ชีวิตดีสังคมดี

ป่วยเอชไอวีหน้าใหม่ ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น พ่วงท้องไม่พร้อม สถานการณ์น่าห่วง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พฤติกรรมเสี่ยงวัยรุ่นขายบริการออนไลน์ นักเรียน นักศึกษาอยู่หอพักมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน 'ติดเชื้อเอชไอวี’ รายใหม่แค่ปีเดียวนับพันคน พ่วงปัญหาท้องไม่พร้อม เชื้อติดจากแม่สู่ลูก รัฐฯ เดินหน้ายุติเอดส์ด้วยการแจกถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิด

ประเทศไทยได้รับคำชมเชยจากนานาชาติถึงประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วย  "ติดเชื้อเอชไอวี" (HIV)   หนึ่งในภารกิจสำคัญคือ ยุติเชื้อ HIV ภายในปี 2573 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า ทว่าอัตราผู้ติดเชื้อยังน่าเป็นห่วง

 

 

ปี 2564 มีจำนวนผู้ป่วย 520,000 คน เฉลี่ยวันละ 16 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 6,500 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น วัยเรียน และยังพบเสี่ยงติดโรคทางเพศสัมพันธ์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสและหนองในในกลุ่มอายุ 15-24 ปี นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า ผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีโอกาสการติดเชื้อ HIV มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ป่วยถึง 5-9 เท่า

"เฉลิมพล พลมุข" รองประธานมูลนิธิธรรมรักษ์ เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การ "ติดเชื้อเอชไอวี" มาจากพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของวัยรุ่นวัยเรียนคือ การหาเงินจากการขายบริการทางเพศผ่านสังคมออนไลน์ วัยรุ่นบางคนท้องในวัยใสขณะเรียนหนังสือ ต้องออกจากระบบการศึกษา บางคนกลายเป็นยุวอาชญากรของสังคมที่ต้องโทษอยู่ในทัณฑสถานอยู่ทั่วเมืองไทย

น่าสนใจว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของโควิด 19 วัยรุ่นวัยเรียนหลายคนที่สถาบันการศึกษาใช้ระบบการเรียนแบบออนไลน์ ต้องเรียนอยู่ที่บ้านหรือหอพัก เขาเหล่านั้นมีอิสระเสรีภาพในชีวิตทั้งกิน ดื่ม เสพ เที่ยว การพนัน ยาเสพติด อาจรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่หลายหลาก

 


"พฤติกรรมการซื้อขายบริการทางเพศในรูปแบบต่างๆ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้มีการป้องกัน ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย ทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ ยังเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ติดเชื้อ ซึ่งไม่ต่างจากหลายทศวรรตที่ผานมา" "เฉลิมพล" ระบุ

 

 

ขณะเดียวกันก็มีความสลับซับซ้อนไปตามบริบทของสังคม กิจการในการดูแลผู้ "ติดเชื้อเอชไอวี" ผู้ป่วยเอดส์ที่เป็นขององค์กรเอกชน NGO ต่างๆ ได้ปิดกิจการไปจำนวนมาก ผู้คนทั่วไปจำนวนหนึ่งมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ "ติดเชื้อเอชไอวี" ผู้ป่วยเอดส์ ระบบยาต้านไวรัสมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวียืนยาวมากขึ้น

 

 

แต่ก็มีคำถามตามมาว่า เหตุใดระยะเวลาที่ยาวนานของสถานการณ์ "เอดส์" ในสังคมไทย จึงไม่สามารถปรับเปลี่ยนความรู้ ความเชื่อ ความคิดของครอบครัวบางสังคมได้อย่างสมบูรณ์แบบ

 


รัฐบาล โดยสำนักนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ ยอมรับเต็มปากว่า มีความเป็นห่วงกลุ่มวัยรุ่น ปี 2566 อัดงบประมาณให้ "สำนักงานหลักประกันวุขภาพแห่งชาติ" (สปสช.) ปี 2566 จำนวนเกือบ 4,000 ล้านบาท ให้บริการการรักษาด้วยยาต้านไวรัส การตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ การตรวจคัดกรองและการตรวจยืนยันไวรัสตับอักเสบซี

 

 

แผนนี้ให้บริการตั้งแต่ขอรับชุดตรวจหา HIV ฟรี ทำแบบประเมินหาความเสี่ยง ขอรับคำปรึกษาจากแพทย์เชี่ยวชาญ และค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยข้อมูลจะถูกเก็บเป็นความลับ

 

 

"ตู้เลิฟปัง รักปลอดภัย" ที่ท่าเรือแหลมบาลีฮาย พัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง

 

 


การค้นพบผู้  "ติดเชื้อเอชไอวี" รายใหม่ถือเป็นความสำเร็จอีกประการ นำไปสู่แผนการป้องกันการติดต่อของโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง สปสช.มุ่งไปที่การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย จึงริเริ่มแจก "ถุงยางอนามัยฟรี" ให้วัยเจริญพันธุ์ ป้องกันทั้ง "ติดเชื้อเอชไอวี" โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงภาวะท้องไม่พร้อมตามสิทธิประโยชน์ "บัตรทอง"

 

 

ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า ในปี 2564 อัตราการคลอดในกลุ่มเด็กอายุ 15-19 ปีอยู่ที่ 25 ต่อ 1,000 ประชากร ลดลงจากปี 2563 ซึ่งมีอัตราอยู่ที่ 28.7 ต่อ 1,000 ประชากร แม้ตัวเลขทางสถิติจะลดลง แต่ปัญหาดังกล่าวยังจำเป็นต้องเร่งแก้ไข เพราะการตั้งครรภ์ไม่พร้อม จะนำไปสู่การเกิดที่ด้อยคุณภาพ ยิ่งส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านโครงสร้างประชากรให้รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

 

 

"ตู้เลิฟปัง รักปลอดภัย" ที่ท่าเรือแหลมบาลีฮาย พัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง

 


ถุงยางอนามัยจำนวน 94,566,600 ชิ้น ภายใต้สิทธิประโยชน์ "บัตรทอง" เพื่อประชาชนกลุ่มวัยเจริญพันธุ์ ภายใต้แคมเปญ "เลิฟปัง รักปลอดภัย" โดย 1 คนจะได้รับถุงยางอนามัยครั้งละ 10 ชิ้น/สัปดาห์ ไม่เกิน 52 ครั้ง/คน/ปี สามารถรับได้ที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่เข้าร่วมให้บริการในระบบบัตรทอง ด้วยการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" บนสมาร์ทโฟน

 

 

สำหรับกรณีผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน สามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนลงทะเบียนและรับบริการได้ที่หน่วยบริการโดยตรง และเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด ได้จัดตู้แจกถุงยางอนามัยอัตโนมัติ "เลิฟปัง รักปลอดภัย" จำนวน 7 จุด โดยนำร่องที่ท่าเรือแหลมบาลีฮายพัทยา จ.ชลบุรี

 

 

   "ตู้เลิฟปัง รักปลอดภัย" ที่ท่าเรือแหลมบาลีฮาย พัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง

 

 

ส่วนพิกัดอีก 6 จุด ได้แก่  โรงพยาบาลเมืองพัทยา จ.ชลบุรี, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ, ตลาดต้นสัก อ.เมือง จ.นนทบุรี,  ห้างสุขอนันต์ ปาร์ค สระบุรี, มหาวิทยาลัยรังสิต ตึกเภสัชศาสตร์ และที่ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยา

 

 
อย่างไรก็ตาม ทางโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้กระตุ้นให้นานาชาติกลับมาให้ความสำคัญกับการยุติการแพร่ระบาดของ เอดส์ หลังจากพบสัญญาณว่าโรคติดเชื้อชนิดนี้ถูกละเลยไปในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ถึง 7.7 ล้านคนภายในระยะเวลา 10 ปี

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ