เปิดเส้นทาง พายุเบบินคา พายุลูกใหม่ เข้าไทยหรือไม่ กระทบไทยอย่างไร
เปิดเส้นทาง พายุเบบินคา พายุโซนร้อนกำลังแรง ลูกใหม่ เข้าไทยหรือไม่ กระทบไทยอย่างไร พร้อมอัปเดตสถานการณ์ฝนช่วง 12 -21 ก.ย. 2567
อัปเดตสถานการณ์ พายุเบบินคา (BEBINCA) เวลา 04.00 น. เช้าวันนี้ (12 ก.ย. 2567) เปิดเส้นทาง พายุโซนร้อนกำลังแรง "เบบินคา" (BEBINCA) ซึ่งมีศูนย์กลางในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก กำลังเคลือนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ และคาดว่าจะมีกำลังแรงขึ้นอีก ซึ่งพายุนี้ไม่ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย จึงยังไม่มีผลกระทบ
พายุโซนร้อนกำลังแรง "เบบินคา" (BEBINCA) (BEBINCA หมายถึงชื่อขนมพุดดิงของเขตบริหารพิเศษมาเก๊า)
อัพเดทผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน ระหว่าง 12 -21 ก.ย. 2567
วันนี้ (12 ก.ย. 2567) หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบนได้เคลื่อนตัวไปปกคลุมประเทศเมียนมาแล้ว ส่วนร่องมรสุมกลับมาพาดผ่านทางตอนบนของไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้หรือลมฝนที่พัดปกคลุมมีกำลังปานกลาง ฝนยังตกต่อเนื่องได้ด้านตะวันตกของภาคเหนือใกล้บริเวณที่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณภาคเหนือด้านตะวันตก (ตาก แม่ฮ่องสอน) ฝนจะเริ่มซาลงแล้ว ท้องฟ้าเริ่มเปิด มีแสงแดดบ้าง แต่สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่างทางภาคเหนือยังต้องเฝ้าติดตามและระมัดระวัง
สำหรับภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยเฉพาะด้านรับมรสุม (บริเวณ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต จันทบุรี และตราด) ยังมีฝนกระจาย โดยมี ฝนตกหนัก เกิดขึ้นได้บางพื้นที่ในบริเวณดังกล่าว ยังต้องเฝ้าระวังฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในบริเวณภาคเหนือ ใช้รถใช้ถนนระยะนี้ต้องระวังฝนตกถนนลื่นเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนทะเลยังมีคลื่นลมมีกำลังปานกลาง ชาวเรือ ชาวประมงเดินเรือด้วยความระวัง
ช่วง 13-17 ก.ย. 2567 ร่องมรสุมแรงขึ้นและจะเลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคอีสาน ภาคกลาง ประกอบมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีกำลังแรงขึ้นและพัดเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคอีสาน ภาคกลาง(รวม กทม.และปริมณฑล) ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ต้องกลับมาเฝ้าระวังฝนตกหนักอีกช่วง โดยเฉพาะชาว กทม.และปริมณฑล นอกจากจะมี ฝนหนัก แล้วยังมีน้ำทะเลหนุนสูงด้วย ยังต้องระวังน้ำท่วมขัง น้ำรอการระบาย
ช่วง 18-21 ก.ย. 2567 ร่องมรสุมเลื่อนต่ำลงมาปกคลุมภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ฝนยังตกต่อเนื่องใกล้ร่องมรสุม ต้องเฝ้าระวัง (ข้อมูลนี้ใช้เป็นแนวทางในการติดตามสภาพอากาศ ยังต้องติดตามด้วยข้อมูลจากผลการตรวจอากาศอื่นๆ ร่วมด้วย (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลง ตามข้อมูลที่มีการประมวลผลใหม่)