ชีวิตดีสังคมดี

โรงเรียนแห่งแรก! เรียนลูกเสือเนตรนารี แต่ไม่ต้องสวมชุดก็ได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครู "โรงเรียนวัดโบสถ์ (ศุภพิทยาคาร)" เยี่ยมบ้านนักเรียน 100% พบส่วนใหญ่ยากจน ผอ.เขต 2 อยุธยา สั่งปรับวิถีการเรียนการสอนสอดคล้องสภาพผู้เรียน ไม่บังคับใส่ชุดลูกเสือเนตรนารี ช่วยลดภาระผู้ปกครอง พร้อมเปิดเหตุผลทำไมต้องเรียนลูกเสือ และลูกเสือมีจุดเริ่มต้นจากไหน

โลกโซเซียลแชร์กันสนั่น 6 ชั่วโมงเกือบ 6,000 แชร์ เมื่อ "โรงเรียนวัดโบสถ์ (ศุภพิทยาคาร)" https://www.facebook.com/profile.php?id=100052005020485&mibextid=ZbWKwLโพสต์ข้อความประกาศว่า ไม่บังคับให้นักเรียนแต่งชุด "ลูกเสือเนตรนารี" ปรับยืดหยุ่น-ลดภาระผู้ปกครอง ขอเพียงนักเรียนมีผ้าพันคอ ก็สามารถเรียนได้ โดยข้อความระบุว่า "ประกาศเรื่องการแต่งกายชุดลูกเสือในวันพุธของทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นการปรับยืดหยุ่นและลดภาระผู้ปกครอง ทางโรงเรียนไม่บังคับแต่งชุดลูกเสือ-เนตรนารี ขอเพียงนักเรียนมีสัญลักษณ์ผ้าผูกคอก็สามารถมาเรียนได้"
 

ออกประกาศผ่านเฟซบุ๊กโรงเรียน เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566

 

 

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังโรงเรียนเพื่อคล้ายข้อสงสัยว่า แนวคิดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะเหตุผลใดจึงออกประกาศ คำตอบที่ได้คือ  คุณครูลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนทุกคน พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะค่อนข้างยากจน และทราบปัญหาของผู้ปกครอง จึงนำข้อมูลกลับมาประชุมหารือ

 

 

กิจกรรมทางโรงเรียน เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โรงเรียนวัดโบสถ์ (ศุภพิทยาคาร)

 

 

แนวทางช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มนี้ เบื้องต้นได้ ปรับรูปแบบการแต่งกายให้สอดคล้องกับสภาพบริบทของโรงเรียน สอดคล้องกับสภาพผู้เรียน โดยยืดหยุ่นให้นักเรียนที่ไม่มีความพร้อมในการซื้อชุด "ลูกเสือเนตรนารี" สามารถใส่แค่ผ้าผูกคอมาเรียนได้ ส่วนนักเรียนที่มีความพร้อมสามารถแต่งมาได้ตามปกติ 

"ท่าน ผอ.เขต 2 อยุธยา เน้นระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนมากๆ ช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน ให้คุณครูลงเยี่ยมบ้านนักเรียนทุกคน 100% ทำให้โรงเรียนได้ทราบถึงสภาพปัญหาของผู้ปกครอง ส่วนใหญ่ค่อนข้างยากจน โรงเรียนจึงหาแนวทางช่วยเหลือ" คุณครูโรงเรียนวัดโบสถ์ (ศุภพิทยาคาร) กล่าว

 

 

นโยบายนี้เป็นแนวคิดของ "นายนพคุณ ลัคนาวิเชียร" ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยาเขต 2 โดยเน้นระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุกด้าน หลังจากนี้โรงเรียนจะหาแนวทางช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มนี้ต่อไป

 

 

ความคิดเห็นส่วนใหญ่ชื่นชมและเห็นด้วยกับวิสัยทัศน์ผู้บริหารสถานศึกษา

 

 

หลังจากโพสต์นี้ถูกเผยแพร่ออกไป มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่ให้ความชื่นชมวิสัยทัศน์ผู้บริหาร และบางคนต้องการให้เป็นนโยบายมาตรฐานเดียวกัน เพราะชุด "ลูกเสือเนตรนารี" ราคาแพง

 

 

  • เปิดราคาชุด "ลูกเสือเนตรนารี"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจราคาชุด "ลูกเสือเนตรนารี" สามัญ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 พบว่า ชุดลูกเสืออยู่ที่ 980-3,240 บาท ส่วนชุดเนตรนารีอยู่ที่ 982-2,410 บาท  ปรับขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 20%

 

 

ชุดลูกเสือสามัญ 1 ชุด มีหมวก 90-100 บาท, เสื้อ  230-750 บาท, กางเกง  250-700 บาท, ผ้าผูกคอ 30-50 บาท, เข็มขัด 40-250, ถุงเท้า 35-70 บาท, รองเท้า  270-1,000 บาท, ปักชื่อ 90-120 บาท และอุปกรณ์อื่น 200 บาท

 

 

เนตรนารีสามัญ 1 ชุด มีหมวก  90-100 บาท, เสื้อ 230-750 บาท, กระโปรง 300-600 บาท, ผ้าผูกคอ  30-50 บาท, เข็มขัด 70-170 บาท, ถุงเท้า  42-50 บาท, รองเท้า  240-370 บาท, ปักชื่อ 90-120 บาท และอุปกรณ์อื่นๆ  200 บาท

 

 

คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมต้องเรียนลูกเสือ เรียนไปเพื่ออะไร "คมชัดลึก" จึงหาคำตอบ และพบว่า พระราชบัญญัติลูกเสือ   พ.ศ. 2551  มาตรา 9 ระบุไว้ว่า ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนงานของคณะลูกเสือแห่งชาติ เพื่อให้มีศักยภาพทางกาย สติปัญญา สังคม จิตใจ และศีลธรรมให้แก่เยาวชนเป็นรายบุคคล เพื่อให้เขาเป็นพลเมืองดีมีความรับผิดชอบ ในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชนในท้องถิ่นในชาติและในชุมชนระหว่างนานาชาติ

 

 

ชาวเน็ตอีกหลายคนสงสัยทำนองว่า เรียนไปทำไม เรียนแล้วได้อะไร เกิดประโยชน์อะไรกับชีวิต ทำไมจึงต้องเรียนวิชาลูกเสือ และวิชานี้มีความสำคัญมากมายขนาดไหน จึงต้องถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของ ศธ.มาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน 

 

 

  • ทำไมต้องเรียน "ลูกเสือเนตรนารี"

      
"อ.สมมาต สังขพันธ์" ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาลูกเสือและบุคลากร สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ บอกเล่าถึงหัวใจสำคัญของการเรียนลูกเสือว่า ย้อนไปหลายสิบปีก่อนหน้านี้ การเรียนลูกเสือจะมีหลักสูตรการสอนที่ทำให้ผู้เรียนนำไปใช้ได้จริง มีทั้งการสอนปีนต้นไม้ การใช้กิ่งไม้จุดไฟเมื่ออยู่ในป่า การทำกับข้าว มีการตั้งแคมป์ เข้าค่าย เดินป่า แล้วก็มีการกำหนดให้ลูกเสือสามัญทำหน้าที่เป็นลูกเสือจราจร ให้ความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้แก่คนใช้รถใช้ถนน

 

 

การบำเพ็ญประโยชน์อื่นๆ อีก เช่น ในอดีต หลายๆ โรงเรียนในกรุงเทพฯ ก็จะให้ลูกเสือ เนตรนารี ไปบำเพ็ญประโยชน์ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง คอยช่วยเหลือคนเฒ่าคนแก่ คอยช่วยขนสัมภาระ ขนข้าวขนของขึ้นรถไฟ ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนที่มาใช้บริการ

 


       
มาถึงวันนี้ภาพดังกล่าวแทบไม่มีให้เห็นแล้ว หลายโรงเรียนละเลยกับการเรียนการสอนวิชาลูกเสือ ด้วยเหตุผลที่ต่างมุ่งเน้นให้เด็กนักเรียนเรียนเก่ง สอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ติด ครั้นพอมาถึงชั่วโมงวิชาเรียนลูกเสือ แทนที่จะให้เด็กได้ฝึกฝนการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ได้ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ก็กลับเอาเวลาไปสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุผลนี้เด็กจำนวนไม่น้อยจึงเห็นว่าการเรียนลูกเสือไม่ก่อให้เกิด ประโยชน์อะไรในชีวิต ซึ่งแตกต่างกันในต่างประเทศโดยสิ้นเชิง

  

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงก่อตั้งกิจการลูกเสือไทย เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2454

 

  • จุดเริ่มต้นลูกเสือในไทย

ในประเทศไทยเอง กิจการลูกเสือ เริ่มต้นขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชองค์การโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากองเสือป่าขึ้นก่อน เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2454 เพื่อฝึกอบรมข้าราชการพลเรือน ให้เรียนรู้วิชาการด้านทหาร เพื่อเป็นกำลังสำรองในยามเกิดศึกสงคราม และเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อประชาชนในยามสงบ เช่น ช่วยปราบปรามโจรผู้ร้าย เป็นต้น

 

 

นอกจากนี้ ยังทรงเห็นว่า ลูกเสือจะช่วยให้คนไทยรู้จักรักชาติ มีมนุษยธรรม มีความเสียสละ สามัคคี และมีความกตัญญูกระทั่งอีก 2 เดือนถัดมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่ากิจการเสือป่าเจริญก้าวหน้ามั่นคงดีแล้ว พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการจัดตั้งกองลูกเสือขึ้น ในวันที่ 1 ก.ค. ซึ่งถือเป็นประเทศที่ 3 ของโลกที่จัดตั้งกองลูกเสือขึ้น ต่อจากประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา โดยผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นลูกเสือไทยคนแรก คือ "นายชัพพ์ บุนนาค" 

 

 

จากนั้นนานาชาติในยุโรปจึงจัดตั้งกองลูกเสือของตนขึ้นบ้าง ทำให้ลูกเสือกลายเป็นองค์การสากล และมีความสัมพันธ์กันทั่วโลก โดยถือว่าลูกเสือทั่วโลกเป็นพี่น้องกันหมด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ