
กระทรวงยุติธรรมเปิดประชุมนานาชาติ: กรมบังคับคดีชูแนวทางฟื้นฟูกิจการเพื่อธุรกิจยั่งยืน
กระทรวงยุติธรรมโดยกรมบังคับคดีจัดการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยกลไกการฟื้นฟูกิจการ : แนวทางปฏิบัติเพื่อการฟื้นตัวทางธุรกิจอย่างยั่งยืน
วันที่ 9 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00 น. พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยกลไกการฟื้นฟูกิจการ : แนวทางปฏิบัติเพื่อการฟื้นตัวทางธุรกิจอย่างยั่งยืน (International Conference on Corporate Reorganization Mechanism : Best Practices for Sustainable Business Recovery) ที่กระทรวงยุติธรรมโดยกรมบังคับคดีร่วมกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference)
โดยนางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และนายเสกสรร สุขแสง อธิบดีกรมบังคับคดี เป็นผู้กล่าวรายงาน การประชุมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ เนการาบรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ และประเทศคู่เจรจา ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี รวมถึงเจ้าพนักงานบังคับคดีของประเทศไทย เข้าร่วมรวมจำนวน 500 คน
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประธานในพิธีเปิดการประชุมกล่าวถึงความสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ว่า ในโลกยุคปัจจุบันที่เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ความผันผวนทางการเงิน และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระดับโลก กระบวนการยุติธรรม รวมถึงกรมบังคับคดีที่เป็นระบบย่อยของกระบวนการยุติธรรม จำเป็นต้องปฏิรูปเพื่อให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม สะดวก รวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางเพื่อเป็นสังคมที่มีความสงบสุขที่รัฐพึงให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสมแก่ประชาชน
ดังนั้น การฟื้นฟูกิจการจึงมิใช่เพียงเครื่องมือทางกฎหมายสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงบุคคลธรรมดา ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีของประชาคมระหว่างประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของแนวทาง “การให้โอกาส” แทน “การลงโทษ” และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติล้มละลายฉบับใหม่ ร่างกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของระบบกฎหมายไทย โดยเน้นการปฏิรูปแนวทางฟื้นฟูฐานะของลูกหนี้ ให้สามารถเริ่มต้นใหม่ได้อย่างสุจริต และมีศักยภาพต่อไป การประชุมในปีนี้ ได้มีการนำเสนอและอภิปรายแบบกลุ่ม 7 หัวข้อ ดังนี้
หัวข้อที่ 1 การนำเสนอ “การขับเคลื่อนกฎหมายฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม”
หัวข้อที่ 2 การนำเสนอ “บทบาทของสถาบันการเงินในการผลักดันให้เกิดความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ”
หัวข้อที่ 3 การอภิปรายแบบกลุ่ม “การปรับโครงสร้างธุรกิจของ SME กลยุทธ์สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในบริบทประเทศภูมิภาคอาเซียน”
หัวข้อที่ 4 การนำเสนอ “บทบาทของศาลและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ สู่ความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ”
หัวข้อที่ 5 การนำเสนอ “บทบาทสำคัญของผู้เชี่ยวชาญด้านล้มละลายในการฟื้นฟูกิจการ”
หัวข้อที่ 6 การนําเสนอ “การฟื้นฟูกิจการที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ พยากรณ์ผลลัพธ์ของการฟื้นฟูกิจการ”
และหัวข้อที่ 7 การอภิปรายแบบกลุ่ม “ความท้าทายและแนวโน้มในอนาคตของกระบวนการฟื้นฟูกิจการ”
ทั้งนี้ กรมบังคับคดีจะได้รวบรวมความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติของแต่ละประเทศไปศึกษา วิเคราะห์ เพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และระบบการบังคับคดีแพ่ง การบังคับคดีล้มลาย ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพต่อไป