ประชาสัมพันธ์

รามาฯ รุดหน้าตรวจโอไมครอน-เคสญี่ปุ่นเจอด้วยเครื่องตรวจน้ำลาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คณะแพทย์รามาฯ พัฒนาน้ำยาตรวจโอไมครอนได้แล้ว ยันเทคโนโลยีปัจจุบันใช้ได้ ชี้ญี่ปุ่นเจอรายแรกที่สนามบินนาริตะเป็นการตรวจตัวอย่างน้ำลายด้วยเครื่องอัตโนมัติ แนะไม่ตระหนกเกินเหตุ อาการไม่รุนแรงถ้าได้รับวัคซีน แต่ต้องเข้มมาตรการป้องกันส่วนบุคคลตามเดิม

อ.ดร.เอกวัฒน์ ผสมทรัพย์

อ.ดร.เอกวัฒน์ ผสมทรัพย์  หัวหน้าห้องปฏิบัติการทางไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนว่า แม้จะเป็นเชื้อที่ผ่าเหล่าสูง แต่การกลายพันธ์อยู่ในยีนที่ไม่มีผลกระทบต่อการตรวจในปัจจุบัน ยืนยันว่า 95% ของการตรวจ RT-PCR ที่ใช้อยู่สามารถตรวจได้ว่าติดเชื้อหรือไม่ แต่อาจจะแยกแยะไม่ได้ว่าเป็นโอไมครอน ซึ่งล่าสุดขณะนี้ ทางคณะฯ ได้ พัฒนาชุดตรวจ เป็นน้ำยาสำหรับการตรวจหาเชื้อโอไมครอนด้วยวิธี RT-PCR สำเร็จแล้ว จากการใช้รหัสพันธุกรรมเป็นฐานข้อมูล โดยกำลังดำเนินการส่งไปสังเคราะห์ที่ประเทศเกาหลีใต้

รามาฯ รุดหน้าตรวจโอไมครอน-เคสญี่ปุ่นเจอด้วยเครื่องตรวจน้ำลาย

 

รามาฯ รุดหน้าตรวจโอไมครอน-เคสญี่ปุ่นเจอด้วยเครื่องตรวจน้ำลาย

 

นอกจากนี้ อ.ดร.เอกวัฒน์ ยังได้กล่าวถึงการพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตรวจพบที่ท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะว่า กรณีดังกล่าวเป็นการตรวจหาเชื้อด้วยตัวอย่างน้ำลาย ด้วยเครื่อง Lumipulse G1200  พบก่อน ก่อนที่จะไปยืนยันว่าเป็นเชื้อโอไมครอน ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทย มีเครื่องนี้ตั้งอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลเพียงแห่งเดียว นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ใช้คัดกรองที่สนามบินมานานแล้ว โดยโรงพยาบาลรามาธิบดีเองมีการนำมาใช้คัดกรองผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และเจ้าหน้าที่กลุ่มเสี่ยง พบว่าเจอผลบวกปลอมไม่ถึง 2% และยังไม่เคยเจอผลลบปลอมเลย โดยเครื่องนี้เป็นเครื่องอัตโนมัติ สามารถทำการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างได้ถึงครั้งละ 100-120 ตัวอย่าง กระบวนการละเอียด ทำให้เหมาะสำหรับใช้คัดกรองกลุ่มใหญ่ อย่าง โรงเรียน โรงงาน สนามบิน ถ้านำมาใช้ได้ก็น่าจะสะดวกมากขึ้น

รามาฯ รุดหน้าตรวจโอไมครอน-เคสญี่ปุ่นเจอด้วยเครื่องตรวจน้ำลาย

หัวหน้าห้องปฏิบัติการทางไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ยังแนะนำว่า ไม่อยากให้กังวลเกินไป เพราะคนไทยให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีนดีกว่าในยุโรป และอเมริกา แม้โอไมครอนจะแพร่ได้เร็วแต่อาการไม่รุนแรงเท่าเดลตาที่เราเคยเจอมาแล้ว  วัคซีนที่ได้รับก็ยังพอรับมือได้ ใครที่ฉีดวัคซีนแล้วอาการก็จะไม่รุนแรง ที่สำคัญคือยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ส่วนการตรวจหาเชื้อชุดตรวจในปัจจุบันยังตรวจได้ ถ้าไม่มีความผิดพลาดเรื่องการเก็บตัวอย่างโพรงจมูกสำหรับ ATK ที่ใช้กันเอง หรือคุณภาพของชุดตรวจที่ผลิตออกมาคราวละมากๆ ส่วนการตรวจหาเชื้อโอไมครอนโดยเฉพาะเชื่อว่าโรงพยาบาลต่างๆ ก็จะสามารถพัฒนาขึ้นมาได้เรื่อยในเร็ววันนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ