ชีวิตดีสังคมดี

สรุป 'กฎหมาย PRTR' ถ้าไม่โดนปัดตก ไทยคงไม่ต้องกังวลกรณีซีเซียม-137 หาย

สรุป 'กฎหมาย PRTR' ถ้าไม่โดนรัฐบาลปัดตกในวันนั้น วันนี้ประเทศไทยคงไม่ต้องกังวลกรณีซีเซียม-137 หาย เพราะเรื่องสารเคมีไม่ควรเป็นความลับต่อประชาชน

ความโกลาหลเกิดขึ้นหลังจากที่ทางจ.ปราจีบุรี ได้รับแจ้งว่า ซีเซียม-137 หายไปจาก โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ต้องระดมกำลังค้นหา เนื่องจาก ซีเซียม-137 เป็นสารกัมตรังสีที่อันตราย หากมีการใช้ผิดวิธี หรือทำลายผิดวิธีจะส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อม ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อย่างมาก   

 

 

เหตุการณ์ ซีเซียม-137 สูญหายในครั้งนี้ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้เคยมีเหตุกาณ์โคบอลต์-60 ที่มีคนเก็บของเก่าเก็บมาโดยที่ไม่รู้ สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนไทยมาแล้วเช่นกัน เรื่องราวการสูญหายของสารเคมีอันตรายทั้ง 2 ครั้ง ต่างทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามถึงการกำกับดูแล โรงงานอุตสาหกรรม โรงงานไฟฟ้าที่จำเป็นจะต้องมีสารเคมีอันตรายเป็นตัวตั้งต้นว่าควรจะมีกฎหมายออกมาควบคุม และจำเป็นจะต้องเผยแพร่รายละเอียดให้แก่ประชาชนโดยรอบพื้นที่ทราบหรือไม่ 

 

 

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีพรรคการเมือง และภาคประชาชนพยายามเสนอ กฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) หรือ "กฎหมาย PRTR" แต่น่าเสียดายที่สภาฯ ปัดตกกฎหมายฉบับดังกล่าวไป  หากลองทำความเข้าใจ "กฎหมาย PRTR" กันอีกรอบ จะเห็นได้ว่ากฎหมายมีการระบุรายละเอียดในเรื่องของการจัดการสารเคมีอันตรายอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน การเคลื่อนย้ายสารเคมี และการเปิดข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ 

 

 

  • "กฎหมาย PRTR" คืออะไร  

 

กฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) ทั่วโลกเริ่มมีการใช้กฎหมายการปลดปล่อยและย้ายมลพิษ โดยกฎหมายดังกล่าวนั้นว่าด้วยการบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผย ข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากกระบวนการผลิตให้ภาคประชาชนนั้นสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบที่มาของมลพิษที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมได้  

 

แต่ปัจจุบันไม่ได้มีการบังคับโรงงานอุตสาหกรรมให้รายงานสารพิษให้ประชาชนแต่มีเพียงการใช้กฎหมายที่กระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 7 ซึ่งระบุให้โรงงานอุตสาหกรรมที่มีสารเคมี หรือสารพิษต้องจัดทำข้อมูลรายงานต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น 

 

 

  • ความสำคัญของ "กฎหมาย PRTR"


อย่างไรก็ตาม "กฎหมาย PRTR" ไม่ได้เป็นเพียงกฎหมายที่ช่วยในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการจัดการปัญหามลพิษ และการตัดสินใจดำเนินโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ยังทำให้รัฐทราบสถานการณ์และแนวโน้มการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น เหตุระเบิด ไฟไหม้ สารเคมีสูญหาย จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจัดการปัญหาได้อย่างตรงจุด ทราบปริมาณสารมลพิษที่มีอยู่ทั้งหมดในโรงงานในทันที

 

 

นอกจากนี้กฎหมายฉบับดังกล่าวยังเปิดโอกาสภาคเอกชนดำเนินกิจการได้อย่างเปิดเผยและโปร่งใส และยังทำให้เกิดการตรวจสอบกระบวนการผลิต และกำจัดสารพิษ สารเคมี เพราะประชาชนจะตรวจสอบได้ว่า โรงงาน เหมืองแร่ หรือแม้แต่ชุมชนของตนเองมีสารมลพิษอยู่รอบๆ ตัวบ้าง มีการปล่อยมลพิษอะไรสู่สิ่งแวดล้อมบ้าง ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นควัน น้ำเสีย หรือขยะพิษ ขยะอุตสาหกรรม  

 

 

แต่การที่ประเทศไทยไม่มี "กฎหมาย PRTR" เปรียบเสมือนการเปิดช่องว่างให้นักลงทุน โรงงานอุตสาหกรรม หาผลประโยชน์จากการที่ไม่ต้องรายงานจำนวนสารพิษที่แท้จริงให้แก่หน่วยงานภาครัฐทราบ รวมไปถึงลดต้นทุนในการกำจัดสารเคมีได้ด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่มีเอกชนหลายรายไม่เห็นด้วยกับการออก "กฎหมาย PRTR"

 

 

นอกจากนี้อาจมีผลทำให้โรงงานอุตสาหกรรมใช้สารเคมีที่อันตรายและส่งผลกระทบรุนแรง หรือในกรณีที่ไม่คาดคิดอาจจะเกิดการลักสารเคมีไปใช้ในทางที่ผิด หรืออาจจะเกิดกรณีสารเคมีสูญหายแบบเหตุการณ์ ซีเซียม-137 สูญหายจากโรงผลิตไฟฟ้าได้ 

 

 

  • "กฎหมาย PRTR" ถูกปัดตกเพราะอะไร  

 

สาเหตุที่ "กฎหมาย PRTR" ถูกปัดตกนั้น เพราะมีบางมาตรา เข้าข่ายร่างพ.ร.บ.เกี่ยวข้องกับการเงิน จึงต้องผ่านการพิจารณาจากนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560  

 

 

ปัจจุบันมีกว่า 50 ประเทศที่ใช้  "กฎหมาย PRTR" เป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน และแน่นอนว่า หากที่ผ่านมารัฐบาลไม่ปัด  "กฎหมาย PRTR" ทิ้งไปวันนี้ประชาชนก็คงจะต้องไม่หวาดระแวง หรือตื่นตระหนกกับเหตุการณ์สาร ซีเซียม-137 หลุดหาย จนถูกนำเข้าโรงหลอมและถลุงเป็นฝุ่นแดง และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดที่ให้ความชัดเจนได้ว่าตกลงแล้ว ซีเซียม-137  มีอันตรายมากน้อยเพียงใด ประชาชนในพื้นที่จะต้องปฏิบัติอย่างไรกันแน่ 

ข่าวยอดนิยม