ชีวิตดีสังคมดี

แผนแก้แพลงก์ตอนบลูม "ทะเลสีเขียว" ถ้าไม่ทำ หายนะทางทะเลมาแน่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แพลงก์ตอนบลูม ทำให้ "ทะเลสีเขียว" เกิดขึ้นถี่ ไม่ใช่แค่สัญญาณเตือนโลกร้อน แต่เพราะน้ำมือมนุษย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล แนะวิธีรับมือระยะสั้น ก่อนนักท่องเที่ยวหาย ระบบนิเวศทางทะเลหายนะ

ระยะหลังๆ "แพลงก์ตอนบลูม" หรือขี้ปลาวาฬ ทำให้น้ำ "ทะเลสีเขียว"  เกิดถี่ขึ้น ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน เกิด "ทะเลสีเขียว" ถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกที่ศรีราชา เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่เกาะล้าน และล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่หาดบางแสน ทั้ง 3 จุดอยู่ในพื้นที่ทะเล จ.ชลบุรี ที่มีอุตสาหกรรมล้อมรอบ

 

 

 

ทะเลสีเขียวที่เกาะล้าน เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2566

 

 

 

ทะเลสีเขียวที่บางแสน เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2566

คำถามคือ เกิดอะไรขึ้น ทำไม "ทะเลสีเขียว" เกิดขึ้นถี่ขนาดนี้ มันคือ สัญญาณเตือนอะไรหรือไม่? วันนี้ "คมชัดลึก" จะพาคล้ายข้อสงสัยนี้กับ "ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล 

 

 

 

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

 

 

 

นักท่องเที่ยวที่หาดบางแสน จ.ชลบุรี

"ดร.ธรณ์" อธิบายว่า "ทะเลสีเขียว" เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เกิดได้ 2 สาเหตุ สาเหตุแรก คือพฤติกรรมมนุษย์บำบัดน้ำเสียไม่ได้ประสิทธิภาพก่อนปล่อยลงทะเล และอีกสาเหตุคือ "โลกร้อน"  ซึ่งมีงานวิจัยค้นพบว่า ภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น แพลงก์ตอนพืชเพิ่มขึ้นเร็วผิดปกติ 

 

 

 

ภาพจากเฟซบุ๊กส่วนตัว ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

 

 

 

แม้ "ทะเลสีเขียว" ไม่เป็นอันตรายหากมนุษย์สัมผัสโดน อาหารทะเลสามารถทานได้ปกติ แต่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล ทั้งสัตว์ทะเลตาย การหากินของชาวประมงโดยเฉพาะกลุ่มพื้นบ้านและการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง รวมถึงการท่องเที่ยว

 

 

 

""ทะเลสีเขียว" ตอนนี้ไม่อันตราย เพราะยังตรวจไม่พบสารพิษ ไทยเรายังโชคดีที่หลังๆ มาตรวจไม่พบแพลงก์ตอนที่มีพิษ แต่เคยมีมาแล้วตอนน้ำมาก ถามว่า มีโอกาสเจอไหม มีแน่นอน แต่สิ่งที่กระทบแน่ๆ คือ ระบบนิเวศ เพราะแพลงก์ตอนเยอะ ทำให้อากาศในน้ำลดลง สัตว์หายใจไม่ได้ก็ตาย อาหารทะเลกินได้ปกติ ถ้ามีเหลือให้จับ" "ดร.ธรณ์" อธิบาย

 

 

 

ปลาตายที่หาดทะเลบางแสน เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2566

 

 

 

รายงานว่า "แพลงก์ตอนบลูม" ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำทะเลเปลี่ยนสี บางชนิดสร้างสารชีวพิษ แพลงก์ตอนกลุ่มสร้างสารชีวพิษ โดย "กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" (ทส.) ให้ข้อมูลไว้ว่า  ปัจจุบันมีรายงานชนิดของแพลงก์ตอนพืชที่เป็นสาเหตุของน้ำเปลี่ยนสีกว่า 300 ชนิด เกือบ 1 ใน 4 สามารถสร้างสารชีวพิษได้  กลุ่มที่สร้างสารชีวพิษ สะสมในสัตว์ทะเลและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ หรือเป็นสาเหตุให้ปลาตาย สารชีวพิษที่พบว่าสร้างโดยแพลงก์ตอนพืช มี 5 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1. พิษอัมพาต ออกฤทธิ์ต่อปลายประสาท ระบบกล้ามเนื้อ และระบบทางเดินหายใจ
2. พิษท้องร่วง มีฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร
3. พิษที่ทำให้ความจำเสื่อม ออกฤทธิ์รบกวนการ-ส่งสัญญาณในสมอง อาจส่งผลให้สูญเสียความทรงจำ
4. พิษต่อระบบประสาทรับความรู้สึก ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท
5. พิษซิกัวเทอร่า ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทและระบบทางเดินอาหาร

 

 

 

ทะเลสีเขียวจากเฟซบุ๊ก ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

 

 

 


"ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล" บอกต่อว่า ความจริงเขาเคยเสนอแผนแก้ปัญหา "ทะเลสีเขียว" ระยะสั้นถึง รองนายกรัฐมนตรี "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" ด้วยการติดตั้ง "สถานีวัดสมุทรศาสตร์"  (สถานีวิเคราะห์ทะเล) เพิ่มอีก 2 จุด ที่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา และแหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี ให้เป็น 3 จุด สามเหลี่ยมเชื่อมหาสถานีเดิมที่ อ.ศรีราชา แต่ยังไม่มีท่าทีอนุมัติใดๆ

 

 

 

สถานีวัดสมุทรศาสตร์ ที่ศรีราชา

 

 

 

"ในระยะยาวแก้โลกร้อนได้ แก้ที่พฤติกรรม ซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าจะไปบอกให้ผู้ประกอบการบำบัดน้ำเสียให้ได้ประสิทธิภาพ 100% ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะใช้เงินเยอะ แต่ถ้าหน่วยงานรัฐสนับสนุนอีก 10 ปีน้ำทิ้งอาจดีขึ้น อันนั้นว่ากันในระยะยาว แต่ระยะสั้นแก้ไม่ให้ "ทะเลสีเขียว" ใกล้เข้าฝั่งแบบนี้ "สถานีวัดสมุทรศาสตร์" ช่วยได้ เครื่องหนึ่งใช้งบราวๆ 100 ล้านบาท แต่ช่วยระบบนิเวศ การท่องเที่ยว ชาวประมงพื้นบ้าน ถ้าน้ำเขียวๆ แบบนี้ จีน เกาหลีก็หาย อนาคตแนวโน้ม "ทะเลสีเขียว" จะเพิ่มขึ้นและถี่ขึ้นเรื่อยๆ" "ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล" กล่าวในที่สุด

 

 

 

สถานีวัดสมุทรศาสตร์ ที่ศรีราชา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ