ประชาสัมพันธ์

รมว.เฮ้ง ห่วงลูกจ้าง พร้อมเร่งจ่ายเงินทดแทนผู้เสียชีวิต

รมว.เฮ้ง ห่วงลูกจ้าง พร้อมเร่งจ่ายเงินทดแทนผู้เสียชีวิต

18 ก.พ. 2565

จากเหตุไซต์งานก่อสร้างลุมพินีถล่ม สั่งกสร. ตรวจสอบด่วน พร้อมประสานหน่วยงานภาครัฐให้การช่วยเหลือทันที ในการเยียวยาผู้ได้รับอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิต

รมว.แรงงาน ห่วงลูกจ้าง เร่งจ่ายเงินทดแทนผู้เสียชีวิตใน เหตุไซต์ก่อสร้าง โครงการก่อสร้างโรงแรมหรู วัน แบงค็อก ถล่ม เขตลุมพินี กรุงเทพมหานคร พร้อมส่งพนักงานตรวจความปลอดภัย ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบ พร้อมประสานหน่วยงานกระทรวงแรงงานช่วยเหลือให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย

รมว.เฮ้ง ห่วงลูกจ้าง พร้อมเร่งจ่ายเงินทดแทนผู้เสียชีวิต

 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ปฏิบัติงานก่อสร้าง โครงการ วัน แบงค็อก ถนนพระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง หลังเกิดอุบัติเหตุโครงสร้างค้ำยันแบบหล่อคอนกรีตพังถล่มขณะกำลังเทคอนกรีต ทำให้มีลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่ใต้จุดค้ำยันเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่เข้าตรวจสอบ พบว่า อุบัติเหตุดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 3 ราย  และได้รับบาดเจ็บ 4 ราย ซึ่งลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บได้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านแล้ว สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 3 รายกระทรวงแรงงานได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจ่ายเงินทดแทนเป็นค่าทำศพ รายละ 50,000 บาท โดยนางบุญโฮม วังมา รับค่าทดแทนเลี้ยงชีพได้รับ764,904 บาท บำเหน็จชราภาพ 10,201.69 บาท นางอุดร เลขสันต์ รับค่าทดแทนเลี้ยงชีพ 773,640 บาท บำเหน็จชราภาพ 74,835.08 บาท นางประไพ สุปมา รับค่าทดแทนเลี้ยงชีพ 771,456 บาท บำเหน็จชราภาพ 63,064.83 บาท

 

ส่วนสาเหตุที่โครงสร้างค้ำยันแบบหล่อคอนกรีตเกิดพังถล่มนั้น นายสุชาติกล่าวว่า  อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง  เพื่อเตรียมรวบรวมพยานหลักฐานว่านายจ้างมีการฝ่าฝืนโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2564 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการบริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับนั่งร้านและค้ำยัน พ.ศ. 2564 หรือไม่ ซึ่งถ้าหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ