ชีวิตดีสังคมดี

อุตสาหกรรม 'อาหาร' ทำโลกร้อนมากขึ้น มหิดลผุดแนวคิดสร้างอาหารที่ยั่งยืน

22 มี.ค. 2566

อุตสาหกรรมผลิต 'อาหาร' ทำโลกร้อนขึ้น 35% ส่วน อาหารแช่แข็ง ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก มหิดลผุดแนวคิดสร้างความยั่งยืนในกระบวนผลิตสอนเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์

ไม่เพียงนัก สิ่งแวดล้อม เท่านั้นที่จะมาเปลี่ยนโลกให้เป็นสีเขียว แต่ด้วยกระบวนทางสังคมศาสตร์จะทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน โดยมีจุดหมายปลายทางเดียวกัน คือ จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนจากการทำให้คนในสังคมร่วมมือกันก้าวข้ามผ่านปัญหาต่างๆ ที่จะมาทำร้ายโลกต่อไปในอนาคต

 

 

รศ.ดร.คนางค์ คันธมธุรพจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ร้อยละ 35 ของภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น มาจากอุตสาหกรรมการผลิต "อาหาร" ซึ่งมีเบื้องหลังมาจากการเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืชโดยไม่ใส่ใจถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังรวมถึงการเดินทางของ "อาหาร" ที่นอกจากจะทำให้เกิด ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการสิ้นเปลือง จากที่ต้องเผาผลาญพลังงานเชื้อเพลิงที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติ และกระบวนการเก็บรักษา "อาหาร" ที่ยิ่งจะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่โลกเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย อาทิ จากกระบวนการผลิตอาหารแช่แข็ง เป็นต้น

 

 

ปัญหาดังกล่าว จึงกลายเป็นโจทย์วิจัยเพื่อสร้างระบบ "อาหาร" ที่ยั่งยืนสำหรับโลกในอนาคตที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัว ร่วมวิจัยโดย รองศาสตราจารย์ ดร.คนางค์ คันธมธุรพจน์ ในโครงการวิจัยระดับโลก Feast Project ซึ่งริเริ่มขึ้นโดยสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นที่มีบทบาทในระดับโลกจนสิ้นสุดโครงการ 

ตัวอย่างกิจกรรมตามแนวคิด "Post-growth" ที่กำลังขยายผลไปทั่วโลก คือ ระบบเกษตรกรรมที่สนับสนุนโดยชุมชน Community Supported Agriculture - CSA โดยเกษตรกรมีหน้าที่ปลูกผักและส่งให้ผู้บริโภคผ่านระบบสมาชิกที่ต้องจ่ายเงินล่วงหน้า ทำให้เกิดการสร้างงานในชุมชน พร้อมทั้งสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้มีช่องทางการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรได้มากขึ้น จากการมีผู้รับซื้อที่แน่นอน

 

รศ. ดร.คนางค์ คันธมธุรพจน์

 

นอกจากนี้ ยังได้มีการใช้กระบวนการทางสังคมศาสตร์ อาทิ ด้วยการเปิดเยี่ยมชมพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเกษตรกรและผู้รับซื้อในชุมชน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในการรับผิดชอบดูแลซึ่งกันและกันในชุมชน เป็นต้น

 

ในส่วนของประเทศไทยได้มีการริเริ่มดำเนินตามแนวคิด Post-growth กันบ้างแล้ว โดย ตลาดสุขใจ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ตอกย้ำให้เห็นพลังจากการรวมตัวกันของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครปฐมที่มาร่วมผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ส่งจำหน่ายทั้งในเขตชุมชนและเขตเมืองจนเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างแพร่หลาย 

 

ซึ่งผู้วิจัยตั้งใจจะขยายผลแนวคิด "Post-growth" ในการวิจัยเรื่องต่อไป โดยเน้นไปที่ช่องทางร้านอาหารอินทรีย์ว่าจะมีกลยุทธ์และมีโมเดลทางธุรกิจที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้ผู้บริโภคมีอาหารสุขภาพมายกระดับคุณภาพชีวิตให้มีสุขภาพที่ดี และปลอดภัยจากสารเคมีได้มากขึ้นต่อไปในวงกว้าง

 

จากประสบการณ์ทำงานวิจัยในระดับโลกทำให้ผู้วิจัยได้ฝากแง่คิดทิ้งท้ายถึงสาเหตุที่คนไทยส่วนใหญ่ยังคงไม่อาจเข้าถึงแนวคิด "Post-growth" ได้เท่าที่ควร เหมือนอย่างบางประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นเพราะส่วนใหญ่ยังคงติด "กับดักทางความคิด" ในเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนว่าเป็นหน้าที่ของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว แท้จริงแล้วผู้บริโภคคือพลังสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่คิด