ชีวิตดีสังคมดี

เตรียมรับภัย 'แล้ง' เผชิญ 'เอลนีโญ' ยาวๆ 5 ปี ไม่มีแผนตายหมู่ยกประเทศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภัย 'แล้ง' ไทยต้องเผญิช 'เอลนีโญ' ยาว 5 ปี เริ่มปลายปี 66 ยาวถึงปี 71 รัฐต้องวางแผนเก็บน้ำฝนปีนี้ทุกมิลลิเมตรทันที ก่อนน้ำหมดประเทศ เตือนเกษตรกรลดเพาะปลูก สร้างแหล่งเก็บน้ำไว้ใช้เองให้มากที่สุด กรมอุตุฯ สหรัฐฯ คาดปี 66 ร้อนกว่าปี 65 อุณหภูมิสูงขึ้นผลกระทบร้ายแรงขึ้น

ต้นศตวรรษที่ 20 มีงานวิจัยบ่งชี้ว่ามนุษย์เป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ออกมา และเป็นสาเหตุทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น วันนี้ศตวรรษที่ 21 สถานการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ก็ไม่มีท่าทีจะลดลง เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ เช่นล่าสุดแผ่นดินไหวที่ประเทศตุรกี

 

 

สำหรับประเทศไทย แม้จะยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่พบว่าปัญหาภัย "แล้ง" น้ำท่วม ไฟป่า และการลดลงของป่าไม้ล้วนมีความสัมพันธ์กัน ปีนี้กำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจากปรากฏการณ์ "ลานีญา" หรือน้ำมาก มาเป็นปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" หรือแล้งเพิ่มขึ้น ซึ่งแล้งปีนี้ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ออกมาคาดการณ์ว่าเอลนีโญรอบนี้ยาวนาน 4-5 ปี ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย 
 

 

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ผ่านคม ชัด ลึก ว่า ประเทศไทยเข้าสู่ปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ช่วงปลายปี 2566 คือเดือนธ.ค. ถึง ก.พ. 2567 หลังจากนั้นวิกฤตยาวไปจนถึงปี 2571  รวมระยะเวลาแล้วเกือบ 5 ปี​ หากไม่มีแผนบริหารจัดการน้ำ​ ประเทศไทยต้องตกในวิกฤตขาดแคลนน้ำรุนแรงแน่นอน​  และด้วยปริมาณฝนในปีนี้มีไม่มาก เพราะว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากปรากฏการณ์ "ลานีญา" เป็นปรากฏการณ์ "เอลนีโญ"

 

 

โอกาสนี้จึงเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลคิดหาวิธีกักเก็บน้ำไว้ใช้ให้ได้มากที่สุด และต้องพยายามเก็บน้ำฝนให้ได้ทุกมิลลิเมตร​ ให้ธรรมชาติดูดซับ หากธรรมชาติดูดซับได้ไม่เพียงพอ อาจต้องประเมินทำผนังกั้นน้ำหรือไม่ ​ หรืออาจต้องรีบสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก​ หรือทำฝายให้มากที่สุด​ ขณะเดียวกัน​ เกษตรกรเองก็ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำของตัวเอง รวมถึงเปลี่ยนไปปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยแทน เพื่อช่วยผ่านวิกฤต "แล้ง" นี้ไปด้วยกัน 

 

 

อ่างเก็บน้ำห้วยตาโบ หรืออีกชื่อหนึ่งว่าอ่างเก็บน้ำบ้านอ่าง

 

 

"ปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ยาวนาน 5 ปี เกิดขึ้นครั้งแรกในไทย แบ่งเป็น 3 ช่วง เริ่มตั้งแต่ธ.ค. ปี 2566 ถึง ก.พ. ปี 2567 ช่วงที่ 2 ปี 2567 ยาวไปถึงปี 2568 หลังจากปี 2566 ปริมาณฝนจะน้อยลง ​บวกกับต้นทุนน้ำถูกใช้ไปแล้ว ปีหน้ากระทบรุนแรงแน่นอน ยาวถึงปี 2568 และปี 2569 หนักขึ้นอีก หลังจากนั้นในปี 2570 และ 2571  สองช่วงแรกกระทบต่อเนื่อง ไม่ต้องพูดถึงความรุนแรง เราเผชิญหนักสามารถใช้คำว่า "ตายหมู่" ได้เลย รัฐบาลต้องจัดทำแผนรับมือ 4-5 ปีข้างหน้า วางแผน 1 ปีไม่พ้นวิกฤตแน่นอน และต้องวางแผนเลยทันที เพราะฝนใกล้มาแล้ว" รศ.เสรี ระบุ

 

 

เขื่อนศรีนครินทร์

 


ส่วนแผนระยะยาวรับมือภัย "แล้ง" รศ.เสรี เสนอว่า ต้องลดการใช้น้ำในภาคเกษตร​ ลดการ "เพาะปลูก" ให้ได้อย่างต่ำ​ 50% โดยรัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรทั้งรายใหญ่ รายย่อย​ และรับประกันให้เกษตรกรมั่นใจว่า ลดการเพาะปลูก​ แต่ได้ผลผลิตเท่าเดิม​ ด้วยการสนับสนุนนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีทางการเกษตร​ เช่น​ การใช้โดรนรดน้ำ​ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าเกษตรกรยอมรับได้​ เพราะเหนื่อยน้อยลงแต่ได้ผลผลิตเท่าเดิม หรืออาจเพิ่มขึ้น​ 

 


วันนี้ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องมีนโยบายแก้ปัญหาภัย "แล้ง" อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน รัฐบาลควรสนับสนุนนวัตกรรมทำเกษตรที่ให้ผลผลิตคุ้มค่า ไม่ใช่ปลูกมาก แต่ผลผลิตไม่ดี สุดท้ายรัฐบาลต้องจ่ายเงินประกันราคา เกษตรกรมีเงินชั่วคราว แต่เป็นหนี้สะสมไปเรื่อยๆ รัฐบาลสูญเสียงบประมาณทั้งที่ประชาชนยังเป็นหนี้เหมือนเดิม เป็นนโยบายที่ล้มเหลว ฝากไปถึงพรรคการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศอย่ามุ่งใช้เงินชดเชยเยียวยา จำนำ และประกัน เพราะไปต่อไม่ได้แล้ว การเตรียมพร้อมรับภัย "แล้ง" เป็นเรื่องจำเป็น ไม่เช่นนั้นอาจสายเกินแก้

 

 

"รัฐต้องคุยให้เข้าใจและเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นกรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน หรือกรมวิชาการเกษตร ต้องส่งเสริมและหาพืชอายุสั้น ส่วนข้าวที่มีอยู่ที่จำเป็นต้องปลูกต้องมีความเข้าใจพูดคุยระหว่างรัฐและเกษตรกร ต้องคุยแบบถึงลูกถึงคน สร้างความเข้าใจแบบจริงจัง ทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน เราต้องรวมกัน จะทำแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาไม่ได้ แบบนี้ตายหมู่ เพราะธรรมชาติไม่ดีแล้ว​ เรากำลังอยู่บนธานน้ำแข็งที่บางมาก​ อีก​ 5​ ปีข้างหน้าเราแตกแน่นอน​ ปรับไม่ได้​ ไม่มีทางอยู่ได้​ ฝนใกล้จะมาแล้ว​ เกษตรกรเห็นฝนปุ๊บ​ ลงมือปลูกปั๊บ​ แค่เฉพาะข้าวนาปีกว่า​ 60 ล้านไร่​ นาปรังอีก​ 8​ ล้านไร่" รศ.เสรี ระบุ

 


สำหรับข้อมูลพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศไทย มีทั้งหมด 149.25 ล้านไร่ จากพื้นที่ประเทศ 320.696 ล้านไร่ แบ่งเป็นภาคเหนือ 32.51 ล้านไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 63.86 ล้านไร่ ภาคกลาง 31.14 ล้านไร่ และภาคใต้ 21.74 ล้านไร่ 

 

ฤดูเกษตรกรทำนา


 

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักร ได้คาดการณ์ว่าปีหน้า (2567) อากาศจะอุ่นขึ้นและจะเป็นหนึ่งในปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยการคาดการณ์ระบุว่าเป็นเวลากว่า 10 ปีติดต่อกันแล้วที่อุณหภูมิโลกสูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างน้อย 1 องศาเซลเซียส รัฐบาลทั่วโลกให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันโลกร้อนขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ปี ค.ศ. 1750-1900 เมื่อมนุษย์เริ่มเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลและปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมากขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

 

 

มีการคาดการณ์ว่าในปี 2023 จะมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมอยู่ 1.08 ถึง 1.32 องศาเซลเซียส ปีที่มีอุณหภูมิร้อนที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกในปี 1850 คือปี 2016 แต่ในช่วง 3 ปี ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศรูปแบบอื่นที่เรียกว่า "ลานีญา" ทำให้อุณหภูมิโดยรวมของทั่วโลกเย็นลง ซึ่งผลกระทบจาก "ลานีญา" ถูกคาดการณ์ว่าจะยุติลง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอากาศที่ร้อนขึ้นในบางส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิก และทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นกว่าปี 2022 แต่ยังคงมีบางส่วนของโลกที่ร้อนขึ้นเร็วกว่าอัตราค่าเฉลี่ย เช่น บริเวณขั้วโลกเหนือ เป็นต้น

 

 

ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ ภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยรีดดิ้ง ได้ระบุว่า เมื่อผลกระทบจาก "ลานีญา" จบลงจะเป็นการเร่งอุณหภูมิของโลกให้ร้อนขึ้นพร้อมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจนกว่าจะมีนโยบายบังคับใช้ เพื่อให้บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เราสามารถคาดการณ์ว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะนำไปสู่ผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษย์และธรรมชาติ รวมไปถึงความแห้ง "แล้ง" ที่มากขึ้น การแปรสภาพเป็นทะเลทราย และอากาศเจ็บป่วยที่เกิดจากความร้อน

 

 

ข้อมูล: https://www.bbc.com/news/science-environment-64032458


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ