
'กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ RJ' เน้นเจรจา-ไกล่เกลี่ย-ลดการแก้แค้น
พามาทำความรู้จัก 'กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์' (RJ) ภายใต้สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ภารกิจประสานคู่กรณีฟ้องร้องเอาเข้าคุก ให้ปรับความเข้าใจ เจรจาไกล่เกลี่ย จบด้วยพอใจสองฝ่าย
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หรือ Restorative Justice (RJ) เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการยุติธรรมแนวใหม่ของไทย ที่มีการขับเคลื่อนและใช้จริง แต่ไม่ได้เป็นที่รู้จักของสังคมโดยทั่วไปมากนัก
อธิบายง่ายๆ คือ กระบวนการยุติธรรมนี้ เน้นผู้กระทำผิดกับผู้เสียหายปรับความเข้าใจ เจรจา ไกล่เกลี่ยผ่านกระบวนการที่มีคนกลาง จนได้ข้อยุติที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย ทดแทนการนำผู้กระทำผิดเข้าคุก ลดปัญหาที่ตามมาเช่น การแก้แค้น ลดความแออัดของเรือนจำ และกระทำผิดซ้ำ เป็นต้น
นายอุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการการสนับสนุนงานด้านหลักนิติธรรม TIJ เล่าให้เห็นภาพในการจัดอบรมสื่อมวลชน ในห้วข้อ การรายงานข่าวเพื่อผลักดัน " กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์" จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย TIJ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยว่า "กระบวนการเชิงสมานฉันท์" เป็นกระบวนการที่ช่วยให้ผู้กระทำผิดและผู้เสียหายได้มีปฏิสัมพันธ์กันผ่านคนกลางที่มีความเข้าใจด้าน RJ
เป้าหมายเป็นการทำให้คู่กรณีสามารถปรับความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ ผู้กระทำผิดสำนึกผิด และยินยอมในการเข้ารับการช่วยเหลือฟื้นฟู พฤติกรรม พร้อมทั้งเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหาย
ประโยชน์ของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ปัญหา ช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีและช่วยลดการะกระทำผิดซ้ำโดยส่งเสริมให้ผู้กระทำผิดได้เปลี่ยนแปลงตนเอง
ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่า แนวทางแก้ไขเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นของ RJ จะเป็นการใช้วิธีตรงกันข้ามกับการสร้างความเสียหาย ไม่ใช้วิธีการกดขี่ด้วยอำนาจเหนือคนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการนี้ จะมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ให้เกียรติกัน ไม่มุ่งเน้นการประณามให้อับอาย มุ่งให้เกิดการมีส่วนร่วม และมองหาทางออกในอนาคตที่ดีกว่าเดิม แทนที่จะจมอยู่กับความเจ็บปวดในอดีตอย่างเดียว
ดร.พิเศษ ยังบอกถึงบทบาทของสื่อมวลชน ในการส่งเสริมความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ด้วยว่า สื่อไม่ควรกลายเป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้ง สื่อไม่กลายเป็นเครื่องมือของการประณาม และสื่อต้องนำเสนอความจริงมากกว่าความเห็นของคนใดคนหนึ่งหรือหลายๆ คน ที่โต้ตอบกันไปมา
ด้าน นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ อดีตกรรมการสิทธิ์มนุษย์ชนแห่งชาติ เล่าว่า พลังของสื่อในการสร้างความสมานฉันท์ในสังคม สื่อควรมีบทบาทเชิงรุก ในการเผยแพร่ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ คุณประโยชน์ของมนุษย์และสังคม
โดยสื่อจะนำเสนอข่าวอาชญากรรมและความปลอดภัยของประชาชนในมิติที่สนับสนุนความยุติธรรมเชิงแก้แค้นหรือลงโทษมากกว่า แต่การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นเครื่องมือป้องกันอาชญากรรมและแก้ไขอาชญากรด้วยการพาไปบำบัดฟื้นฟูเน้นการเยียวยาผู้เสียหาย
นางประกายรัตน์ บอกถึง เป้าหมายความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ว่า ส่งเสริมการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี สนับสนุนผู้เสียหาย ฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ถูกทำลาย ส่งเสริมความรับผิดชอบส่วนบุคคล มองไปข้างหน้าเพื่อฟื้นฟูความสมานฉันท์ในสังคม และส่งเสริมความปลอดภัยของชุมชนและป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ
แนวทางความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
- อาชญากรรม มิได้เป็นเพียงการละเมิดกฎหมายและละเมิดบรรทัดฐานทางสังคมที่ผู้กระทำความผิดต้องได้รับโทษเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำลายสัมพันธ์อันดีและสร้างความเสียหายแก่ผู้เสียหายอีกด้วย
- ระบบยุติธรรม ไม่ควรเน้นไปที่การจับกุมและ ลงโทษ ผู้กระทำผิดด้วยจุดประสงค์ในการแก้แค้นแทน การยับยั้งการก่ออาชญากรรม และการทำให้ผู้กระทำผิดสูญเสียอำนาจเท่านั้น
- รัฐไม่ควรจำกัดกรอบการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมเพียงแค่การลงโทษเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
- ส่วนใหญ่แล้ว กระบวนการยุติธรรมมักจะมุ่งเน้นไปที่คำถามพื้นฐาน 3 ประการ แต่ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้น คำถามพื้นฐานจะประกอบด้วย 1. ความเสียหายจากการกระทำความผิดคืออะไร 2. ผู้กระทำความผิดยอมรับและแสดงความรับผิดชอบหรือไม่ 3. จะชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร
โดยการอบรมสื่อมวลชนครั้งนี้ ทาง TIJ ได้เล่าถึงตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จที่สุดผ่านหนังสั้นเรื่อง "ก้อนหินที่หายไป" ซึ่งได้ทำเป็นภาพยนตร์สั้นที่อิงจากเหตุการณ์จริง
โดยเหตุการณ์เป็นเด็กที่ปาก้อนหินใส่รถยนต์ทำให้มีผู้เสียชีวิต คือ ตลกร่างแคระคนหนึ่งเมื่อปี 2547 ทางภรรยาผู้ตายไม่ยอมความและเอาเรื่องถึงที่สุด
แต่กระนั้นผู้กระทำความผิดเป็นเยาวชนจึงได้ผลลงโทษที่เหมาะสม และตัวผู้กระทำความผิดสำนึกผิดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาจึงได้มีตัวกลางอย่างกระบวนการ RJ ที่เป็นพื้นที่ตรงกลางให้สองฝ่ายได้พบกัน ปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน ฟังเหตุผลกันและกัน
แม้ว่าในช่วงแรกทางภรรยาของผู้เสียชีวิตยังไม่ยอมเข้าร่วม RJ เพราะยังเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนสุดท้ายก็ได้เห็นผู้กระทำผิดสำนึกผิดกับสิ่งที่ทำลงไปจริงๆ จึงใจอ่อนยอมเข้าร่วม RJ จนปรับความเข้าใจกัน สุดท้ายผู้กระทำผิดได้ดูแลภรรยาผู้ตายเป็นอย่างดีชดใช้ความผิดที่เกิดขึ้นอย่างสมควร