เดือน เม.ย. ปีนี้เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดอีกครั้งในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา ค่าดัชนีความร้อน ( Heat Index ) พุ่งสูง 50 องศาเซลเซียส ในเขตบางนา กรุงเทพเทพมหานคร นับเป็นปรากฎการณ์สภาพอากาศที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน โดยอีกหลายจังหวัดในประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจาก "อุณหภูมิ" ที่สูงขึ้นมากกว่าแต่ก่อนเช่นกัน
ซึ่งจะส่งผลให้หน้าร้อนปีนี้มีผู้เสียชีวิตและเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการ โรคฮีทสโตรก (Heatstroke ) หรือภาวะลมแดดหลายรายมากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประกาศเตือนให้ประชาชน งดออกไปกลางแจ้งในช่วงระหว่างเวลาที่ร้อนจัด เพราะมีความเสี่ยงทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำและเกิดอาการดังกล่าวได้
ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า เดือน มี.ค. ถึง พ.ค. ของทุกปี เราจะพบกับอากาศร้อน ปีนี้ประเทศไทยพบกับอากาศร้อนถึง 44.6 องศาเซลเซียส มีค่าดัชนีความร้อน (Heat Index )ตามภูมิภาคสูงเกิน 54 องศาเซลเซียส เพราะฤดูร้อนในประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้น จะส่งผลต่อสุขภาพประชาชนจำนวนมาก
โดยค่าดัชนีความร้อนมากกว่า 41-54 องศา จะทำส่งผลอันตราย ซึ่งจะอาการเพลียแดด และเกิดภาวะลมแดดได้ถ้าสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน แต่ถ้ามากกว่า 54 องศา จะเกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke) ที่ทำให้เสียชีวิต
ช่วงนี้กรมเน้นสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ให้กับชุมชน ประชาชน กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง รับทราบอุณหภูมิของอากาศที่ตรวจวัดได้จริงกับระดับอุณหภูมิที่เรารู้สึกได้ในขณะนั้น หรือ Heat Index เพื่อเตรียมพร้อมในการใช้ชีวิต ถือเป็นการปรับการแจ้งเตือนรูปแบบใหม่ให้แก่ประชาชน ซึ่งคนเข้าใจมากขึ้น สามารถแบ่งระดับผลกระทบเป็นสีต่างๆ ได้ดังนี้
- สีแดง อันตรายมาก
- สีส้ม อันตราย
- สีเหลือง เตือนภัย
- สีเขียวอ่อน เฝ้าระวัง
ดร.ชมภารี กล่าวเพิ่มเติมว่า อุณหภูมิจริง 35 องศา แต่มีความชื้นสัมพันธ์ของอากาศมากกว่า หรือร่างกายระบายความร้อนได้ช้า ไม่ได้ทานน้ำ ไม่มีการขับเหงื่อออกจากร่างกาย "อุณหภูมิ" ในร่างกายก็จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนอุณหภูมิถึง 50 องศาขึ้นไป จะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต
นอกจากนี้การผันแปรของสภาพภูมิอากาศ ร้อนจัด หนาวจัด ปรากฎการณ์เอลนีโญ-ลานีญา ไฟป่าที่ลุกลาม การเผาป่าเพื่อการเกษตร ที่เกิดจุดความร้อน (Hot spot) และฝนแล้ง เป็นอีกสาเหตุที่เพิ่มความร้อนให้มากขึ้นในสภาพอากาศ และอีกปัจจัยเป็นฝีมือของมนุษย์ เช่น การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก การตัดไม้ทำลายป่า ภาคอุตสาหกรรม มลภาวะทางอากาศ รวมถึงการขยายตัวของเมือง ก็เป็นสาเหตุสำคัญ
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากปรากฎการณ์ลานีญา ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกมาก อากาศไม่ร้อนมาก ไม่เหมือนหลายปีก่อนหน้า เช่น ปี 59 ที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ เป็นปีที่หลายๆ พื้นที่ของประเทศไทยทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุด ช่วงปลายปี 65 ถึงต้นปี 66 ประเทศไทยมีอากาศหนาวยาวนานนานส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งเป็นบริเวณกว้าง อีกทั้งมีการเผาป่า ในหลายพื้นที่ จนเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ที่มีอุณหภูมิสูงมากกว่าฤดูร้อนปี 65 รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งแนวโน้มค่าเฉลี่ยอุณหภูมิสูงสุดของประเทศไทย ปี 2494-2564 ไทยมีทิศทางอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามทาง กรมอุตุนิยมวิทยา มีข้อแนะนำการใช้ชีวิตในช่วงหน้าร้อน ควรลดกิจกรรมการแจ้ง ดื่มน้ำบ่อยๆ สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี สวมหมวก แว่นกันแดด ปกป้องตัวเองจากความร้อน จากการศึกษาเมื่อรังสี UV ทะลุสู่ร่างกาย เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนัง โรคกระจกตาอักเสบ และโรคอื่นๆ เพื่อป้องกันสุขภาพประชาชนให้ผ่านหน้าร้อนนี้ไปให้ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง