ชีวิตดีสังคมดี

ทำนาย 'ฝน 100 ปี' กรุงเทพฯ รับมือฝนตกหนัก ตกนาน น้ำท่วมใหญ่เกิดขึ้นได้ทุก 10 ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รศ.ดร.เสรี ทำนาย 'ฝน 100 ปี' กรุงเทพฯ เตรียมรับมือฝนตกหนัก ตกนานมากขึ้น 60-80 % น้ำท่วมใหญ่ขยับความถี่อาจเกิดขึ้นได้ทุกๆ 10 ปี ถอดโมเดล Urban Hazard Studio เปิดข้อมูลตั้งรับสถานการณ์น้ำท่วมในกรุง

บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้าน Location Intelligence การวิเคราะห์ภูมิสารสนเทศในมุมมองใหม่ จากความเชี่ยวชาญในการพัฒนา ArcGIS ซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลก ผนึกกำลังฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ by MQDC ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ที่ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอนาคตของการใช้ชีวิตด้วยเทคโนโลยีคาดการณ์อนาคต ร่วมถอดโมเดลการทำงาน Urban Hazard Studio สุดยอดฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม

 

 

พร้อมเปิดข้อมูลความเสี่ยงน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในกรณีที่เกิด "ฝน 100 ปี" ภัยน้ำท่วมเป็นความเสี่ยงอันดับแรกของประเทศไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์ในปี 2554 มีมูลค่าความเสียหายกว่า 1.4 ล้านล้านบาท มั่นใจ Urban Hazard Studio กุญแจสู่ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมความพร้อมและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น สู่ประโยชน์ทั้งต่อประชาชน สังคม และเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

จากการเสวนาพิเศษในหัวข้อถอดโมเดล Urban Hazard Studio สุดยอดฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม จับตาภัยพิบัติกรุงเทพฯหากเกิด "ฝน 100 ปี"

 

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ. ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ เปิดเผยว่า จากข้อมูลน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพฯและปริมณฑล สามารถจัดกลุ่มความเสี่ยงน้ำท่วมได้เป็น 3 ประเภท คือ

1.น้ำท่วมเมือง (Urban flooding) หรือน้ำท่วมรอการระบาย เกิดจากการที่ฝนตกหนักในเมืองเกินกว่าความสามารถของระบบระบายน้ำ 

 

2.น้ำล้นฝั่งจากแม่น้ำ (River flooding) เกิดจากปริมาณฝนตกหนักเกินความจุลำน้ำ ทำให้หลากล้นฝั่งเข้าท่วมชุมชน เช่น กรณีเหตุการณ์ในปี 2554  ปี 2564 และ ปี 2565 ที่ผ่านมา

 

3.น้ำท่วมชายฝั่ง (Coastal flooding) เกิดขึ้นกับชุมชนหรือเมืองริมชายฝั่งทะเล เมื่อต้องเผชิญกับระดับทะเลที่สูงขึ้นอย่างถาวร

 

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์

 

น้ำท่วมทั้ง 3 ประเภทมีแนวโน้มของความถี่และความรุนแรงมากขึ้นจากปัจจัยเร่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ทำกิน มีการประเมินปริมาณฝนที่ตกหนัก 1 วัน บริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ ในอนาคตจะเพิ่มขึ้น 20 - 30% ปริมาณ "ฝน 100 ปี" จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 200 มม./วัน เป็น 250 มม./วัน พร้อมกับจำนวนวันที่ฝนตกหนัก มีโอกาสเพิ่มขึ้น 60 - 80%

 

ดังนั้นเหตุการณ์น้ำท่วมรอการระบายจึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน ปริมาณฝนตกสะสม 6 เดือน (พฤษภาคม-ตุลาคม) ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในลุ่มเจ้าพระยามีโอกาสเพิ่มขึ้น 20 - 30% เช่นกัน กล่าวคือ "ฝน 100 ปี" ปัจจุบัน จะกลายเป็นฝน 10 ปีในอนาคต

 

ดังนั้นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เช่นปี 2554 จึงมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นทุก ๆ 10 ปีในอนาคต สุดท้ายสำหรับน้ำท่วมชายฝั่ง มีการประเมินโดยคณะทำงาน IPCC ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นที่สถานีป้อมพระจุลจอมเกล้า บริเวณปากแม่น้ำประมาณ 0.39 ม. , 0.73 ม. และ 1.68 ม. ในปี 2573 , 2593 และ 2643 ตามลำดับ จะทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จมน้ำอย่างถาวรหากไม่มีมาตรการรับมือ

 

นอกจากนี้ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็ต้องบริโภคน้ำประปากร่อยจากน้ำเค็มที่รุกล้ำ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อพืชสวนทุเรียนและกล้วยไม้ใน จ.นนทบุรี และ จ.นครปฐม ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ แผนงานต่อไปในอนาคตมีแผนที่ร่วมมือกันประเมินภัยคุกคามด้านอื่น ๆ ต่อประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง สึนามิ พายุ เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือให้กับชุมชนต่อไป

 

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหารฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ เปิดเผยว่า ภาพรวมน้ำท่วมปี 2565 ทำเศรษฐกิจโลกสูญเงินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ ในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือในปี 2595 ยิ่งไปกว่านั้น World Economic Forum Global Risk ได้คาดการณ์ความเสี่ยงในอนาคตที่จะเกิดขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ความล้มเหลวในการจัดการสภาพภูมิอากาศ (Climate action failure) 2. สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ (Extreme weather) และ 3. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity loss) ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรเสี่ยงประสบภัยพิบัติถึง 34% โดยในปีที่ผ่านมาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจมหาวิทยาลัยหอการค้า ได้ประเมินความเสียหายภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจรวมทั้งสิ้นสูงถึง 1.2 – 2 หมื่นล้านบาท

 

สำหรับการร่วมมือในการพัฒนา Urban Hazard Studio สุดยอดฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม จากการนำความสามารถของเทคโนโลยี GIS ของ ESRI ที่สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงพื้นที่ โดยมีเป้าหมายในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ประเมิน และเผยแพร่ เพื่อสร้างความตระหนักต่อประชาชนและสังคม รวมทั้งเพื่อการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ในอนาคตของประเทศต่อไป ด้วยหวังให้ทุกภาคส่วนได้เห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อม และร่วมป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นผ่านแพลตฟอร์ม อีกทั้งต้องการให้เกิดความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเริ่มต้นทำการศึกษาภัยจากน้ำท่วมบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล หากเกิด ฝน 100 ปี ที่นับเป็นความเสี่ยงอันดับต้น ๆ ของประเทศ

 

นางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ประธาน บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า Urban Hazard Studio ที่ใช้ความสามารถจากเทคโนโลยี GIS มีส่วนร่วมอย่างมากในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น รวมถึง Climate Change ด้านอื่น ๆ ที่ทำให้สามารถตรวจวัด วิเคราะห์ และเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลก ช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในมุมของ Climate Crisis ต่าง ๆ ใน 3 เรื่องหลัก คือ ช่วยประเมินผลกระทบในรูปแบบแผนที่ ช่วยวิเคราะห์เพื่อชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงหรือจุดเสี่ยงในอนาคต  และช่วยหาโซลูชันที่เป็นแนวทางสู่การบริหารจัดการกับภัยจากธรรมชาติด้วยความเข้าใจ ในเรื่องของการประเมินผลกระทบผ่านการสื่อสารด้วยภาพ ทำให้เห็นรูปแบบหรือเหตุที่เกิดชัดเจนขึ้น สามารถใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถของการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ได้มากขึ้น เห็นเหตุการณ์ในสถานการณ์ต่าง ๆ บนสภาพจริงแบบเรียลไทม์ สามารถเข้าใช้งาน Urban Hazard Studio สุดยอดฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม  ได้ที่ http://www.urbanhazardstudio.com/

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ