ชีวิตดีสังคมดี

สังคมไทยส่งสัญญาณ 'สงกรานต์เล่นน้ำปลอดภัย' เคารพสิทธิไม่ลวนลามแม้แต่งโป๊

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"คุมคามทางเพศ" เพิ่มขึ้นเท่าตัว ปี 62 พบ 48% แต่ปีนี้ 96% แม้แต่งมิดชิดก็ถูกลวนลาม วอนตำรวจบังคับใช้กฎหมาย กทม.สั่งห้ามถนนเล่นน้ำยอดนิยมขายแอลกอฮอล์ แต่งโป๊ เล่นแป้ง พบอาวุธ เดินหน้าสงกรานต์ปลอดภัย

"สงกรานต์" ครั้งแรกกับคำสั่งเด็ดขาดของ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สงกรานต์ห้ามขาย ซดเหล้า โป๊ แป้ง และห้ามใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง บนถนนยอดนิยมเล่นน้ำสงกรานต์ เช่น ถนนข้าวสาร ถนนสีลม สยาม เป็นต้น ทีมผู้จัดงานให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ภาพปรากฎสัมฤทธิ์ผลระดับหนึ่งในช่วงเปิดงาน กำลังเสริมเจ้าหน้าที่คุมเข้มก่อนเข้างาน ตรวจกระเป๋าทุกใบเพื่อหาสิ่งต้องห้าม ทั้งแอลกอฮอล์ อาวุธ รวมถึงแป้งทุกชนิด

 

 

 

ตรวจกระเป๋าก่อนเข้าพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่สยามสแควร์

 

 

 

สแกนการแต่งกาย โดยเฉพาะสาวๆ นุ่งสั้น หรือแม้สวมเสื้อสีขาวก็ห้ามเข้าเด็ดขาด เมื่อเวลาผ่านไปใกล้ค่ำ นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าพื้นที่ ใช้คำว่าทะลักก็ว่าได้ ทำให้การคุมเข้มหย่อนลงอัตโนมัติ ยิ่งดึกยิ่งคุมยาก ทว่าหากมองในมุมการเริ่มต้น คือการส่งสัญญาณสังคมไทยกำลังก้าวไปสู่ "สงกรานต์ปลอดภัย" เล่นน้ำไม่ดื่ม ลดอุบัติเหตุ เคารพสิทธิไม่คุกคามทางเพศ 

 

 

 

นักท่องเที่ยวที่แต่งกายไม่สุภาพ เจ้าหน้าที่เตรียมผ้าสำหรับปิดให้มิดชิดก่อนเข้าพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่สยามสแควร์

"น.ส.วิริฒิพา ภักดีประสงค์" เล่าถึงประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศในช่วงเทศกาล "สงกรานต์" ว่า  ตอนที่ทำงานออกอีเว้นท์ ได้แต่งกายหลายรูปแบบ รวมถึงแต่งกายเซ็กซี่ ถูกแอบถ่ายในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม และนำไปเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควบคุมยาก จึงมองว่าเป็นปัญหาที่มีมาตลอด ปัจจุบันยิ่งมีมากขึ้น อยากให้ตำรวจลงโทษผู้ที่ละเมิดทางเพศผู้อื่น

 

 

"สถาบันครอบครัวต้องปลูกฝังจิตสำนึกทัศนคติที่ดีเรื่องเพศให้ลูกหลานตัวเอง สิ่งสำคัญอย่าโยนบาปให้ผู้หญิงว่าแต่งตัวให้มีความเสี่ยงเอง แต่ไม่ว่าจะแต่งแบบไหน แต่งเพราะมีความสุขที่จะแต่ง คนอื่นก็ไม่ควรคุกคามทางเพศ คนที่คุกคามผู้อื่นจึงเชื่อได้ว่ามีความผิด 100% เพราะการแต่งตัวของผู้หญิง ไม่ผิดอะไรเลย แม้จะแต่งตัวมิดชิดก็ยังถูกคุกคามได้ สงกรานต์ปีนี้รู้ว่าทุกคนอัดอั้นมานาน แต่ต้องมีสติ มีขอบเขต เคารพสิทธิ เนื้อตัวผู้อื่น เล่นแบบมีอารยะไม่เกินเลย" "น.ส.วิริฒิพา" กล่าว

นักท่องเที่ยวเล่นน้ำสงกรานต์

 

 

 

"มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล" ได้เปิดผลสำรวจการ "คุมคามทางเพศ" หลังจากได้สำรวจความเห็นประชาชนในกรุงเทพฯ ปริมณฑล 1,725 คน วันที่ 24 - 30 มี.ค. 2566 เกี่ยวกับวัน "สงกรานต์" พบว่า 96.5% เคยหรือมีคนรู้จักเคยถูกปะแป้ง 87.9 % ถูกแซว/ผิวปากหรือใช้สายตาจ้องมอง ทำให้อึดอัด 82.4% ถูกก่อกวนจากคนเมาหรือถูกบังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

 

 

 

ส่วนวิธีแก้ปัญหาเมื่อถูกลวนลาม พบเลือกแจ้งความ 37% ตะโกนให้คนช่วย 20.2% บอกผู้ใหญ่ 11.5% ที่น่ากังวลคือมี 8.1% ไม่กล้าบอกใคร สำหรับหน่วยงานที่นึกถึงเมื่อเจอเหตุการณ์ไม่ปลอดภัย คือ สถานีตำรวจ 55.5% ศูนย์แจ้งเหตุในพื้นที่เล่นน้ำ 20.9% เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่ 13.4% 

 

 

 

สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นในช่วงเทศกาล "สงกรานต์" คือ การลวนลามทางเพศ 35.5 % อุบัติเหตุ 22.5 % คนเมาขาดสติ การทะเลาะวิวาท การไม่เคารพสิทธิคนอื่น 

 

 

 

เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจการ "คุมคามทางเพศ" ปี 2562 พบว่ามี 48.7% เคยถูกลวนลามคุกคามทางเพศในช่วงสงกรานต์ หมายความว่าการคุมคามทางเพศเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว หรือเกือบ 100% 

 

 

 

กลุ่มตัวอย่างให้ความเห็นตรงกัน คือ อยากให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการ "ลวนลามทางเพศ" กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด จัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดแอลกอฮอล์ ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศ เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกเพศทุกวัย
 

logoline