ประชาสัมพันธ์

วช. จัดเสวนา การศึกษากับการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยมุ่งเป้าด้านยางพาราฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดเสวนา เรื่องการศึกษากับการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยมุ่งเป้าเพื่อการใช้ประโยชน์จากการเกษตรสู่อุตสาหกรรมยางพารา ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ

นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดประชุมเสวนา เรื่องการศึกษากับการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยมุ่งเป้าเพื่อการใช้ประโยชน์จากการเกษตรสู่อุตสาหกรรมยางพารา ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานประชุมเสวนานี้ ซึ่งทาง วช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้ประเทศไทยอย่างมาก ทั้งยังเป็นพืชที่ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนั้น วช. จึงได้ดำเนินการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านยางพาราเพื่อการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเกษตรกรและอุตสาหกรรมยางพารา นอกจากนี้ วช. ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในการจัดทำยุทธศาสตร์วิจัยยางพาราแห่งชาติในช่วงปี 2565-2569 โดยมุ่งส่งเสริม สนับสนุน ขับเคลื่อนระบบด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการและการนำผลงานไปใช้ประโยชน์

รวมทั้งยังมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งระบบ และขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งนี้การนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การศึกษา และภาครัฐที่รับผิดชอบ เพื่อให้ผลการวิจัยเกิดผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) ในวงกว้าง ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงตรงตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) จากความร่วมมือของหลายภาคส่วน อาทิ การยางแห่งประเทศไทย สภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงานบูรณาการวิจัยมุ่งเป้ากลุ่มเรื่องยางพารา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จึงนำมาสู่การจัดประชุมเสวนา เรื่องการศึกษากับการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยมุ่งเป้าเพื่อการใช้ประโยชน์จากการเกษตรสู่อุตสาหกรรมยางพาราในวันนี้

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ภาพถ่ายผู้บริหารและผู้เข้าร่วมเสวนา

สำหรับการเสวนา เรื่องการศึกษากับการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยมุ่งเป้าเพื่อการใช้ประโยชน์จากการเกษตรสู่อุตสาหกรรมยางพารา ได้รับเกียรติจากการยางแห่งประเทศไทย สภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการเข้าร่วมเสวนา และมีนางสาวอภิญญา ขาวสบาย เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยในลำดับแรกของการเสวนา นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ได้กล่าวถึงกลยุทธ์และแนวทางการบริหาร กยท. เพื่อให้ผลดำเนินการทุกอย่างบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี และงานวิจัยที่ กยท. ให้การสนับสนุน ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนากำลังคนโดยการให้ทุนการศึกษาแก่ลูกหลานเกษตรกร และการพัฒนางานวิจัยด้านต้นน้ำที่เกี่ยวข้องกับเทคนิคการกรีดยางแบบใหม่ และหมวกยาง เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับการทำสวนยางอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่ทาง กยท. ได้ให้การสนับสนุนและผลักดันอยู่ ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้ใน 3 แขนง ประกอบด้วย ศาสตร์ชุมชน ศาสตร์สากล (เทคโนโลยีและนวัตกรรม) และศาสตร์พระราชา เพื่อช่วยขับเคลื่อนการทำสวนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ทาง กยท. ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมยางพาราครบวงจรที่จังหวัดนครศรีธรรมราชอีกด้วย

 

 

ในลำดับถัดไป นายสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากภาคเกษตรกร ในฐานะภาคเกษตรกรซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมยางพารา ได้นำเสนอถึงแนวทางในการปรับตัวและพัฒนาตัวเองในสถานะปัจจุบันให้อยู่ได้อย่างมั่นคง โดยทางออกหนึ่งคือต้องมีการพึ่งพานวัตกรรมให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ยางพารา ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งภาคเกษตรกรมีความต้องการให้ กยท. เข้ามาสนับสนุนในด้านการทำต้นแบบสวนยางอย่างยั่งยืนโดยลดจำนวนต้นยางลงและปลูกพืชผสมผสานเพื่อเป็นแนวทางให้แก่เกษตรกรมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย อีกทั้งการพัฒนาด้านงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นต้องมุ่งเน้นไปที่งานวิจัยที่สามารถนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้ เช่น การพัฒนานวัตกรรม การแปรรูปยางพารา และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

และในลำดับถัดไป ดร.ชโย ตรังอดิศัยกุล รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จากเดิมภาคอุตสาหกรรมมุ่งเน้นที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ผ่านมาตรฐานทั้งภายในและต่างประเทศ โดยในแง่ของการศึกษา งานวิจัยและนวัตกรรมนั้น มีบทบาทในการช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก เช่น ด้านเคมี ฟิสิกส์ หรือแม้กระทั่งด้านวิศวกรรม เป็นต้น ทั้งนี้ในปัจจุบันมีประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือ Bio-Circular-Green Economy (BCG) มาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นไปทางด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ดังนั้นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางในปัจจุบันนั้น จะต้องมุ่งเน้นไปทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาวะ และความยั่งยืน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันอีกด้วย ซึ่งควรต้องเพิ่มงบประมาณในการวิจัยให้มากขึ้นอย่างเพียงพอต่อการพัฒนายางพาราทั้งระบบ

 

และในช่วงสุดท้ายของการเสวนา รองศาสตราจารย์ ดร.อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษากับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โดยต้องทำการเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุดเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนากำลังคนทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตัวอย่างเช่น การพัฒนาหลักสูตรร่วมกับภาคอุตสาหกรรม การอบรมบุคลากร Upskill-Reskill และการทำวิจัยร่วมกัน (โครงการ Sandbox) เป็นต้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือและสามารถแก้ไขโจทย์หรือปัญหาให้แก่ภาคอุตสาหกรรมได้ ซึ่งส่วนนี้เป็นบทบาทหนึ่งของมหาวิทยาลัยหรือภาคการศึกษาที่จะสามารถช่วยขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยได้ อีกทั้งทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มีโครงการพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูงเพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ การยางแห่งประเทศไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นายสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากภาคเกษตรกร ดร.ชโย ตรังอดิศัยกุล รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  และรองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นางสาวอภิญญา ขาวสบาย ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5

วช. จัดเสวนา การศึกษากับการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยมุ่งเป้าด้านยางพาราฯ นอกจากนี้ได้มีการสรุปประเด็นยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี และแนวทางการดำเนินงานร่วมกันของ วช. และ กยท. โดยเริ่มจาก ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย ซึ่งได้กล่าวถึงประเด็นยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี โดยมุ่งเม้นไปที่ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งในปัจจุบันมีงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับยางพารามากขึ้น ทำให้เกิดการต่อยอดและการนำไปใช้ประโยชน์เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังได้มีการสนับสนุนและสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ทางด้านยางพารา เช่น การจัดกิจกรรมอบรม การจัดประกวดอุปกรณ์ด้านยางพารา การสนับสนุนทุนวิจัยและทุนการศึกษา เป็นต้น และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ หัวหน้าสำนักงานบูรณาการวิจัยมุ่งเป้า กลุ่มเรื่องยางพารา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้อธิบายถึงความหมายและวัตถุประสงค์ของทุนวิจัยมุ่งเป้าที่ต้องเป็นงานวิจัยที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ที่รวดเร็ว เพื่อลด Time to market อีกทั้งเป็นงานวิจัยที่สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ทาง วช. มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการทุนวิจัยด้านยางพาราได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากมีเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ ข้าราชการจากหน่วยงานภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมน้ำยางข้นไทย สมาคมยางพาราไทย สมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย สมาคมถุงมือยางไทย รวมถึงคณาจารย์และนักวิจัยตามสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ เป็นต้น โดยนักวิจัยจัดเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่งในการขับเคลื่อนงานวิจัยให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน จึงควรสนับสนุนนักวิจัยให้มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้แนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง วช. และ กยท. โดยได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านยางพารา การจัดประชุมวิชาการและการดำเนินงานร่วมกัน และจัดทำยุทธศาสตร์วิจัยยางพาราแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี อีกทั้งผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพารา ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการพัฒนาปัจจัยสนับสนุน ดังนั้นในการประชุมวันนี้จึงเป็นการทำงานบูรณาการร่วมกันระหว่าง วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ กยท. ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้มีความเข้มแข็ง ก้าวหน้าและเติบโตอย่างยั่งยืนโดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรมช่วยในการขับเคลื่อนภายใต้นโยบายของรัฐบาลได้

 

ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ หัวหน้าสำนักงานบูรณาการวิจัยมุ่งเป้า กลุ่มเรื่องยางพารา  สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ