Lifestyle

น้ำมันมะพร้าวรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้จริงหรือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

น้ำมันมะพร้าวรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้จริงหรือ : คอลัมน์ ดูแลสุขภาพ

 
          น้ำมันมะพร้าว (coconut oil) ได้จากการสกัดแยกน้ำมันจากเนื้อผลของต้นมะพร้าว (Cocos nucifera) ตระกูลปาล์ม ที่แพร่หลายขณะนี้คือ น้ำมันมะพร้าวที่การสกัดแยก โดยไม่ผ่านกระบวนการที่ใช้ความร้อนสูงและไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปทางเคมี ที่เรียกว่า virgin coconut oil โดยใช้วิธีบีบเย็น เป็นต้น ตัวประกอบหลักเป็นกรดไขมันขนาดปานกลาง (medium chain) ไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งส่วนมากคือ lauric acid แต่ก็มี caprylic, myristic และ palmitic acid อยู่ด้วยน้ำมันมะพร้าวที่จำหน่ายในสหรัฐและบรรยายสรรพคุณว่าดีสำหรับโรคสมองฝ่ออัลไซเมอร์มี caprylic triglyceride เป็นส่วนสำคัญส่วนที่ใช้อ่างหรือนำมาอธิบายถึงคุณงามความดีคือ การที่น้ำมันมะพร้าวป้อนสารคีโตน (ketones) ให้สมอง โดยให้สมองใช้คีโตน แทนน้ำตาลกลูโคส โดยมีความเชื่อว่าโครอัลไซเมอรืคือ “เบาหวานของสมอง” และสมองเบาหวานนี้จะใช้คีโตนได้ดีกว่ากลูโคส และตั้งสมมุติฐานว่าคีโตนจะช่วยลดความเสียหายในเซลล์สมองที่เกิดจากมวลอนุมูลอิสระ รวมทั้งจากสารอักเสบที่เป็นตัวการของโรคอัลไซเมอร์และป้องกันการเกิดตะกอนโปรตีน amyloid ที่เป็นลักษณะสำคัญของโรค ในธรรมชาติตามปกติ พลังงานจะได้จากกลูโคส เมื่อกลูโคสขาดแคลน ตับจะเป็นตัวสร้างคีโตน (ในรูปของ acetoacetate และ beta-hydroxybutyricacid) ให้เป็นแหล่งพลังงานแทน สมองจะไม่เหมือนกับหัวใจหรือกล้ามเนื้อ โดยที่จะใช้กรดมันเป็นพลังงานโดยตรงไม่ได้ จะใช้ได้แต่กลูโคสหรือคีโตน
 
          การให้อาหารที่มีคีโตนมาก (ketogenic diet) คือประกอบด้วยแป้งและโปรตีนน้อยสุดโดยมีไขมันเป็นหลัก ในทางการแพทย์นั้นมีที่ใช้ในโรคลมชักบางชนิดที่ดื้อยาโดยเฉพาะในเด็ก แต่มีผลข้างเคียงทางกระเพาะอาหารและลำไส อาเจียนมาก สำหรับกรดไขมัน กรดไขมันขนาดปานกลางไตรกลีเซอไรด์ จะบริโภคได้ง่ายกว่าอาหารคีโตนดังข้างต้น และจะสามารถกินได้พร้อมกับแป้ง โดยที่ให้คีโตนเหมือนกัน
 
          การศึกษาการใช้อาหารคีโตนในโรคอัลไซเมอร์ให้ผลน่าสนใจ โดยเป็นการทดลองในหนู 2 รายงานในปี 2005 และ 2011 ในสุนัข 1 รายงาน (2008)  และในคนที่เริ่มมีอาการหลงลืม MCI (mild cognitive impairment) ในปี 2012 ซึ่งมีผู้ป่วยในการศึกษา 23 ราย ได้รับอาหารที่มีแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตต่ำ ซึ่งจะเหนี่ยวนำให้มีการสร้างคีโตน พบว่าจะมีความจำดีกว่าคนที่ได้อาหารแป้งสูง ซึ่งคล้ายคลึงกับรายงานในปี 2004 กับผู้ป่วย MCI และที่ป้นอลไซเมอร์แล้ว โดยให้ครื่องดื่มที่มีกรดไขมันขนาดปานกลางไตรกลีเซอร์ไรด์ จะพบว่ามีค่าการวัดความจำดีขึ้นบ้าง ดดยแปรามระดับของ beta-hydroxybutyric acid ที่สูงขึ้น
 
          สำหรับการใช้น้ำมันมะพร้าวกับโรคอัลไซเมอร์แต่มีรายงานของผลิตภัณฑ์ชื่อ Axon a (AC-1202) ของอเมริกาเท่านั้นในปี 2009, 2011 และ 2012 ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง 152 ราย ใช้ผลิตภัณฑ์ (AC-1202) ที่ 10-12-กรัมต่อวัน ไป 90 วัน ณ วันที่  45 กลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะพร้าวมีระดับการทดสอบดีขึ้น แต่ในวันที่ 90 คะแนนกลับมาเท่ากันในกลุ่มที่ได้และไม่ได้น้ำมันมะพร้าว รวมทั้งวันที่ 104 หลังจากหยุดการกินน้ำมันมะพร้าวไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ที่มียีน apolipoprotein E กลับพบว่าน้ำมันมะพร้าวเสริมความจำได้ดีขึ้นที่การทดลองทุกระยะ
 
          ถึงแม้ผลที่ได้จะน่าสนใจ บริษัทผู้ผลิต Axon a ตัดสินใจที่จะไม่ศึกษาระยะหรือ phase ที่สาม ซึ่งจะเป็นขั้นตัดสินชี้ขาดว่าจริงๆ หรือไม่ โดยหันมาผลิตเป็นอาหารทางการแพทย์แทน (medical food) ทำให้ขาดข้อสรุปที่ชัดเจนว่าควรได้ผลจริงหรือไม่ในการใช้กับผู้ป่วยอัลไซเมอร์
 
          ทั้งน้ำมันมะพร้าวทั่วไปและผลิตภัณฑ์ Axon a เป็นสารที่ให้ทั้งพลังงานไขมันอิ่มตัวสูง ทั้งนี้ต้องระวังในเรื่องน้ำหนักตัว และระดับไขมันในเลือด แม้ว่าจะมีรายงานว่าน้ำมันมะพร้าวไม่กระทบกับระดับไขมันหรือทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มก็ตาม ถึงปัจจุบันน้ำมันมะพร้าวและ Axon a ยังไม่ได้รับการรับรองหรือสนับสนุนให้ใช้ในผู้ป่วยสมองเสื่อม แต่ถ้าผู้ป่วยหรือครอบครัวต้องการใช้ ก็จำเป็นที่จะต้องบอกถึงที่มาและหลักฐาน ผลข้างเคียงคือ ท้องเสีย ไขมันสูงในเลือด และต้องย้ำถึงความไม่ชัดเจนเด็ดขาดในการพิสูจน์สรรพคุณและประสิทธิภาพของน้ำมันมะพร้าว ในอเมริกาสนนราคาของน้ำมันมะพร้าวจะตกประมาณ 12 ดอลลาร์สหรัฐต่อขนาด 16 ออนซ์ (ประมาณ 480 ซีซี) และ Axon a ตกประมาณ 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
 
          จะใช้หรือไม่ หมอคงตอบไม่ได้ หมอคงให้ได้แต่หลักฐานที่หาได้ดีที่สุดสำหรับน้ำมันมะพร้าว แต่ที่แน่ๆ ไอศกรีมกะทิ น้ำมันมะพร้าวนี้ของชอบแน่นอน และค่อยไปลดไขมันในตอนหลัง ถ้าไม่เป็นโรคหัวใจตายซะก่อน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง
คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ