ชีวิตดีสังคมดี

อันตราย! 'PM2.5'​ ในเด็กเล็ก-ทารกในครรภ์ ทำลายสมอง สะสมเสี่ยงมะเร็งปอด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แพทย์เตือน เด็กเล็ก​ ทารกในครรภ์รับฝุ่น​ 'PM2.5'​  แทรกซึมเข้ากระแสเลือด ทำลายเซลล์สมอง กระทบสติปัญญาในระยะยาว​ สะสมนานเสี่ยงมะเร็งปอด

ไม่น่าเชื่อว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน "PM2.5"​ นอกจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะสั้นแล้ว ในระยะยาวยังมีปัญหากับการประกอบอาชีพ และการใช้ชีวิตในอนาคต หลังจาก "พญ.นันทิชา เตภิรมย์กุล" แพทย์ชำนาญการ กุมารแพทย์ระบบทางเดินหายใจ หน่วยระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต  สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ตอกย้ำว่า ฝุ่น "PM2.5" ในเด็กเล็กมีความเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งปัจจุบันและอนาคต กระทบต่อการดำเนินชีวิต

 

 

 

"พญ.นันทิชา" อธิบายว่า ฝุ่น "PM2.5" ผลกระทบต่อสุขภาพ "เด็กเล็ก" และอาการรุนแรงในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เพราะฝุ่น PM 2.5 แทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือด เซลล์สมองถูกทำลาย กระทบต่อสติปัญญา หากสะสมมีความเสี่ยงทำให้เด็กมีสมรรถภาพปอดลดลง และในระยะยาวอาจสะสมจนเกิดโรคมะเร็งปอด

 

 

พญ.นันทิชา เตภิรมย์กุล แพทย์ชำนาญการ กุมารแพทย์ระบบทางเดินหายใจ หน่วยระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต  สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

 

 

ไม่เพียงกระทบต่อ "เด็กเล็ก" เท่านั้น แต่รวมถึงทารกในครรภ์มารดา ซึ่งช่วงอายุครรภ์ 6 เดือนแรก เป็นช่วงสร้างอวัยวะปอด สมอง หัวใจ ทางเดินอาหารให้เจริญเติบโต หากได้รับฝุ่น "PM2.5" เข้าไป ทำให้อวัยวะไม่สมบูรณ์ เซลล์สมองถูกทำลาย ทารกน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ และเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ในที่สุดส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสติปัญญา การเรียนรู้ สมาธิสั้น ความเป็นอยู่ และความสามารถในการประกอบอาชีพในระยะยาว

 

 

มีตัวเลข "เด็กเล็ก" ที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคระบบทางเดินหายใจที่สถาบันสุขภาพเด็กมหาราชินี​ ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2565 เฉลี่ยประมาณเดือนละ 200 ราย และตัวเลขทยานขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั้งช่วง 3 เดือนก่อนหน้านี้เพิ่มขึ้นถึง 600 ราย ซึ่งมากกว่า 2 เท่า ส่วนใหญ่มาด้วยอาการหอบเฉียบพลัน ต้องได้รับการพ่นยาฉุกเฉิน ซึ่งตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมีความสัมพันธ์กับวิกฤตฝุ่น "PM2.5" ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จึงอาจพูดได้ว่า ฝุ่น "PM2.5" เป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กป่วยมากขึ้น และอาการรุนแรงขึ้น

 

 

"ตัวเลขผู้ป่วยที่สูงขึ้น ทำให้ต้องปรับเกณฑ์ค่าเฉลี่ยไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก. /ลบ.ม.) ให้ต่ำลง จากเดิมเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอยู่ที่ไม่เกิน 50 มคก. /ลบ.ม. แต่ด้วยตัวเลขผู้ป่วยเด็กเพิ่มขึ้นจึงลดลงมาอยู่ที่ 37.5 มคก./ลบ.ม.​ ตัวเลขนี้เฝ้าระวังเฉพาะในเด็กเท่านั้น" "พญ.นันทิชา" ระบุ

 

 

คำถามตามมาคือ ทำไม ฝุ่น "PM2.5" ใน "เด็กเล็ก" จึงมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ "พญ.นันทิชา" บอกเพิ่มเติมว่า เด็กเล็กมีรูจมูกเล็ก อัตราการหายใจจึงเร็วกว่าผู้ใหญ่ ยิ่งเล็กยิ่งหายใจเร็ว หมายความว่า หายใจถี่เท่าไหร่ก็สูดเอาฝุ่น "PM2.5" เข้าไปในร่างกายมากเท่านั้น เด็กเล็กจึงเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง และที่สำคัญไปกว่านั้นคือการป้องกัน

 

 

การป้องกันเบื้องต้นคือ การใช้เครื่องฟอกอากาศ เลือกแผ่นกรองอากาศให้เหมาะสมกับขนาดห้อง เลือกใช้หน้ากากอนามัยในกลุ่ม N95 ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ไม่แนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้า เพราะไม่ช่วยกรอง ฝุ่น "PM2.5" นอกจากนี้ ไม่แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยให้เด็กต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะทางเดินหายใจมีขนาดเล็ก หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น ผู้ปกครองอาจมองไม่เห็น เป็นอันตรายต่อเด็กได้ ส่วนเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไปต้องสวมให้ในความดูแลของผู้ปกครองอย่างใกล้ชิดเท่านั้น 

 

 

"ผู้ปกครองต้องสังเกตอาการเด็กๆ ถ้ารับฝุ่น "PM2.5"  เข้าร่างกาย เด็กจะไอแห้ง มีเสหะ ขยี้ตา ขยี้จมูก แต่ถ้าเป็นเด็กที่มีโรคประจำตัวจะไอแห้งๆ แต่ไอบ่อย ขยี้ตา ขยี้จมูก  รุนแรงถึงขั้นไอเป็นเลือด หายใจลำบาก" "พญ.นันทิชา" กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ข้อมูลจากกระทรวงสาธาณสุขในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (20-25 มี.ค.66) ตัวเลขผู้ป่วยด้วยโรคมลพิษทางอากาศ จาก 2 แสนต้นๆ ขึ้นมาแตะ 1.8 ล้านคน ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ผิวหนังอักเสบ และโรคตาอักเสบ ข้อมูลนี้สามารถสรุปได้ว่า ฝุ่น "PM2.5" กระทบต่อสุขภาพเป็นวงกว้าง  

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ