“สภาพอากาศ” ประจำวันที่ 28 พ.ค. 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือน ฉบับที่ 6 เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน ซึ่งจะมีผลกระทบในช่วงวันที่ 28-30 พ.ค. 2566 ทำให้หลายจังหวัด เจอฝนตกหนัก และอาจเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน
กรมอุตุนิยมวิทยา รายงาน สภาพอากาศ ระบุว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมประเทศไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศกัมพูชาและเวียดนามตอนล่าง จะเคลื่อนผ่านประเทศไทยและลงสู่อ่าวมะตะบัน ประเทศเมียนมา
ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ สภาพอากาศ ในประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีสมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้
วันที่ 28 พ.ค. 2566
- ภาคเหนือ : จ.ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาพสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ อุบลราชธานี
- ภาคกลาง : จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้ง กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
- ภาคตะวันออก : จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้ : จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 29-30 พ.ค. 2566
- ภาคเหนือ : จ.ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์
- ภาคกลาง : จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑส
- ภาคตะวันออก : จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้ : จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าว เดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็ก บริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 30 พ.ค. 2566
อัปเดต พายุมาวาร์
สถานการณ์พายุไต้ฝุ่น "มาวาร์ (MAWAR)" บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อเย็นวันที่ 27 พ.ค. 2566 มีศูนย์กลาง ในมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจาก เกาะลูซอล ประเทศฟิลิปินส์ 995 กม. ยังเคลื่อนตัวทางตะวันตก และคาดว่ามีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวโค้งกลับทางเกาะไต้หวัน (ไม่เคลื่อนเข้าสูประเทศไทย)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง