ข่าว

ชาวพุทธต้องรู้ เปิดที่มา 'วันวิสาขบูชา' วันสำคัญระดับโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วันวิสาขบูชา" มีความเป็นมาอย่างไร องค์การสหประชาชาติ จึงได้ประกาศให้เป็น "วันสำคัญของโลก" เปิดเรื่องที่ชาวพุทธต้องรู้ หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

“วันวิสาขบูชา” ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 โดยองค์การสหประชาชาติประกาศให้เป็น “วันสำคัญของโลก” เมื่อปี พ.ศ. 2542 เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้
มนุษย์มีเมตตาธรรม ก่อเกิดสันติสุข อันเป็นแนวทางของ UN

“วันวิสาขบูชา” มีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรง กล่าวคือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระองค์ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 
เหมือนกันทั้งสามวัน (แต่ต่างปีกัน) นั่นเอง

ทำไม "วันวิสาขบูชา" เป็นวันสำคัญระดับโลก

ในการประชุม International Buddhist Conference ณ กรุงโคลัมโบ ระหว่างวันที่ 9-14 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากเข้าร่วม เช่น บัง
คลาเทศ จีน ลาว เกาหลีใต้ เวียดนาม ภูฐาน อินโดนีเซีย เนปาล กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน และไทย ร่วมกันเสนอให้สหประชาชาติ (UN) รับรองให้ “วันวิสาขบูชา” เป็นวันสำคัญ
สากล เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542

จากนั้นคณะกรรมมาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ร่วมพิจารณาและมีมติเห็นพ้องต้องกันประกาศให้ “วันวิสาขบูชา (Vesak Day)” ถือเป็น “วันสำคัญของโลก” ทั้งนี้ ด้วยสมเด็จ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อมวลมนุษย์ทั้งหลาย จากการยกเลิกแบ่งชนชั้นวรรณะ ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกด้วย กล่าวคือ ทรงสอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ และเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ โดยไม่จำ
เป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ

ที่มา

จากหลักฐานพบว่า "วันวิสาขบูชา" ได้เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากลังกาเมื่อประมาณ พ.ศ. 420 โดยพระเจ้าภาติกุราช 
กษัตริย์แห่งกรุงลังกาได้เป็นผู้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา นับจากนั้นกษัตริย์แห่งลังกาพระองค์อื่นๆ ก็ได้ถือปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบต่อกันมา ส่วนการเผย
แพร่เข้ามาในประเทศไทยนั้นอาจเป็นเพราะเมื่อครั้งสมัยสุโขทัย ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนากับประเทศลังกาอย่างใกล้ชิด 

จะเห็นได้ว่ามีพระสงฆ์จากเมืองลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาและนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย ซึ่งการปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาใน
สมัยสุโขทัยนั้น ได้มีการบันทึกเอาไว้ในหนังสือ นางนพมาศ สรุปใจความได้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชน
ชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนคร ด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ขณะที่พระ
มหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอด
จนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่
พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ ฯลฯ

ต่อมาภายหลังจากสมัยสุโขทัย ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้นไม่มีปรากฏหลักฐาน
การประกอบพิธีวิสาขบูชา จนกระทั่งมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2360) พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นใหม่ 
โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 โดยให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณี
เดิมทุกประการ เพื่อให้ประชาชนได้ทำบุญ ทำกุศลทั่วหน้ากัน อีกทั้งการรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาในครานี้ถือว่าเป็นแบบอย่างปฏิบัติในการประกอบพิธีวิสาขบูชาต่อเนื่องมาจนถึง
ปัจจุบัน
 

กิจกรรมวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา ถือว่าเป็นวันสำคัญยิ่งที่ชาวพุทธทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อจัดพิธีทำบุญใหญ่ หรือจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการบำเพ็ญกุศลระลึกถึงพระพุทธเจ้า โดยในฐานะที่วัน
วิสาขบูชาได้รับการยกย่องให้เป็นวันสำคัญของโลก เมื่อวันวิสาขบูชามาถึง องค์การสหประชาชาติ ณ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีการอัญเชิญพระเจดีย์วิสาขบูชานุ
สรณ์ สกลโลก ประกาศบูชาวันวิสาขะ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานอยู่ ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติเป็นการถาวรและเปิดให้ประชาชนเดินทางเข้า
มาสักการะ

ในประเทศไทย นอกจากพุทธศาสนิกชนจะเดินทางเข้าวัดบำเพ็ญกุศล ถือศีล ฟังธรรมแล้ว ยังนิยมการปล่อยนกปล่อยปลา และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถในช่วงค่ำเพื่อถวายเป็น
พุทธบูชาอีกด้วย เมื่อวันวิสาขบูชามาถึง พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันก็จะมีการบำเพ็ญกุศลความดีอื่นๆ อาทิ ตั้งใจรักษาศีล 5 ศีล 8 งดเว้น
การทำบาปทั้งปวง ทำบุญถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน หรือการปล่อยนกปล่อยปลา ฟังพระธรรมเทศนา รวมถึงเดินทางไปเวียนเทียนรอบพระอุโบสถตั้งแต่ช่วงเย็นกันเป็นจำนวนมาก

ก่อนที่จะเริ่มทำการเวียนเทียน พุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวบทสวดมนต์และคำบูชาในวันวิสาขบูชา ซึ่งโดยปกติตามวัดต่างๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนที่จะเริ่มเวียน
เทียน ส่วนใหญ่นิยมปฏิบัติพิธีการเวียนเทียนกันอย่างเป็นทางการ มีพระสงฆ์เป็นผู้นำเวียนเทียนในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา หรือ 2 ทุ่ม โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดก่อน
เริ่มการเวียนเทียนที่มีทั้งบาลีและคำแปลตามลำดับ ดังนี้ 

 1.บทบูชาพระรัตนตรัย
 2.บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า
 3.บทสรรเสริญพระพุทธคุณ
 4.บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
 5.บทสรรเสริญพระธรรมคุณ
 6.บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
 7. บทสรรเสริญพระสังฆคุณ
 8.บทสรรเสิรญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
 9.บทสวดเนื่องในวันวิสาขบูชา

เมื่อสวดจบแล้วก็จะมีการจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชา จากนั้นจึงเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยในขณะที่เดินพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระ
พุทธคุณด้วยการสวดบท อิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณด้วยการสวด สวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณด้วยการสวด ปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะ
เวียนครบ 3 รอบ เมื่อเดินเวียนครบแล้วให้นำธูปเทียน ดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ