ประชาสัมพันธ์

ถอดหลักธรรมนำธุรกิจ เคลื่อนอาณาจักร 'ไทยนครพัฒนา'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตลาดผลิตภัณฑ์ “ยา” ในประเทศไทยมีมูลค่า 1.7-1.8 แสนล้านบาท และมีแบรนด์นับ “พัน” ที่ขับเคี่ยวแข่งขันกันอยู่ ทว่า หากนึกถึงยาสามัญประจำบ้านที่แทบทุกครัวเรือนต้องมีติดไว้ เช่น ยาลดไข้ ยาเกี่ยวกับโรคกระเพาะ ฯ ต้องมีชื่อซาร่า ทิฟฟี่ และแอนตาซิล อยู่ในทำเนียบอย่างแน่นอน

ยาแบรนด์ดังกล่าว เกิดจากผู้ผลิตสัญชาติไทยอย่าง “ไทยนครพัฒนา” ที่อยู่ในตลาดยาวนานถึง 42 ปี โดยมี “วินัย วีระภุชงค์” เป็นผู้ปลุกปั้นธุรกิจ และสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก มีการใช้อาวุธรการตลาดด้านกีฬาหรือ Sport Marketing นานนับหลายทศวรรษ โดยเฉพาะกีฬามวยไทยที่ “แอนตาซิล” ผูกพันอย่างยาวนาน

 

ปัจจุบันธุรกิจได้ถูกสานต่อโดย “ทายารุ่น 2” ซึ่งมีแม่ทัพคนสำคัญอย่าง สุภชัย วีระภุชงค์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด เป็นผู้ขับเคลื่อนอาณาจักรที่กำลังเติบใหญ่อย่างต่อเนื่อง และกิจการครอบครัวไม่ได้จำกัดอยู่แค่ธุรกิจยาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังขยับขยายไปสู่ธุรกิจสื่อ มีทีวีช่อง 5 ในประเทศกัมพูชา มีธุรกิจโรงแรม 5 แห่ง ในไทย และกัมพูชา มีธุรกิจยาในประเทศเมียนมา เวียดนาม เป็นต้น

ถอดหลักธรรมนำธุรกิจ เคลื่อนอาณาจักร 'ไทยนครพัฒนา'

จากเจนเนอเรชั่นแรกถึงเจนฯปัจจุบัน สุภชัย ฉายภาพการรับไม้ต่อธุรกิจครอบครัวเกิดขึ้นตั้งแต่อายุ 14-15 ปี ระหว่างปิดเทอมมักจะได้ออกไปตลาดเป็นเวลาร่วม 2 เดือน คลุกคลีในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก

 

โอกาสที่ได้เรียนรู้งานตั้งแต่วัยเยาว์ ทำให้ได้ “ลองผิด ลองถูก” ค่อนข้างมาก พร้อมกับเก็บเกี่ยวประสบการณ์เป็นครูสอนตัวเอง ยิ่งกว่านั้น ในทุกย่างก้าวการทำงาน ยังมีพ่อเป็น “กุนซือ” คอยไกด์ กำกับการบริหารงาน ทำตลาดอยู่เสมอ

 

“พ่อเป็นครูที่ดี แต่เราก็ไม่ใช่ศิษย์ที่ดี ดื้อ มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ตลอดเวลา 40 ปีที่ขับเคลื่อนธุรกิจ ทำพลาดมาเยอะ แต่สิ่งที่พลาดคือบทเรียนสอนเรา”

 

ดำเนินธุรกิจมากว่า 4 ทศวรรษ และ “ไทยนครพัฒนา” เติบโตทำรายได้หลัก “พันล้านบาท” ต่อปี และกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่การขยายอาณาจักรยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยความท้าทายและไม่แน่นอน ยิ่งปี 2563-2564 บริษัทเผชิญกับวิกฤติโรคโควิด-19 ระบาดเฉกเช่นทั้งโลก ทำให้การบริหารธุรกิจครอบครัวต้องเต็มไปด้วยความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

 

อย่างการลงทุน นาทีนี้ต้องเป็นไปอย่าง “พอเพียง” ไม่เกินตัว เช่น มีเงิน 100 ล้านบาท ต้องไม่ลุยโปรเจค 500 ล้านบาท เพราะนั่นอาจต้องขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินทำให้มีภาระดอกเบี้ยที่วิ่งทุกวัน เป็นค่าใช้จ่ายที่สวนทางกับสถานการณ์ “รายรับ” ที่อาจต่ำท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด

ถอดหลักธรรมนำธุรกิจ เคลื่อนอาณาจักร 'ไทยนครพัฒนา'

“วิกฤติโควิดให้บทเรียนสอนเราอยู่อย่างพอเพียง อย่าคิดเติบโตก้าวกระโดด หลายคนลงทุนมากไปเจอหนี้ ดอกเบี้ยวิ่งทุกวัน แต่รายได้เป็นศูนย์ นักธุรกิจต้องเรียนรู้ วันนี้ยิ่งทำธุรกิจมาก ปัญหา หนี้ยิ่งมาก เพราะโลกเปลี่ยนไม่เหมือนเดิม และอนาคตไม่รู้จะเกิดอะไรรุมเร้า ธรรมชาติเปลี่ยน เราจึงต้องระมัดระวัง”

 

สุภชัย บอกว่า บริหารธุรกิจครอบครัวมานานกว่า 4 ทศวรรษ วิกฤติโควิด-19 ถือเป็นมรสุมใหญ่มาก และปี 2564 ผลกระทบต่อธุรกิจหนักหนากว่าปี 2563 เพราะสถานการณ์มาราธอนมากขึ้น และยังไม่รู้จุดจบ อาจต่อเนื่องถึงปีหน้า ขณะที่กระสุนทุน กระแสเงินสดต่างๆ ที่มี มีผลต่อการยืนระยะของธุรกิจ

 

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้น ธุรกิจยา ผู้บริโภคดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้เจ็บป่วยน้อยลง และซื้อยาลดลง ธุรกิจโรงแรม 5 แห่ง ห้องพักราว 1,000 ห้อง แต่ละแห่งจ้างงาน 300-400 คน จากเคยมีอัตราการเข้าพัก 60-70% เมื่อไร้เงานักท่องเที่ยว อัตราเข้าพักเหลือเพียง 3% บางแห่งมีผู้เข้าพัก 2 ห้องเท่านั้น ฯ แต่ละวันจึงมีผลต่อการตัดสินใจรอบด้าน โดยเฉพาะพนักงาน

 

ดังนั้น ในภาวะเช่นนี้ การพบปะ ทำความเข้าใจกับพนักงานทั้งเครือที่มีร่วม 4,000 ชีวิต จากธุรกิจโรงแรม ยา โรงงานผลิตน้ำดื่ม ฯ เกี่ยวกับสถานการณ์ของบริษัทที่แท้จริงทั้งงบประมาณ รายจ่าย รายรับ ต้องประหยัดอย่างไร ฯ เพื่อรอดไปด้วยกัน

 

“ไทยนครพัฒนา” ผ่านมาหลายมรสุม แต่วิกฤติโควิดสุภชัย ยกให้เป็นบททดสอบใหญ่ของตนเองในฐานะ “ผู้นำ” องค์กรด้วย

 

ทุกวิกฤติมีอายุขัย ไม่อยู่ค้ำโลก ดังนั้นธุรกิจจึงต้องเดินหน้า ปัจจุบันเจนฯ 2 นำทัพธุรกิจ แล้วสุภชัย มีเป้าหมายอย่างไร คำตอบที่ได้ยังอิงหลักธรรม คือการอยู่คู่พุทธศาสนาไปอีก 2,500 ปี ส่วนการที่ทายาทจะเข้ามาสานต่อกิจการ สิ่งที่ต้องยึดมั่นยังคงเป็น“คุณธรรมนำธุรกิจ”

 

“ศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้นำเงื่อนไขเวลานำทางเข้าสู่เป้าหมาย แต่ให้ใช้สติ ศรัทธา ตั้งอยู่บนความดี”

 

สำหรับแนวทางการทำธุรกิจ ปรัชญา “คุณธรรมนำธุรกิจ” เป็นแก่นหรือสิ่งสำคัญมากที่บริษัทยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยสุภชัย ย้ำว่าเป็นหลักการง่ายๆ ที่ผู้ประกอบการต้องเป็นคนดี เป็นสัตบุรุษ ยึดหลัก “สัปปุริสธรรม 7” ที่ต้องรู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้เวลา รู้จักชุมชน รู้จักคนอื่นหรือบุคคล

 

“การต่อยอดธุรกิจครอบครัว ต้องสร้างองค์กรให้เติบโต โดยใช้ธรรมเป็นอำนาจ ต้องรู้ถูกผิด ชั่วดี ทำดีมากกว่าเลว ทำกำไร ก็คือตัวบุญ และการยึดคุณธรรมนำธุรกิจ เราต้องไม่ต้องทำให้คนอื่นเดือดร้อน สำคัญมาก การปกครองพนักงานต้องไม่อคติ ฟังเสียงพนักงานทุกคน ให้ควมเป็นธรรม เพื่อเกิดบารมี การยอมรับ สร้าง Trust หรือความเชื่อให้เกิดขึ้นในองค์กร ให้เกิดเอกภาพ”

 

นอกจากนี้ การผลิตยาเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ ป้องกัน และบรรเทาผลกระทบด้านสุขภาพให้กับผู้คน ในการผลิตสินยา “คุณภาพ” ต้องมาเป็นอันดับแรก ดังนั้นการคัดสรรควัตถุดิบในการผลิตต้องมาจากแหล่งที่ดีสุด เช่น ซาร่า ต้องมาจากบริษัท มาลิงครอดท์ ซึ่งเป็นผลิตตัวยาพาราเซตามอลที่มีความบริสุทธิ์สูง มีปริมาณสารปนเปื้อนต่ำกว่ามาตรฐาน เป็นต้น

 

“เราใช้คุณธรรมนำธุรกิจ และสิ่งที่คุณพ่อ (วินัย วีระภุชงค์) สอนตั้งแต่เด็กก็คือ เราต้องผลิตยาดีมีคุณภาพ เพราะยาของเราต้องช่วยให้ประชาชนฐานราก ผู้มีรายได้น้อยทานแล้วอาหารเจ็บป่วยดีขึ้น หายดี เพื่อมีสุขภาพแข็งแรงไปช่วยเหลือครอบครัว” คำสอนดังกล่าว ยังมาพร้อมภาพจำที่พ่อย้ำเสมอว่าลูกค้าในยุคบุกเบิกทำธุรกิจ เมื่อมาซื้อยาจะกำเงิน 5 บาทด้วยมือที่ชุ่มเหงื่อ การผลิตยาที่ดี จึงไม่เพียงทำให้ผู้คนแข็งแรง แต่ยังกลับไปใช้ชีวิต ประกอบสัมมาชีพ เลี้ยงดูครอบครัวให้อยู่รอดด้วย

 

สามารถรับชมรายการ 50 Masters Ep.2 "คุณสุภชัย วีระภุชงค์" กับปรัชญาในการบริหารองค์กรแบบคุณธรรมนำธุรกิจ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ