ชีวิตดีสังคมดี

ดราม่าม็อบ 'แรงงานต่างด้าว' ต้าน ม.112 มีสิทธิตกงานกลางอากาศ

ดราม่าวันแรงงาน ม็อบ "แรงงานต่างด้าว" เคลื่อนไหวเพราะน้อยใจถูกเรียกว่า "คนต่างด้าว" และขอสิทธิความเท่าเทียม อาจเข้าข่ายผิด ม.112 ส่อถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ออกมาเตือนกลุ่ม "แรงงานต่างด้าว" ที่รวมตัวกันก่อม็อบเคลื่อนไหวเรียกร้อง ความเทาเทียมและสวัสดิการแรงงาน เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติปี 2566 ที่ผ่านมา โดย นายไพโรจน์ กล่าวว่า ขอเตือนไปยัง "แรงงานต่างด้าว" ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยทุกเชื้อชาติ ที่ออกมาเรียกร้องในลักษณะดังกล่าวหากหน่วยงานด้านความมั่นคงพิจารณาแล้วเห็นว่า เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 (ม.112) แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย 

 

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน

 

แม้ว่า "แรงงานต่างด้าว" มีใบอนุญาตทำงาน และเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง แต่เมื่อมีความผิดตามกฎหมาย กรมการจัดหางานมีสิทธิพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างชาตินั้น ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และแจ้งต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อเพิกถอนสิทธิในการอยู่ในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ต่อไปได้

สำหรับ คำว่า "คนต่างด้าว" ที่กลุมแรงงานเหล่านี้มองว่าเป็นการเหยียด นายไพโรจน์ อธิบายว่า  "คนต่างด้าว"  เป็นถ้อยคำตามกฎหมาย ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หมายถึง บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งใช้ทั้งคำว่า "คนต่างด้าว" หรือ "คนต่างชาติ" และ "แรงงานต่างชาติ" หรือ "แรงงานข้ามชาติ" หรือแรงงานต่างด้าว ในการสื่อสารและนำเสนอข่าวมาโดยตลอด เพราะถือว่ามีความหมายและให้คุณค่าที่ไม่แตกต่างกัน

 

 

"เราตระหนักและให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างด้านเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา หรือเพศ" นายไพโรจน์กล่าวสรุป  

 

 

อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบพบว่า ม็อบ "แรงงานข้ามชาติ" ในวันนั้น เป็นแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำงานกับนายจ้าง โดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน นอกจากมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองแล้ว กรมการจัดหางานจะร้องทุกข์กล่าวโทษแก่แรงงานต่างชาติ ในความผิดฐานทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี 

 

 

ส่วนนายจ้างที่จ้าง "แรงงานต่างชาติ" ผิดกฎหมาย ในความผิดฐานให้คนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี