อนอาจจะบิดเบือนว่าที่แตกไม่ใช่เขื่อน แต่เป็นอ่างเก็บน้ำในประเทศไทย มีเหตุการณ์เขื่อนหรือสิ่งที่นักสร้างเขื่อนเรียกว่าอ่างเก็บน้ำรวมถึงฝายแตกมาแล้วหลายแห่งมาก และเขื่อนเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นเขื่อนขนาดเล็กและขนาดกลาง บางเขื่อนมีคนเสียชีวิตด้วย และยังสร้างผลกระทบทั้งทรัพย์สินและบ้านเรือนของประชาชน ส่วนสาเหตุของเขื่อนแตกหรือเขื่อนวิบัติคือความไม่มั่นคงแข็งแรงของเขื่อน ทำให้ไม่สามารถรองรับน้ำได้ อีกทั้งเพราะเหตุที่เขื่อนไม่ได้เป็นเขื่อนใหญ่ จึงละเลยการประเมินความเสี่ยง ดังนั้น การประเมินความเสี่ยงในข้อแรก จะต้องรวมถึงเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงฝายด้วย

 

 


3.อย่าโทษธรรมชาติ 
กรณีเขื่อนแตกในลิเบีย คนส่วนหนึ่งโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่โทษว่าเกิดพายุฝนหนัก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ Al Jazeera สื่อใหญ่ได้สัมภาษณ์คนกลุ่มต่างๆ และชี้ให้เห็นว่า เขื่อนแตกที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้คือการกระทำของมนุษย์ จากความขัดแย้งทางการเมือง และขาดการซ่อมบำรุงมานานนับ 40 ปี แม้มีคำเตือน แต่ก็ไม่สนใจ ในกรณีของประเทศไทยนักสร้างเขื่อนอย่าสักแต่สร้างเขื่อน แต่ต้องบำรุงรักษาให้เขื่อนปลอดภัยเสมอ หรือหากพบว่าเขื่อนสร้างไม่ได้มาตรฐานก็ต้องระงับการใช้งานทันที จนกว่าจะแก้ไขแล้ว เขื่อนห้วยทรายขมิ้นที่วิบัติและทำให้น้ำท่วมสกลนคร เสียหายต่อทรัพย์สินและเศรษฐกิจอย่างหนักเนื่องจากไม่มีการสร้างทางระบายน้ำล้นฉุกเฉิน (spill way) ที่เปรียบเหมือนวาล์วนิรภัย  แต่ก็มีการเปิดใช้งานมานานนับครึ่งศตวรรษ จนกระทั่งเขื่อนวิบัติกรณีเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำที่หน่วยงานรัฐสร้างและโอนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล ก็ต้องมีการประเมินความเสี่ยงเข่นกัน รวมทั้งประเมินว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพในการดูรักษาให้ปลอดภัยได้หรือไม่ หากไม่มี หน่วยงานที่สร้างต้องรับกลับมาดูแล

 

 

 

4.การเตือนภัยและมีแผนรับมือกับภัยพิบัติจากเขื่อนวิบัติ 
กรณีของลิเบีย ผู้รอดชีวิตต่างก็ให้สัมภาษณ์สื่อว่า พวกเขาถูกสั่งให้อยู่ในบ้านขณะที่เขื่อนแตก และเมื่อเขื่อนแตกแล้ว การกู้ภัยไม่ทันต่อสถานการณ์กรณีของประเทศไทยเขื่อนทุกแห่งจะต้องมีแผนเหตุฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อม ที่แยกออกมาต่างหากจากแผนเผชิญเหตุภัยพิบัติของจังหวัด และแผนนี้จะต้องจัดทำโดยกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน และต้องมีการฝึกซ้อมตามแผนทุกปีก่อนเข้าสู่ฤดูฝน

 

 

 

5.สอบสวนหาผู้รับผิดชอบหากเขื่อนวิบัติ
อัยการสูงสุดของลิเบียแถลงเมื่อวันศุกร์ว่าจะสอบสวนการพังทลายของเขื่อนสองแห่งโดยให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าใครก็ตามที่ทำผิดพลาดหรือประมาทเลินเล่อ อัยการจะใช้มาตรการที่หนักแน่น ฟ้องร้องและส่งตัวเขาเข้ารับการพิจารณาคดี โดยจะตรวจสอบอย่างละเอียดทั้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รัฐบาลชุดก่อน และการจัดสรรงบประมาณในประเทศไทย เมื่อเกิดเขื่อนแตก นักการเมืองและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่รับผิดชอบมักจะบิดเบือนข้อมูลข่าวสารเพื่อปัดความรับผิดชอบ และปล่อยให้ประชาชนเผชิญกับชะตากรรมด้วยตนเอง บางกรณีประชาชนปูเสียหายต้องฟ้องร้องดำเนินคดีเอง หรืออย่างมากก็ได้รับค่าเยียวยาที่ไม่คุ้มกับความเสียหาย ดังนั้น สิ่งที่นักการเมืองที่เป็นรัฐบาลจะต้องดำเนินการคือ การให้อัยการสอบสวนสาเหตุเขื่อนวิบัติอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่ออกมาแถลงปกป้องเขื่อนหรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ต้องอย่าลืมว่า เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำคือสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น และน้ำที่อยู่เหนือเขื่อนมีพลังมหาศาล หากเขื่อนแตกก็เท่ากับทำให้เกิดสึนามิลงมาถล่มพื้นที่ทางตอนล่างเขื่อนจึงเป็นเสมือนระเบิดเวลาที่ต้องจัดการอย่างมีความรับผิดชอบ

 

 

 

ผศ.ดร.ไชยณรงค์ ยังบอกอีกว่า แม้ว่ากรณีที่เขื่อนเกิดการววิบัติในครั้งนี้จะเกิดห่างจากประเทศไทยมาก แต่ก็สามารถสะท้อนถึงการบริการจัดการการดูแลเขื่อนได้เป็นอย่างดี  โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีเขื่อนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่จำนวนมากและยังคงมีโครงการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในมุมมองของตนเหตุการว่าประเทศไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเขื่อนอีกต่อไปแล้ว  แต่ควรจะให้ความสำคัญกับการดูแลเขื่อนที่มีอยู่มากกว่า โดยสามารถแบ่งการจัดการออกเป็นระดับ คือ 

 

  • เขื่อนขนาดกลาง เขื่อนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นเขื่อนที่มีความเสี่ยงจะพังมากที่สุด และที่ผ่านมาเขื่อนในขนาดดังกล่าวมักจะถูกมอบหมายให้หน่วยงานปกครองท้องถิ่นรับไปดูแล ซึ่งอาจจะม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องหมาะสมและดีมากพอ  
  • เขื่อนที่รองรับปริมาณน้ำเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ที่จะต้องเฝ้าระวังระบายน้ำออกเพื่อไม่ให้เขื่อนแตก เช่นในพื้นที่ภาคอีสาน   
  • เขื่อนที่ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแผ่นดินไหวโดยเฉพาะในพื้นที่จ.กาญจนบุรี ที่จะต้องให้ความสำคัญ เพราะก่อนจะเกิดแผ่นดินไหวมันไม่ได้ส่งสัญญาณอะไรเป็นการล่วงหน้าก่อน   

 

 

 

"วันนี้ไทยอาจจะยังไม่เกิดเหตุการณ์เขื่อนแตกแบบรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณ การให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาดูแล ที่ผ่านมาเรามักจะเห็นว่า เขื่อนบางแห่งก่อสร้างมานานกว่า 50 ปี แต่ไม่ได้รับการดูแลใดๆ จนท้ายที่สุดเกิดปัญหาเขื่อนแตกแม้ว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น ดังนั้นการดูแลอย่างสม่ำเสมอ จากหน่วยงานที่มีประสบการณ์จึงเป็นประเด็นทีสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ไทยเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่เหมือนในประเทศลิเบีย" ผศ.ดร.ไชยณรงค์ กล่าวสรุป    

ข่าวยอดนิยม