ประชาสัมพันธ์

กพย.-สสส.-ชมรมเภสัชชนบท หนุนภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังระบบยา นพย.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จับตาใช้กัญชาอย่างถูกต้อง เก็บข้อมูลระดับพื้นที่ ส่งต่อศูนย์เฝ้าระวังระดับชาติของ อย. ลงชุมชนสำรวจผลิตภัณฑ์เสี่ยง

เน้นเฝ้าระวังเมนูกัญชา ย้ำ ต้องรายงานข้อเท็จจริงช่วยเตือนภัยสังคม นำร่อง 8 จังหวัดภาคอีสาน-กลาง-เหนือ

 

ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กพย. ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย สร้างความเข้มแข็งกลไกเฝ้าระวังระบบยาและจัดการความรู้ระบบยาเพื่อการเฝ้าระวังเตือนภัยสังคม ซึ่งกัญชาถือเป็นสมุนไพรมีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่หากใช้ไม่ถูกต้อง ใช้เกินความจำเป็น หรือมีสาร THC เกิน 0.2% อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะนี้ กพย. ร่วมกับ สสส. เร่งพัฒนากระบวนการเฝ้าระวังกัญชาอย่างเร่งด่วน สร้างความร่วมมือผู้นำเครือข่ายเฝ้าระวังและจัดการปัญหาระบบยาในพื้นที่  (นพย.) 86 คนทั่วประเทศ และชมรมเภสัชชนบท พัฒนาเป็นเครือข่ายทำงานเฝ้าระวังกัญชาในพื้นที่นำร่อง 8 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ขอนแก่น สกลนคร หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ พระนครศรีอยุธยา เชียงราย เร่งให้ข้อมูล ความรู้เรื่องกัญชาแก่ประชาชน และทดลองกลไกเฝ้าระวังเชิงรุกในพื้นที่นำร่อง

 

กพย.-สสส.-ชมรมเภสัชชนบท หนุนภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังระบบยา นพย.

กพย.-สสส.-ชมรมเภสัชชนบท หนุนภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังระบบยา นพย.

กพย.-สสส.-ชมรมเภสัชชนบท หนุนภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังระบบยา นพย.

ผศ.ดร.ภญ.นิยดา กล่าวว่า บทบาทการทำงานเชิงรุกของ นพย. มุ่งผลักดันให้เกิดศูนย์ให้คำปรึกษาในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พร้อมสร้างความร่วมมือในพื้นที่ สำรวจและรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงร่วมกับ อสม. รพ.สต. และเครือข่ายผู้บริโภค แนะนำผู้ประกอบการเรื่องมาตรฐาน ข้อห้าม ข้อควรระวัง อาการที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากการเสริมความรู้เรื่องกัญชาอย่างเข้มข้น บทบาทที่สำคัญคือ การสร้างความเข้าใจกับบุคลากรในโรงพยาบาลเกี่ยวกับระบบการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะเรื่องอาหารที่มีส่วนผสมกัญชา และปัญหายาตีกันระหว่างกัญชาและยาที่ใช้ส่วนตัว พร้อมพัฒนาระบบการรายงานข้อมูลเชิงรุก เชื่อมต่อกับเภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภคใน สสจ. เพื่อส่งต่อข้อมูลให้แก่ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Health Product Vigilance Center : HPVC) ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) วิเคราะห์ข้อมูล และประเมินสัญญาณความเสี่ยงหากมีการใช้อย่างไม่เหมาะสม หรือเกินความจำเป็น จนเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เพื่อป้องกันผู้ป่วยกัญชาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

“การทำงานของ นพย. เน้นการทำงานเฝ้าระวังแบบเกาะติด มุ่งเป้าสำรวจสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาต่างๆ เช่น วิสาหกิจชุมชน ร้านอาหาร ร้านค้า ผู้ประกอบการธุรกิจกัญชา และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ หากจำเป็นจะมีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตรวจสาร THC รวมถึงการสำรวจการขายทางออนไลน์ เพื่อประมวลผลรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นของแต่ละจังหวัด ส่งต่อรายงานสู่ส่วนกลาง นำไปสู่การกำหนดนโยบายหรือมาตรการที่จะนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อไป” ผศ.ดร.ภญ.นิยดา กล่าว

 

logoline