ชีวิตดีสังคมดี

ปัญหาใหญ่ 'สถานีชาร์จรถ EV' ของไทยมีไม่พอ สวนทางยอดขายที่ปังสุดในอาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ ชี้ปัญหาใหญ่รถ EV ของไทย แนะพัฒนาจุดชาร์จ เพิ่มกำลังบุคลากรรับเทรนด์เติบโตของตลาด ที่พุ่งขึ้นสูง เป็นอันดับ 1 อาเซียน

'รถ EV'  หรือ ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) จากความคุ้มค่าที่รถ 'EV' ไม่ต้องใช้น้ำมัน โดย รถ EV ใช้ไฟฟ้าในการชาร์จทำให้รถวิ่งได้และตกเฉลี่ยค่าไฟ้ฟ้ากิโลเมตรละไม่ถึงบาท

 

ท่ามกลางวิกฤตน้ำมันที่แพงขึ้นทุกวัน และแบรนด์รถ EV หลายแบรนด์มาตั้งโรงงานในเมืองไทย และทำการตลาดด้วยราคาที่ถูกลงเพื่อให้ลูกค้าที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายและสายรักษ์โลก สอดรับกับนโยบายส่งเสริมการใช้รถ EV ของรัฐบาล

สถานีชาร์จรถ EV

ปัจจุบันประเทศไทย เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่หรือที่เรียกว่า BEV (Battery EV) โดยหากมีรถ BEV วิ่งอยู่ 100 คัน บนถนนทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน “จะมีถึง 60 คัน” ที่วิ่งอยู่ในประเทศไทย จากปีที่ผ่านมาพบว่าประเทศไทย มีรถ BEV ใหม่ประมาณ 10,000 คัน และคาดการณ์ว่าปี 2566 จะมีไม่ต่ำกว่า 40000 คัน

ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า เหตุผลที่รถ BEV ได้รับความนิยมในประเทศไทยเกิดจากการปรับตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงมากขึ้น และนโยบายการส่งเสริมของรัฐบาลทำให้โอกาส

รถ EV  หรือ ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle)

เป็นเจ้าของรถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สถานีชาร์จยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศและพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการใช้งานนั้นยังจำกัดอยู่ โดยจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าในช่วงต้นปี 2566 มีประมาณ 1,000 กว่าแห่ง คิดเป็น 40% ตั้งอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล

 

และส่วนมากหัวชาร์จตามสถานีจะมีแค่ 2 หรือ 3 หัวเท่านั้น หลายแห่งก็ไม่ใช่เครื่องชาร์จ DC แบบเร็ว ส่วนใหญ่จะเป็นหัวชาร์จ AC Type 2 ซึ่งชาร์จได้ช้ากว่า DC มาก การชาร์จแต่ละครั้งยังคงใช้เวลานาน 

 

นอกจากนี้ ปัญหาของผู้ใช้งานรถ EV ที่อาจพบเจอ อาทิ ที่ชาร์จเสีย รถชาร์จอยู่แต่แอปพลิเคชันไม่ได้แจ้งเตือน หัวชาร์จที่ไม่ตรงกับหัวชาร์จของรถ หรือบางครั้งเจอรถที่ชาร์จเต็มแล้วแต่เจ้าของรถไม่อยู่ก็ต้องรอและแท่นชาร์จหลายแห่งติดตั้งอยู่กลางแจ้งไม่มีหลังคา

ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)

เหล่านี้คือปัญหาที่จะต้องเจอหากต้องชาร์จรถ EV จากสถานีชาร์จสาธารณะ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอีกไม่นานระบบ แอปพลิเคชัน และสถานีชาร์จ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

ดร.ชัยพร กล่าวเสริมว่า เรื่องที่คนใช้งานรถ EV กังวล คือ แบตเตอรี่ที่เมื่อเกิดปัญหามีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงตัวเลขหลักแสนบาท ดังนั้นประกันภัยรถ BEV จึงแพงกว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อรถ EV มีปัญหาการขายรถทิ้งไปเลยยังคุ้มกว่าการซ่อมหรือเปลี่ยนแบตเตอรี่ 

 

ดังนั้นเจ้าของรถต้องระวังการขับขี่ที่อาจส่งผลต่อการเสียหายโดยตรงต่อแบตเตอรี่ ซึ่งส่วนมากติดตั้งอยู่ที่พื้นของห้องโดยสารรถ ทำให้ไม่ควรเกิดการครูดใต้ท้องรถ หรือการเกิดความเสียหายที่ด้านข้างรถอย่างแรง เพื่อป้องกันแบตเตอรี่ที่อาจเกิดความเสียหายได้

 

อย่างไรก็ตาม แรงขับเคลื่อนจากฝั่งผู้บริโภคตามกระแสความกังวลต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เด่นชัดขึ้น บวกกับนโยบายส่งเสริมของภาครัฐ ทำให้ตลาดรถ EV ในประเทศไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด         เทรนด์การใช้งานรถ EV ทุกประเภทในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือเราจำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องรองรับการเติบโต ไม่ว่าจะเป็น โรงงานผู้ผลิต ศูนย์ให้บริการซ่อมบำรุงดูแลรักษาทั้งรถและสถานีชาร์จ การดัดแปลงรถเก่าให้เป็น EV รวมทั้งภาคการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่ต้องมีการผลิตบัณฑิตในสาขาที่เกี่ยวข้อง

 

 “ตอนนี้บุคลากรทางด้านรถ EV ในประเทศไทยยังมีน้อย ส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญแต่สาขาทางด้านยานยนต์แบบเดิม โดยเฉพาะระบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่สำหรับรถ EV มีรูปแบบที่ต่างออกไปค่อนข้างมาก อย่างการดัดแปลงรถยนต์เครื่องสันดาปมาเป็นรถ EV ที่นิยมทำกันมากในต่างประเทศ ไม่ใช่แค่การยกเครื่องยนต์ออกแล้วใส่มอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น รวมทั้งการที่ไทยเป็นที่ตั้งฐานการผลิตรถ EV ตรงนี้ก็ทำให้มีความต้องการบุคลากรจำนวนมาก ภาคการศึกษาต้องเร่งสร้างบุคลากรให้ตอบโจทย์และรองรับเทรนด์นี้ให้ทัน ซึ่งการใช้รถ EV ในเมืองไทย เรียกได้ว่ายังมีโอกาสโตขึ้นอีกมาก” 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ