ชีวิตดีสังคมดี

ไทม์ไลน์ 'หินปะทุใต้ดิน' ที่ชัยภูมิ อุบัติการณ์เตือนความปลอดภัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อยู่ๆ มีเสียงดังคล้ายระเบิด 3 ครั้งและมีแสงไฟที่หมู่บ้านห้วยหินลับ จ.ชัยภูมิ เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพบว่า เป็น "หินปะทุใต้ดิน" เมื่อทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แล้วทำเอาประชาชนหวาดกลัว อะไรคือ ต้นเรื่อง มีโอกาสเกิดขึ้นอีกหรือไม่ "คมชัดลึก" สรุปครบจบมาไว้ที่นี่

  • เสียงคล้ายระเบิด 3 ครั้ง

 

กลางดึกคืนวันที่ 2 ส.ค. 2566 "นายสง่า ยศจำรัส" ชาวบ้านห้วยหินลับ ม.11 ต.หนองโพนงาม อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ได้ยินเสียงดังคล้ายระเบิด 3 ครั้ง และมีแสงไฟเกิดขึ้นบนภูเขา พิกัด UTM WGS 47Q 798222 E 1820830 N (คุ้มทิพย์ธารทอง) จึงแจ้งทางราชการ ก่อนแสงไฟสงบลงในวันรุ่งขึ้น (3 ส.ค. 2566) 

  • อำเภอเข้าพื้นที่ตรวจสอบ

 

เจ้าหน้าที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบร่องรอย "หินปะทุใต้ดิน" คล้ายลาวาภูเขาไฟ จำนวน 3 รู

 

 

 

ร่องรอยหินปะทุ

 

 

 

นายอำเภอจึงได้กันเขตบริเวณพื้นที่เกิดเหตุ และจัดกำลังเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง พร้อมแจ้งสำนักงานป่าไม้จังหวัดชัยภูมิที่ 3 และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชัยภูมิ และเจ้าหน้าที่เขื่อนจุฬาภรณ์ เข้าตรวจสอบพื้นที่ 

  • นักแผ่นดินไหว ออกมาระบุสาเหตุ

 

"ดร.ไพบูลย์ นวลนิล" นักแผ่นดินไหววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Namom Thoongpoh ว่า "เหตุการณ์ "หินปะทุใต้ดิน" ที่ชัยภูมิ เกิดจากไฟฟ้าแรงสูง 22kV รั่วลงดินนานจนดินหินละลาย ไม่ใช่ภูเขาไฟ แต่เป็นไฟภูเขา เมื่อไฟฟ้าแรงสูงรั่วที่บริเวณใดก็เกิดความร้อนสูงอันเกิดจากกระแสไฟไหลผ่าน แล้วเกิดการหลอมละลายของดิน หินในบริเวณนั้นเกิดเป็นก๊าซใต้ดินแรงดันสูง ปะทุออกมา"

 

 

 

ร่องรอยหินปะทุ

 

 

 

  • สั่งห้ามประชาชนเข้าพื้นที่

 

วันที่ 4 ส.ค. 2566 เพื่อความปลอดภัย นายอำเภอเกษตรสมบูรณ์ ได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการปิดพื้นที่ ห้ามประชาชนเข้าใกล้จุดเกิดเหตุ 

 

 

 

หมู่บ้านห้วยหินลับ จุดเกิดเหตุ

 

 

 

  • กรมทรัพยากรธรณีเข้าตรวจสอบ

 

กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เข้าตรวจสอบในพื้นที่ โดยประสานกับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) พบว่า ในบริเวณที่เกิดเหตุนั้น มีสายไฟฟ้าแรงสูงรั่วลงดิน รั่วเป็นเวลาประมาณ 30 นาที ทำให้เกิดความร้อน และน้ำใต้ดินในบริเวณนั้นเดือด 

 

 

 

  • สาเหตุ "หินปะทุใต้ดิน" ไม่เกี่ยวภัยธรรมชาติ

 

ยืนยันเรื่อง "หินปะทุใต้ดิน" ไม่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติใดๆ เป็นความขัดข้องของสายไฟฟ้าแรงสูง จนเกิดไฟรั่ว กฟภ.ได้เข้าไปดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว 

 

 

 

ร่องรอยหินปะทุใต้ดิน

 

 

 

  • ผู้ว่าฯ ชัยภูมิขอประชาชนแจ้งเหตุหากเกิดอีก 

 

วันที่ 6 ส.ค. 2566 "นายโสภณ สุวรรณรัตน์" ผู้ว่าฯ ชัยภูมิ ยืนยันว่า เหตุการณ์ "หินปะทุใต้ดิน" ไม่มีสารเคมีหรือรูป่องของภูเขาแต่อย่างใด ขอให้ชาวบ้านอย่าแตกตื่น หากพบเจอเหตุการณ์เช่นนี้อีกก็ขอให้ชาวบ้านแจ้งเข้ามาจะได้ช่วยกันตรวจสอบ และทำการแก้ไขป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชาวบ้านได้ต่อไป

 

 

  • เปิดสาเหตุที่จะทำให้ไฟรั่วได้

 

สาเหตุการเกิดไฟรั่วมีหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเดินสายไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน ขาดการตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้าเพราะใช้มาเป็นเวลานาน หากกระแสไฟฟ้าลงสู่ดิน และเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลให้หัวใจทำงานผิดปกติ ถ้าไฟมีกำลังแรงอาจทำให้หัวใจเต้นอ่อนลงจนหยุดเต้นและเสียชีวิตในที่สุด 

 

 

 

  • เปิดความเป็นไปได้ภูเขาไฟไทยปะทุ

 

กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า ภูเขาไฟในประเทศไทยเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว หลักฐานที่บอกว่าเป็นภูเขาไฟเก่าก็คือ หินภูเขาไฟ หินภูเขาไฟคือหินอัคนีที่เกิดจากการเย็นตัวของมวลหินหนืดบนผิวโลกหรือใกล้ผิวโลก ถ้าบริเวณไหนเป็นหินภูเขาไฟที่เป็นยุคเก่ามากๆ ก็จะไม่พบเป็นรูปทรงของภูเขาไป เพราะมีการผุพัง 

 

 

 

จากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกในยุคหลังๆ มา ตัวอย่างเช่น แนวหินภูเขาไฟบริเวณ จ.แพร่ จ.ลำปาง จ.สุโขทัย จ.นครสวรรค์ จ.เพชรบูรณ์ และอีกหลายที่ 

 

 

 

ส่วนภูเขาไฟที่ยังเป็นรูปทรงของภูเขาไฟอยู่ก็ได้แก่บริเวณเขากระโดง ภูพระอังคาร จ.บุรีรัมย์ ทางภาคเหนือก็มีแถวแม่เมาะ ลำปาง ที่ดอยผาคอกหินฟู 

 

 

 

ปล่องภูเขาไฟ เขากระโดง จ.บุรีรัมย์

 

 

 

ประเทศไทยมีปล่องภูเขาไฟโบราณหลายแห่ง โดยพบบริเวณภาคอิสานตอนล่าง ท้องที่ จ. นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี ที่มีชื่อเสียงคือ เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ภาคเหนือ เช่น จ.ลำปาง เป็นต้น ที่มีชื่อเสียงอยู่ใกล้กับเหมืองถ่านหินแม่เมาะชื่อ คอกฟู และภาคกลาง เช่น จ.ลพบุรี นครสววรค์ พิจิตร เป็นต้น 

 

 

 

นอกจากนี้ ยังพบที่ จ.เลย ด้วยตามที่ทราบแล้ว ในบริเวณภาคอิสานตอนล่างและที่ จ.ลำปาง บริเวณที่เป็นปล่องภูเขาไฟโบราณจะเป็นหินภูเขาไฟชนิดบะซอลต์ (Basalt) ส่วนบริเวณ จ.ลพบุรี บริเวณที่เป็นปล่องภูเขาไฟโบราณจะเป็นหินภูเขาไฟชนิดไรโอไรต์ แอนดีไซต์ 

 

 

 

สำหรับลักษณะของปล่องภูเขาไฟโบราณนี้ หากมองจากภาพถ่ายทางอากาศ หรือภาพถ่ายดาวเทียม จะเห็นเป็นรูปวงกลม มีเนินเขาวางตัวตามเส้นรอบวง คล้ายกับรูปสี้ยวพระจันทร์ 

 

 

 

ส่วนบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน ไม่พบหินภูเขาไฟที่ครอบคลุมเนื้อที่เป็นบริเวณกว้างคล้ายกับบริเวณ จ.ลำปาง บุรีรัมย์ หรือ จ.ลพบุรี ดังนั้น จึงคาดว่า ไม่น่าจะมีปล่องภูเขาไฟโบราณในบริเวณดังกล่าว แต่บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน อาจจะมีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นปล่องได้ ซึ่งเป็นหลุมยุบ (Sink Hole) ที่เกิดในหินปูน (จ.แม่ฮ่องสอนมีหินปูนมาก) ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นปล่องภูเขาไฟโบราณ

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ