"Digital Foot Print" คำที่ถูกค้นหา และถูกพูดถึงบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา สำหรับ "Digital Foot Print" ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องที่จะอยู่กับมนุษย์นับจากนี้ต่อไปตลอดกาล แต่จะอยู่ในรูปแบบไหนอยู่แบบดีต่อตัวเอง หรือย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง แน่นอนว่าเจ้าของเรื่องราวเป็นผู้ที่สามารถกำหนดเองได้
ที่ผ่านเราคงเคยเห็นเหล่าคนดัง คนมีชื่อเสียงที่ถูก "Digital Foot Print" กลับมาเล่นงานซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะร่องรอยที่เราทิ้งไว้บนโลกออนไลน์เปรียบเสมือนรอยเท้าที่ตามติดตัวเราไปตลอด และไม่มีวันหมดอายุ เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าเรื่องราวในอดีตที่เคยทำไว้บนโลกออนไลน์จะถูกหยิบยกมาพูดถึงตอนไหน บางคนถูก "Digital Foot Print" กลับมาทำลายตอนมีชื่อเสียง และถึงตอนนั้นถึงแม้ว่าจะออกมาขอโทษหรือแก้ไขก็คงช่วยได้ แต่คงไม่สามารถลบรอยอดีตได้
ในเมื่อ "Digital Foot Print"ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ลบได้ไม่หมด แล้วเราจะทำอย่างไรไม่ให้ "Digital Foot Print" สามารถย้อนกลับมาเล่นงานเราทีหลังได้ โดย ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย อธิบาย ร่องรอยของ "Digital Foot Print" ว่า หากพูดให้เข้าใจง่ายๆ มันคือรอยเท้าของการกระทำของเราที่อยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งเกิดจากโพสต์ข้อความ โพสต์รูปภาพบนโซเชียลมีเดีย โดยที่ ณ ขณะนั้นเราอาจจะนึกไม่ถึงว่าเรื่องราวเก่าๆ ในอดีตจะย้อนกลับมาหาตัวเราในอนาคต หลายครั้งที่เราเห็นข่าวว่าคนดัง คนมีชื่อเสียง หรือคนที่กำลังจะมีชื่อเสียง กลับโดนแชร์เรื่องราวที่เคยทำไว้บนโลกออนไลน์ จนสุดท้ายต้องออกมาขอโพสต์ถึงเรื่องราวในอดีตที่เคยแสดงความเห็นหรือโพสต์ไว้
กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เราและสังคมเห็นว่าไม่มีคำว่าพื้นที่ส่วนตัวในโลกออนไลน์ จริงอยู่ที่ว่าโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ของเรา แต่อย่าลืมว่ามันมีเจ้าของเซิร์ฟเวอร์อยู่ ดังนั้นไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไหร่ใครๆ ก็สามารถย้อนกลับไปหาโพสต์เก่าๆ ที่เราเคยเขียนแสดงความคิดเห็น หรือโพสต์รูปภาพ ซึ่งกรณีเช่นนี้จะเรียกว่าโดนขุด ก็คงไม่ถูก เนื่องจากการโพสต์หรือแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลบางครั้งไม่ต้องขุดแค่เลื่อนหาก็เจอแล้ว
- "Digital Foot Print" ตั้งสติก่อนโพสต์ ดีกว่าไล่ลบ หรือขอโทษทีหลัง
แล้วจะทำอย่างไรก็ไม่ให้โดน "Digital Foot Print" ย้อนกลับมาทำร้ายทีหลังแน่นอนว่า การไม่โพสต์ หรือแสดงความเห็นอะไรอาจจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถห้ามความคิด หรือความรู้สึกของเราเองได้ บางคนการได้ระบายทางโซเชียลเป็นอีกหนึ่งทางที่ช่วยเยียวยาความเครียด แต่ไม่ว่าจะโพสต์แสดงความคิดเห็นอะไร หรือโพสต์รูปอะไรเจ้าของบัญชีควรตั้งสติและถามตัวเองซ้ำๆ ว่าต้องโพสต์ หรือแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัว และเรื่องที่มีผลกระทบในสังคม การด่าทอคนอื่น ยิ่งจะต้องคิดให้หนัก เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอนาคต มันจะย้อนกลับทำลายเราตอนไหน ดังนั้นการยั้งคิด มีสติ ก่อนโพสต์หรือแชร์ จึงดีกว่าการกลับไปไล่ลบ เพราะในโลกออนไลน์ข้อมูลเหล่านี้ไม่มีอายุไขสามารถอยู่ได้ตลอดไปแม้ว่าเข้าของเรื่องราวจะไม่อยู่
- PDPA กฎหมายนี้จะป้องกันเราจาก "Digital Foot Print" ได้หรือไม่
จริงอยู่ที่ว่ากฎหมาย PDPA ถูกร่างขึ้นมาเพื่อปกป้องเหยื่อ แต่ดูเหมือนว่าเหยื่อที่มาจาก "Digital Foot Print" ไม่ได้เข้าข่ายที่จะได้รับารปกป้องด้วย เพรากฎหมาย PDPA เป็นกฎหมายป้องกันกรณีที่หน่วยงาน องค์กรดูแลข้อมูลของเราไม่ได้ แต่ไม่ได้รวมถึงกรณีที่เราโพสต์แล้วถูกดึงภาพกลับมาพูดถึง เพราะ "Digital Foot Print" คือเรื่องราวที่เราเต็มใจ และสมัครใจจะแชร์ให้กลุ่ม หรือผู้ติดตามเห็นความเคลื่อนไหวของเรา ดังนั้นหากโดนทำร้ายด้วย "Digital Foot Print" สิ่งที่ทำได้คือการแจ้งความในข้อหาหมิ่นประมาท ทำให้เสียชื่อเสียงเท่านั้น
- "Digital Foot Print" ทำลายคนไม่ผิดจริงแล้วจะปกป้องช่วยเหลือได้อย่างไร
ดร.ศรีดา อธิบายเกี่ยวกับกรณีที่บางคนโดนทำลายด้วย "Digital Foot Print" แต่เป็นร่องรอยที่เขาไม่ได้ทำขึ้นจริง มีการตัดสินคดีไปแล้วประเด็นนี้เป็นเรื่องที่จะต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกระทำด้วย เพราะหลายครั้ง "Digital Foot Print" ก็เล่นงานคนที่ไม่มีความผิด ดังนั้นจึงต้องมีกฎหมาย RIGHT TO BE FORGOTTEN สิทธิในการลบข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจำเป็นสำหรับคนที่ตกเป็นเหยื่อในทางปฏิบัติ
ท้ายที่สุดรอยเท้าบนโลกออนไลน์ "Digital Foot Print" จะกลับมาหาตัวเราในปัจจุบัน และอนาคตได้หรือไม่ เราเป็นผู้กำหนดมันตั้งแต่แรก และนอนว่าการตั้งสติก่อนโพสต์จะช่วยปกป้องเราได้ดีที่สุด ดีกว่าการไล่ลบ หรือเอ่ยคำขอโทษ เพราะวันนี้เราขอโทษ หน้าต่อๆ ไปเราอาจจะเล่นงานอีกและต้องขอโทษซ้ำๆแบบเดิมตลอดไปก็ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง