ชีวิตดีสังคมดี

โลกร้อน เพิ่มช่องว่างเหลื่อมล้ำในสังคมไทย 'สภาพัฒน์' ปักหมุดแผน 13 แก้ปัญหา

06 เม.ย. 2566

โลกร้อน สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เพิ่มช่องว่างเหลื่อมล้ำในสังคมไทย 'สภาพัฒน์' เปิดข้อมูล ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ปักหมุดแผน 13 แก้ปัญหา

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ "สภาพัฒน์" สรุปรายการการพัฒนาประเทศไทยในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)  โดยจากการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาฉบับที่ 12 นั้น พบว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาไทยต้องเผชิญกับปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change)

 

 

ซึ่งผลกระทบเป็นวงกว้างตั้งแต่ระบบนิเวศน์ สภาพอากาศ ไปจนถึงการสร้างความเหลื่อมล้ำให้มีช่องว่างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ หรือกลุ่มฐานราก

 

 

ข้อมูลจาก "สภาพัฒน์" ระบุ เพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปี 2560-2564 ที่ผ่านมานั้นเป็นเวลาของการปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานหลายด้านที่สั่งสมมานานท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีการแข่งขันด้านเศรษฐกิจที่เข้มข้นมากขึ้น สังคมโลกมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกันมากขึ้นเป็นสภาพไร้พรมแดน เทคโนโลยีจะมีการเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็วและจะกระทบชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมาก ดังนั้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้กำหนดเป้าหมายที่จะต้องบรรลุใน 5 ปีแรกอย่างชัดเจนทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมการกำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุในระยะ 5 ปี

 

ภาพประกอบข่าว

 

ทั้งนี้ได้มีการงานมาตรการป้องกันผลกระทบของการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นแผนในเชิงนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยการยกระดับการมีส่วนร่วมในกระบวนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  ผลการประเมินบ่งชี้ว่าประเทศไทยไม่อาจบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้หลังจากสิ้นสุดแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 12 

 

  • สภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มช่องว่างเหลื่อมล้ำ กระทบคุณภาพชีวิต

 

"สภาพัฒน์"  ระบุเพิ่มเติมว่า วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ค.ศ. 2030 ได้กำหนดทิศทางการรักษาและบริหารจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย ในขณะเดียวกันข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทวีความเข้มข้น ส่งผลให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยต้องดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริง

 

ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์และกำหนดเป้าหมายของประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่าระดับการปล่อยตามปกติ  7-20% ภายในปี 2563 นอกจากนี้ยังมีความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่หลายประเทศได้รับรองร่วมกันเมื่อ 12 ธ.ค.2558 ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และประเทศไทยได้ลงนามรับรองความตกลงดังกล่าวเมื่อ 22 เม.ย. 2559

 

ทั้งนี้ฐานทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยและเสื่อมโทรมลงเนื่องจากการใช้ประโยชน์เกินกว่าศักยภาพในการฟื้นตัวของระบบนิเวศ ยังมีการเข้าถึงและการจัดสรรการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ  และมีความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำในอนาคต ในขณะที่การบริหารจัดการขาดประสิทธิภาพ ตลอดจนปัญหามลพิษส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและต้นทุนทางเศรษฐกิจ 

 

เป้าหมายและแนวทางในการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมที่ "สภาพัฒน์" จะต้องดำเนินการนั้น คือ การเพิ่มทุนทางธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมสามารถสนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และน้ำ โดยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ 40 % ของพื้นที่ ประเทศเพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ ลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ในภาคพลังงานและขนส่ง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 ภายในปี 2563 เพื่อรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้สามารถสนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

 

ภาพประกอบข่าว

 

อย่างไรก็ตามหลังจากเสร็จสิ้นแผนพัฒนาฯที่ 12 "สภาพัฒน์" ได้ประกาศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (2566 - 2570) ไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565 โดย "สภาพัฒน์"  ยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนใน มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการดำเนินการภายใต้ 13 หมุดหมายในการพัฒนาประเทศ  โดยหมุดหมายที่ว่าด้วยเรื่องการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมจัดอยู่ในหมุดหมายที่ 10 และ 11 ดังนี้ 

 

  • หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ในแผนฉบับที่ 13 ได้ให้ความสำคัญกับการนำขยะและของเสียมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ รวมถึงเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในชั้นบรรยากาศ 

 

  • หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นปรับการใช้ที่ดินให้เหมาะสม จัดทำระบบจัดการน้ำที่สอดรับกับภูมิประเทศและภูมิอากาศ พัฒนาการแจ้งเตือนภัยให้แม่นยำและทันเวลา เพื่อให้เกษตร ภาคอุตสาหกรรมได้เตรียมความพร้อมรับมือ หรือวางแผนรองรับ