Lifestyle

'10 ส.ค.'ได้ฤกษ์เชื่อมต่อฟันหลอช่วง“เตาปูน-บางซื่อ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'10 ส.ค.'ได้ฤกษ์เปิดเดินรถไฟฟ้าเชื่อมต่อฟันหลอช่วง“เตาปูน-บางซื่อ”

                   ในที่สุดคนเมืองก็เตรียมเฮ เมื่อ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ออกมายืนยันวานนี้(12 ก.ค.)ว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน(รถไฟฟ้าใต้ดิน)ช่วงบางซื่อเพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงบริเวณสถานีเตาปูน รวมระยะทาง 1.2 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการผู้โดยสารอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป  โดยขณะนี้ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสีน้ำเงินและสายสีม่วง และผู้ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณช่วงเตาปูน-บางซื่อ อยู่ระหว่างทดสอบระบบการเดินรถช่วง 1 สถานี เมื่อการเชื่อมต่อช่วง 1 สถานีเสร็จสมบูรณ์ก็จะทำให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกมากขึ้น และทำให้จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีผู้โดยสารเพียง 3 หมื่นคนต่อวัน ก็จะเพิ่มเป็น 1 แสนคนต่อวัน ตามเป้าหมายที่วางไว้

                 ทั้งนี้ รฟม.จะจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงในอัตราเดิมที่ 14-42 บาทต่อเที่ยว ส่วนผู้โดยสารที่ใช้บัตร MRT plus จะคิดค่าโดยสารที่ 29 บาทตลอดสาย ส่วนช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์จะมีโปรโมชั่นสำหรับบุคคลธรรมดาทั่วไป ในอัตรา 15 บาทต่อเที่ยวตลอดสาย เด็กและผู้สูงอายุในอัตรา 8 บาทต่อเที่ยวตลอดสาย 

                    ถือว่าเป็นปัญหาด้านการคมนาคมมาเนิ่นนานสำหรับรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายช่วงสถานีเตาปูน-บางซื่อ ที่ยังไม่สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงและรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน(รถไฟฟ้าใต้ดิน) ด้วยเหตุผลทางการเวนคืนที่ดิน ขณะที่การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้นดำเนินการเสร็จก่อน ส่งผลกระทบต่อผู้เดินทางทำให้ไม่ได้รับความสะดวกสบาย เพราะจุดเชื่อมต่อขาดหายไปถึง 1 กิโลเมตร หลังกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ให้ดำเนินการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลและสายฉลองรัชธรรม 1 สถานี จากสถานีเตาปูนไปยังสถานีบางซื่อ ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร วงเงิน 918 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

                 ล่าสุดการดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ โดยจะเริ่มทดลองเดินรถไฟฟ้าเสมือนจริง (Trail running) ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ ก่อนจะเปิดให้บริการประชาชนอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 สิงหาคม 2560

               สำหรับเส้นทางช่วงบางซื่อ-เตาปูนในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีเส้นทางเริ่มต้นจากอุโมงค์ใต้ดินของสถานีบางซื่อในปัจจุบัน ขึ้นสู่ระดับดินบริเวณหน้าที่ทำการบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และยกระดับมุ่งหน้าสะพานสูง บางซื่อ และถนนประชาราษฎร์ สาย 2 ก่อนเข้าสู่ชานชาลาชั้นล่างของสถานีเตาปูนตามแนวทิศตะวันตก-ตะวันออก รวมระยะทางประมาณ 1.2 กิโลเมตร ดังนั้น รถไฟฟ้าสายสีม่วงจึงไม่ได้เข้าสู่สถานีบางซื่อโดยตรง แต่เชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงินช่วงดังกล่าว โดยเข้าสู่ชานชาลาชั้นบนของสถานีเตาปูนตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางต่อเนื่องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ทางทิศใต้

                  ที่จริงทั้งสองสายน่าจะเชื่อมกันได้แล้วก่อนหน้านี้ เพราะสร้างเสร็จและเปิดให้บริการมานานหลายปีแล้ว โดยเฉพาะสายสีน้ำเงิน(รถไฟฟ้าใต้ดิน)ปลายทางที่สถานีบางซื่อและสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-เตาปูน แต่ที่เป็นปัญหามาจากความผิดพลาดของหน่วยงานภาครัฐ แต่ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไข เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) งัดมาตรา 44 ออกมาใช้ ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยมีมติเห็นชอบว่าจ้างบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม เข้าติดตั้งระบบและบริหารเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ รวมทั้งบางซื่อ-เตาปูน

                  ซึ่งการประชุมครม.ในครั้งนั้นได้ให้ข้อสังเกตให้มีการใช้ระบบตั๋วร่วมและให้เพิ่มบุคคลที่ 3 เข้าตรวจสอบรายได้ รายรับและรายจ่ายของการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้งหมด เพื่อความโปร่งใสและเร่งรัดให้เปิดเดินรถ 1 สถานี ช่วงบางซื่อ-เตาปูน ให้ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ด้วย

                  รมว.คมนาคม ย้ำในที่ประชุมครม.ด้วยว่า สัญญาสัมปทานครั้งนี้มีหลักการสำคัญ โดยจะรวมสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงินส่วนแรกช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง) ซึ่งจะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2072 รวมกับส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน (ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค-หัวลำโพง) และอีก 1 สถานี(ช่วงบางซื่อ-เตาปูน) ที่มีอายุสัมปทานถึงปี 2092 โดยให้สิ้นสุดสัมปทานพร้อมกันในปี 2092 

                  “การเจรจาผลตอบแทนกับบีอีเอ็มได้ยึดหลักผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก โดยคำนึงถึงเรื่องค่าแรกเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าจะเก็บครั้งเดียว และคงไว้ซึ่งอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 42 บาทเท่าเดิม หลังเปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินทั้งระบบ โดยสายสีน้ำเงินส่วนแรกมี 18 สถานี บวกอีก 19 สถานี รวมเป็น 37 สถานี ระยะทางรวม 47 กม. ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 16 บาท สูงสุดที่ 42 บาท ปรับเพิ่มตามดัชนีผู้บริโภคทุก 2 ปี”

                 ขณะที่ พีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ โดยระบุว่าการบริหารจัดการโครงการดังกล่าวเป็นรูปแบบ “พีพีพีเน็ตคอสต์” คือเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ทั้งงานระบบและค่าใช้จ่ายในการเดินรถ รวมทั้งการบำรุงรักษาระบบ โดยรัฐไม่มีส่วนสนับสนุนด้านการเงิน เอกชนรับความเสี่ยงทั้งหมด แต่ประชาชนจะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะค่าโดยสารเท่าเดิม แต่เดินทางได้ไกลกว่าเดิม ส่วนข้อดีของการเดินรถรายเดิมและรายเดียวก็จะทำให้เกิดการเดินรถแบบต่อเนื่อง เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการให้บริการ ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายขบวนรถ อีกทั้งยังเกิดความปลอดภัยต่อประชาชนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพราะผู้เดินรถรายเดียวจะบริหารจัดการได้ดีกว่ามีผู้เดินรถหลายราย 

                 ปัจจุบันรถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนแรกจากหัวลำโพง-บางซื่อ มีผู้โดยสารกว่า 3 แสนคน เมื่อเปิดเต็มระบบจะมีถึง 8 แสนคน โดยจะเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงบางซื่อ-เตาปูน เปิดบริการในวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ช่วงหัวลำโพง-บางแค ภายในเดือนกันยายน 2562 และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ จะเปิดบริการในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งจะเป็นการเดินรถครบทั้งระบบ        

               อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) แจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานเชื่อมต่อ 1 สถานี จากสถานีเตาปูน ไปยังสถานีบางซื่อ ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร ว่าปัจจุบันการติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าตามสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ระยะที่ 1 ซึ่งประกอบด้วย ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า และระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ แล้วเสร็จ รวมทั้งได้มีการจัดฝึกอบรมพนักงานเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านบุคลากรรองรับการให้บริการเดินรถไฟฟ้าในช่วงสถานีดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

                  ปัจจุบันเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองเดินรถไฟฟ้าเสมือนจริง มาตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2560 และสามารถเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าได้ในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ โดยได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมทดลองใช้บริการในขบวนปฐมฤกษ์ดังกล่าวด้วย

 ร้องปรับลดค่าที่จอดรถรายเดือนตามวันจอดจริง

                 ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงรายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ปกติจะใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน ไปทำงานเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว ก็นับเป็นเรื่องดีที่การเชื่อมต่อสองสถานีจะเริ่มวันที่ 11 สิงหาคมนี้ เชื่อว่า จะช่วยร่นเวลาการเดินทางได้อย่างน้อย 30-40 นาที ที่แต่เดิมต้องต่อรถบัสจากสถานีเตาปูนไปสถานีบางซื่อ หรือต่อรถไฟของรฟท.จากสถานีบางซ่อนไปสถานีบางซื่อ ซึ่งไม่สามารถกำหนดเวลาการเดินทางได้แน่นอน

               อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้บริการรายนี้เสนอแนะว่า หากรฟม.ต้องการจะให้คนหันมาใช้บริการขนส่งมวลชนมากขึ้น การต่อเชื่อมที่ครบวงจร สามารถตอบโจทย์การเดินทางได้ดีขึ้น แต่แรงจูงใจนั้นควรจะพิจารณาเรื่องราคาให้ผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลางเข้าถึงบริการมากขึ้นเพื่อลดปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดการใช้รถยนต์ลง หรือบริการสาธารณะอื่นที่ไม่ได้ใช้พลังงานสะอาดอย่างเช่นรถไฟฟ้า สุดท้ายก็คือ คุณภาพชีวิตของชาวเมืองทุกคนจะดีขึ้นอย่างแน่นอน

              “ผมอยากฝากรฟม.ให้ขบคิดค่าบริการต่างๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายแก้ปัญหาจราจร และลดมลพิษทางอากาศลงด้วย อีกอย่างหนึ่งก็คือ อาคารจอดแล้วจร ที่ผู้นำรถไปจอดหรือแม้แต่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ไม่สามารถจอดในสถานีที่ไม่ได้ไปลงทะเบียนไว้ได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัด และค่าบริการายเดือนก็คิดเต็ม 30 วัน ทั้งๆ ที่ไม่มีใครที่ไหนนั่งรถไฟฟ้าเดือนละ 30 วันอย่างแน่นอน”ผู้ใช้บริการายเดิมกล่าวทิ้งท้ายด้วยความหวัง

                                                                                .............................................................

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ