พระเครื่อง

ประชาธิปไตยที่รัก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประชาธิปไตยที่รัก พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ([email protected]) เมื่อการปฏิรูปการเมืองต้องเผชิญหน้ากับการปรับตัวของนักการเมือง ++++++ ไม่ว่าจะมีข้อถกเถียงในเรื่องของ "ความจริงแท้" (authenticity) ของการปฏิรูปการเมืองทั้งสองครั้งอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบันนี้ทำให้เห็นว่า การปฏิรูปทางการเมืองนั้นกำลังเผชิญกับสิ่งท้าทายที่อาจไม่สามารถทำให้การปฏิรูปการเมืองนั้นเป็นไปตามเจตจำนงของผู้ปฏิรูปได้ สิ่งท้าทายนั้นก็คือสถาบันนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั่นแหละครับ การปฏิรูปทางการเมืองทั้งสองครั้งนี้หมายถึงการปฏิรูปทางการเมืองเมื่อ 2540 และ 2550 โดยพิจารณาจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะของการจัดทำโดยคณะร่างรัฐธรรมนูญที่แยกตนเองออกมาจากสถาบันรัฐสภาปกติ ไม่ว่าการปฏิรูปทางการเมืองนั้นจะมีที่มาภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (2540) หรือมีที่มาจากการทำรัฐประหารโดยอ้างว่าเพื่อทำให้เกิดประชาธิปไตยในระยะยาว (2550) เราจะพบลักษณะสำคัญอย่างน้อยสองประการที่เกิดจากการปฏิรูปการเมือง ได้แก่ วิธีคิดในเรื่องของการใช้กฎหมายในการจัดการพฤติกรรมมนุษย์ โดยเชื่อว่า ผู้ออกกฎหมายนั้นมีความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์เป็นอย่างดี และสามารถออกกฎหมายเพื่อจูงใจให้มนุษย์นั้นมีพฤติกรรม (ทางการเมือง) ที่พึงปรารถนา พูดง่ายๆ ก็คือ การเมืองนั้นจะสามารถแก้ไขหรือปฏิรูปขึ้นก็ด้วยการออกแบบกฎหมายที่สมบูรณ์แบบ วิธีคิดในประการที่สองก็คือ ทำให้กระบวนการบังคับพฤติกรรมของมนุษย์ (โดยเฉพาะนักการเมือง) นั้นต้องถูกตัดสินโดยทั้งองค์กรอิสระและสถาบันตุลาการอื่นๆ (โดยแฉพาะในกรณี 2550 ยิ่งมีความชัดเจนเป็นอย่างมาก) - ที่ใช้คำว่าสถาบันตุลาการอื่นๆ หมายถึงทั้งศาลยุติธรรม และศาลอื่นๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอาญาคดีทางการเมือง - ในความหมายที่ว่า กระบวนการ-ขั้นตอนในการพิจารณาอาจไม่เหมือนกับศาลยุติธรรม อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักปฏิรูปการเมืองอาจไม่ได้คาดคำนวณก็คือ นักการเมืองที่เป็นศัตรูหมายเลขต้นๆ (ถ้าไม่ใช่หมายเลขหนึ่ง) ก็คือ นักการเมืองนั้นมิใช่เป็นเพียงปัจเจกบุคคลที่สามารถถูกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านกฎหมายได้ง่ายๆ นักการเมืองนั้นเป็นสถาบันทางการเมืองและเป็นมนุษย์ที่สามารถที่จะแข็งขืนและเรียนรู้ในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ดังกรณีตัวอย่างที่ทักษิณอ้างว่า ตนไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 แต่เราพบกระบวนการตีความและการใช้อำนาจทางการเมืองที่ทำใหรัฐธรรมนูญ 2540 เปราะบางเสียจนถูกฉีกโดยการทำรัฐประหาร หรือดังในกรณีที่เราพบว่าพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรคที่มีความใกล้ชิดกับพรรคไทยรักไทยเดิมนั้น เมื่อพิจารณาจำนวนสมาชิกที่โดนผลกระทบจากการยุบพรรครอบหลังจะพบว่าเสียหายน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบกับพรรคเก่าอย่างชาติไทย มาจนถึงวันนี้ความเชื่อที่ว่า นักการเมืองที่ไม่ดีนั้นจะต้องถูกขจัดออกไปด้วยกระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ทีละรอบ ทีละรอบนั้นอาจจะกำลังถูกท้าทาย ด้วยความเชื่อที่ว่าเราสามารถจัดการกับคนอื่นได้ด้วยกฎหมายในฐานะเครื่องมือ นั่นเป็นความคิดฝ่ายเดียว โดยลืมไปว่านักการเมืองสามารถปรับตัวได้เช่นกัน ไม่ว่าการลดจำนวนกรรมการบริหารพรรคลง การลาออกจากกรรมการบริหารพรรคก่อน รวมไปถึงการตั้งพรรคใหม่ที่ขนาดลิงชิมแปนซียังสามารถเดาถึงความเชื่อมโยงกับพรรคที่ถูกยุบได้ และรวมไปถึงการเข้าไปสังกัดพรรคที่มีอยู่แล้วในนามของการรักษาประชาธิปไตย ทั้งที่ลิงชิมแปนซี (ตัวเดิม) ก็ย่อมรู้ว่าเป็นเรื่องของการต่อรองผลประโยชน์และการอยู่รอดทางการเมือง ทั้งหมดนี้ต้องการจะนำเสนอว่า ข้อถกเถียงสำคัญในการวิเคราะห์เรื่องกฎหมายนั้นอยู่ที่ว่า บางครั้งการสร้างกรอบกฎหมายที่ดูเข้มงวดและตายตัวนั้น อาจจะไม่ได้ทำให้คนเกรงกลัวและเคารพต่อกฎหมาย แต่อาจจะหมายถึงการทำให้เกิดผลที่ไม่ได้ตั้งใจตามมาจากกระบวนการกฎหมายดังกล่าว และทำให้ต้องแก้ปัญหาตามมากันอีกมิใช่น้อย ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ