
"พายุวิภา" จ่อขึ้นฝั่งเวียดนาม! ไทยระวังฝนถล่มน้ำท่วมฉับพลัน 22-24 ก.ค.นี้!
ด่วน! พายุโซนร้อน "วิภา" จ่อขึ้นฝั่งเวียดนาม! ไทยระวังฝนถล่มหนักถึงหนักมาก ภาคเหนือ-อีสานตอนบน-กลางตะวันตก จ่อเผชิญน้ำท่วมฉับพลัน 22-24 ก.ค.นี้!
เกาะติดสถานการณ์พายุ! กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนสถานการณ์พายุโซนร้อนกำลังแรง "วิภา (WIPHA)" ล่าสุดวันนี้ (20 กรกฎาคม 2568) ศูนย์กลางพายุอยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ใกล้ชายฝั่งทางตอนใต้ของจีน และกำลังเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วไปทางทิศตะวันตก คาดการณ์ว่าพายุ "วิภา" จะเคลื่อนตัวตามแนวชายฝั่งจีน เข้าสู่อ่าวตังเกี๋ย และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน จากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับเมื่อเคลื่อนเข้าสู่ สปป.ลาว
แม้พายุจะอ่อนกำลังลง แต่ประเทศไทยได้รับผลกระทบแน่นอน! อิทธิพลจากพายุลูกนี้จะทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางด้านตะวันตก พี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 22-24 กรกฎาคม 2568 ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ โดยเฉพาะในจังหวัด น่าน พะเยา และเชียงราย ขอให้เตรียมการรับมือและเตรียมความพร้อมสำหรับการอพยพหากจำเป็น
จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักถึงหนักมาก
วันที่ 20 กรกฎาคม 2568
- ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
- ภาคกลาง: จังหวัดลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และนครปฐม
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
วันที่ 21 กรกฎาคม 2568
- ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร
- ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา
วันที่ 22 - 24 กรกฎาคม 2568
- ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา และอุบลราชธานี
- ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และพระนครศรีอยุธยา
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และพังงา
สำหรับทะเลอันดามันตอนบน มีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะมองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย นอกจากนี้ อิทธิพลของพายุยังส่งผลให้มรสุมมีกำลังแรงขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 - 24 กรกฎาคม 2568 ขอให้ชาวเรือระมัดระวังในการเดินเรือ คลื่นลมในทะเลจะมีกำลังแรง และขอให้ เรือเล็กงดออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด ประชาชนควรติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อรับทราบข้อมูลและสถานการณ์ล่าสุดอย่างต่อเนื่อง!