ชีวิตดีสังคมดี

ภาครัฐเริ่มส่งสัญญาณถึงชาวนาหลัง 'เอลนีโญ' ทวีความรุนแรงแบบไม่ปราณี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภาครัฐเตรียมจัดการน้ำแบบปราณีตพร้อมส่งสัญญาณถึงชาวนา และภาคเกษตรกรรมหลังปรากฎการณ์ 'เอลนีโญ' เริ่มรุนแรงแบบไร้ความปราณี

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ปรากฎการณ์ "เอลนีโญ" เริ่มส่งสัญญาณความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงการออกมาเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ที่บอกให้ภาครัฐต้องเตรียมการให้พร้อมก่อนที่จะเกิดผลกระทบร้ายแรงต่อประชากร และทรัพยากรในประเทศ รวมไปถึงพืชผลทางการเกษตร ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

 

เมื่อความชัดเจนเริ่มมีมากขึ้นว่าหากยังไม่เตรียมความพร้อมปรากฎการณ์ "เอลนีโญ" ซึ่งจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง ฝนตกทิ้งช่วง  ส่งผลต่อกระทบต่อภาคการเกษตร และปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนล่าสุด เพื่อสำรองน้ำ และจัดการทำให้มีเพียงพอต่อการใช้งานไปจนกว่าโลกจะพ้นจากปรากฎการณ์เอลนีโญ กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้เริ่มส่งสัญญาณไปยังภาคเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มชาวนาให้งดการทำนาปีแบบต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิต

  • อัพเดตสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลัก

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (21 ส.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 41,789 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 55 %  ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 34,548 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,258 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 41% ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 14,613 ล้าน ลบ.ม.

 

ปัจจุบันมีการทำนาปีทั่วประเทศไปแล้วประมาณ 14.40 ล้านไร่  คิดเป็น 85% ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 0.98 ล้านไร่  เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำนาปีไปแล้ว 7.34 ล้านไร่ คิดเป็น  91% ของแผนฯ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 0.96 ล้านไร่ ในส่วนของสถานการณ์ค่าความเค็มใน 4 ลำน้ำสายหลักอยู่ในเกณฑ์ปกติ

  • "เอลนีโญ" ทวีความรุนแรงกระทบปริมาณน้ำต้นทุน ขอชาวนางดทำนาปีต่อเนื่อง

จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าสถานการณ์ "เอลนีโญ" มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ในช่วงพ.ย. 2566 ถึง เม.ย.2567 ปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้รวมกัน มีประมาณ 7,000 ล้านลบ.ม.  ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมาก โดยปริมาณน้ำใช้การจำนวนดังกล่าวจะเพียงพอเฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น  ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย

กรมชลประทาน จึงขอความร่วมมือเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ พร้อมกำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศเร่งเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำอย่างประณีต รวมไปถึงจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ตลอดจนประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง

 

 

  • เตรียมแผนรับมือพาเกษตรกรก้าวข้ามภัยแล้งจาก "เอลนีโญ"

ด้านข้อมูลศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้คาดการณ์พื้นที่เกษตรที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2566/67 รวมประมาณ 16.51 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทานลุ่มเจ้าพระยา รวม 22 จังหวัด พื้นที่ 7.34 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดภัยแล้ง รวม 60 จังหวัด พื้นที่ 9.17 ล้านไร่ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมรองรับผลกระทบด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้งที่จะเกิดขึ้น ที่ประชุมจึงได้ร่วมกันพิจารณาแผนงานรองรับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2566/67 ดังนี้

 

1. ส่งเสริมการปลูกพืชทดแทน  อาชีพทางเลือก โดยจะส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชทดแทนนาปรัง ด้วยการปลูกพืชใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้งให้สอดคล้องกับริมาณน้ำที่มี โดยไม่ต้องใช้น้ำจากระบบชลประทาน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชตระกูลถั่ว การเลี้ยงจิ้งหรีด การเลี้ยงผึ้ง เป็นต้น

 

2. เพิ่มน้ำต้นทุน เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคในครัวเรือน โดยการสนับสนุนให้สมาชิกสถาบันเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกรรวมถึงเกษตรกร พัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และปรับปรุงระบบกักเก็บน้ำให้เพียงพอ

 

3. สร้างรายได้ หรือ ลดภาระค่าใช้จ่าย หรืออื่น ๆ ในพื้นที่ที่ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ โดยสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรที่ช่วยลดรายจ่ายและสร้างรายได้ในระยะสั้น   

 

 

4. ป้องกันพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง เตรียมการในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และในระยะต่อไป โดยเตรียมการจัดการระบบน้ำ เพื่อป้องกันน้ำเค็มรุก ในพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ กล้วยไม้ ลิ้นจี่ ส้มโอ เป็นต้น รวมถึงการเตรียมการส่งเสริมการปลูกข้าวโดยวิธีเปียกสลับแห้งเพื่อการประหยัดน้ำ สำหรับขยายผลในช่วงฤดูฝน ปี 2567

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ