วันนี้ในอดีต

20 ก.พ.2550 ผ่าตัดแฝดสยาม รอดคู่แรกของโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

#วันนี้ในอดีต คอลัมน์วาไรตี้ประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่ความทรงจำ

 

 

***************************

 

 

หากจำกันได้คนไทยเคยฮือฮากับข่าวใหญ่แห่งวงการแพทย์ โดยเฉพาะเป็นแพทย์ของประเทศไทยที่สุดเจ๋ง สามารถผ่าตัดแฝดสยามหัวใจ-ตับติดกัน สำเร็จครั้งแรกของโลก

 

เรื่องราวดีๆ นี้ แน่นอนคนไทยและคนทั่วโลกได้ยินพร้อมกันในการแถลงข่าววันที่  5 เมษายน 2550 แต่จริงๆ แล้วการผ่าตัดเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 หรือเมื่อ 13 ปีก่อน

 

วันนี้ในอดีตขอพาผู้อ่านกลับไปทวนความจำกันอีกครั้ง

 

 

 

ข่าวดี

 

 

วันที่ 5 เมษายน 2550 แพทย์ศิริราชประกาศความสำเร็จผ่าตัดแยกแฝดสยามหัวใจติดกันได้สำเร็จ โดยทารกสองคนนั้นคือ  “ด.ญ.ปานตะวัน-ด.ญ.ปานวาด ทิเย็นใจ” วัย 8 เดือน บุตรสาวของ น.ส.อุษา ทิเย็นใจ และนายถาวร วิบุลกุล

 

 

20 ก.พ.2550  ผ่าตัดแฝดสยาม  รอดคู่แรกของโลก

ภาพจากไทยรัฐ

 

 

 

โดยวันนั้น มีรายชื่อทีมแพทย์สหสาขาวิชาที่ร่วมแถลงดังนี้คือ ศัลยแพทย์ กุมารแพทย์ วิสัญญีแพทย์ อาทิ ศ.พญ.อังกาบ ปราการรัตน์ หัวหน้าภาควิชาวิสัญญีวิทยา รศ.นพ.สมชาย ศรียศชาติ ศัลยแพทย์หัวใจ ผศ.นพ.มนตรี กิจมณี ศัลยแพทย์ตกแต่ง ผศ.นพ.มงคล เลาหเพ็ญแสง กุมารศัลยแพทย์ และคณะ

 

ผศ.นพ.มงคล กล่าวว่า เด็กแฝดปานวาดและปานตะวัน เกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2549 เวลา 18.37 น. โดยการผ่าคลอดเมื่ออายุครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ ทั้งคู่มีน้ำหนักแรกคลอดรวมกันประมาณ 3,570 กรัม มีลำตัวด้านหน้าติดกันตั้งแต่บริเวณทรวงอกลงมาถึงผนังหน้าท้อง

 

จากการตรวจร่างกายภายนอก พบว่าเด็กมีบริเวณที่ติดกัน ขนาด 17 x 8 ซ.ม. และได้ทำการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังสูง พบว่า ทารกมีอวัยวะภายในที่ติดกัน 2 ส่วน คือ มีตับติดกันเป็นบริเวณกว้าง รวมทั้งมีหัวใจเชื่อมต่อกันด้วย โดยหัวใจห้องบนขวาของแฝดพี่ ปานตะวัน เชื่อมกับหัวใจห้องบนซ้ายของแฝดน้อง ปานวาด และมีเลือดจากปานตะวันไหลผ่านมายังปานวาดตลอดเวลา

 

ดังนั้น คณะแพทย์จึงไม่แน่ใจว่าหัวใจทั้งสองดวงทำงานพึ่งพากันหรือไม่ เพราะหากมีหัวใจที่ต้องพึ่งพากันในการทำงานอาจเป็นอันตรายต่อแฝดอีกคนได้ โดยเฉพาะแฝดน้องมีลักษณะจะได้ผลกระทบมากกว่า คณะแพทย์จึงต้องตรวจการทำงานของหัวใจเพิ่มเติม

 

สำหรับการตรวจนั้น มีรายละเอียดว่า แพทย์ได้ทำการสวนหัวใจด้วยสายสวนติดบัลลูนเพื่อเข้าไปปิดบริเวณรอยเชื่อมต่อของหัวใจ เสมือนเป็นการแยกหัวใจชั่วคราว ปรากฏว่าไม่เกิดผลเสียต่อทั้งคู่ จึงสามารถวางแผนการผ่าตัดในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 ขณะที่ทารกอายุได้ 8 เดือน และมีน้ำหนักตัวรวมกัน 10.9 กิโลกรัม

 

ความพิเศษของเคสนี้ อย่างที่บอกว่ายาก โดยผศ.นพ.มงคล ระบุว่าจากการค้นรายงานทางการแพทย์ เด็กแฝดตัวติดกันจะมีโอกาสเสียชีวิตตั้งแต่แรกคลอดสูง แต่ก็มีโอกาสรอดชีวิตภายหลังคลอด

 

สำหรับแฝดที่มีหัวใจติดกัน พบว่าเคยมีการผ่าแยกแต่เสียชีวิต หรือรอดเพียงคนเดียวเท่านั้น ดังนั้นครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่สามารถผ่าแยกและรอดชีวิตทั้งคู่ แต่ยังคงต้องดูแลแฝดน้อง ปานวาด ในเรื่องหัวใจอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะมีปัญหาเรื่องการหายใจและยังมีรูรั่วที่หัวใจห้องบน ซึ่งต้องรอให้หัวใจแข็งแรงมากกว่านี้จึงสามารถผ่าตัดเย็บอีกครั้งได้

 

ทั้งนี้ในการตัดสินใจครั้งนั้น ถือวา่ยากมาก เพราะหากผ่าตัดแล้วจะเกิดผลกระทบให้แฝดอีกคนเสียชีวิต แพทย์ก็จะไม่อยากทำ เพราะเป็นหลักมนุษยธรรม แถมยังมีบางรายผ่าแยกแล้วเกิดปัญหาการพิการภายหลัง

 

แต่ต้องนับเป็นบุญของน้องปานตะวันและปานวาด ที่สามารถผ่านการผ่าตัดมาได้ มีร่างกายแข็งแรงดี

 

 

 

 

 

ลุ้นตัวโก่ง

 

สำหรับ ขั้นตอนการผ่าตัดเป็นการทำงานร่วมกันของศัลยแพทย์ และวิสัญญีแพทย์ โดยเริ่มจากวิสัญญีแพทย์แบ่งเป็น 2 ทีม คอยดูแลเด็กทีมละคน เพื่อมิให้เกิดความสับสนในการให้ยาสลบและการตรวจจับสัญญาณชีพ แต่ก็ยังคงต้องปรึกษาหารือกันใกล้ชิด เพราะการเปลี่ยนแปลงของทารกรายหนึ่งจะส่งผลไปถึงอีกรายได้ โดยผ่านทางส่วนที่ต่อเชื่อมหัวใจและตับ

 

 

 

20 ก.พ.2550  ผ่าตัดแฝดสยาม  รอดคู่แรกของโลก

ภาพจากเดลินิวส์

 

 

 

ทั้งนี้การผ่าตัดเริ่มต้นด้วยการแยกหัวใจออกจากกัน โดยทำการผ่าตัดโดยทีมศัลยแพทย์หัวใจ เริ่มต้นด้วยการหนีบปิดส่วนเชื่อมต่อของหัวใจอีกครั้งประมาณ 30 นาที เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถตัดแยกหัวใจได้โดยไม่เกิดปัญหา

 

หลังจากนั้นจึงทำการตัดรอยเชื่อมต่อของหัวใจ ซึ่งเป็นรูขนาดประมาณ 1 ซ.ม. และมีเลือดไหลผ่านตลอดเวลา การผ่าตัดช่วงนี้ใช้เวลานานเกือบ 3 ชั่วโมง เพราะต้องทำการผ่าตัดในที่ลึกและแคบ ประกอบกับหัวใจยังคงเต้นอยู่ตลอดเวลา

 

ต่อมาจึงเป็นขั้นตอนการผ่าตัดแยกตับ หน้าท้องออกจากกัน ซึ่งทั้งคู่มีระบบท่อน้ำดีแยกกัน ทำการผ่าตัดโดยทีมกุมารศัลยแพทย์ เนื่องจากรอบเชื่อมต่อของตับมีขนาดใหญ่ ขั้นตอนการผ่าตัดนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวัง ในการควบคุมมิให้มีเลือดออก เพราะถ้ารับเลือดมากจะเป็นผลเสียอย่างยิ่งต่อทารกทั้งคู่ที่ยังอ่อนแอและเพิ่งผ่านการผ่าตัดหัวใจมาใหม่ ๆ การผ่าตัดแยกตับใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 2 ชั่วโมง

 

หลังจากนั้นเป็นขั้นตอนการแยกร่าง โดยศัลยแพทย์ทั้งหมดตัดแยกทารกทั้งคู่ออกจากกันโดยสิ้นเชิงสำเร็จ จากนั้นจึงแยกปานตะวัน ไปที่ห้องผ่าตัดอีกห้องหนึ่ง เพื่อทำการเย็บซ่อมแซมรูโหว่ที่ผนังทรวงอกและผนังหน้าท้อง

 

ส่วนปานวาด อยู่ที่ห้องผ่าตัดเดิม และต้องเย็บแผลปิดโดยการใช้สารสังเคราะห์ช่วย เพราะรูโหว่มีขนาดกว้างมากและหัวใจนูนออกมาพ้นผนังทรวงอกเล็กน้อย จากนั้นจึงเย็บผิวหนังมาคลุมอีกชั้นหนึ่ง

 

โดยขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาตั้งแต่ดมยาสลบจนทารกทั้งคู่ออกจากการผ่าตัดใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 12 ชั่วโมง ใช้ทีมงานทั้งสิ้น 61 คน เป็นวิสัญญีแพทย์ 14 คน ศัลยแพทย์หัวใจ 5 คน ศัลยแพทย์ตกแต่ง 7 คน กุมารศัลยแพทย์ 5 คน และพยาบาลห้องผ่าตัด 30 คน โดยเป็นทีมแพทย์ของไทยทั้งหมด

 

ข่าวระบุว่า อุษา ทิเย็นใจ มารดาของแฝดทั้งคู่ กล่าวว่า ครั้งแรกเมื่อทราบว่าลูกเป็นแฝดและตัวติดกันตั้งแต่ทั้งคู่อยู่ในท้อง ตอนนั้นเสียใจมากที่ลูกไม่เป็นเหมือนเด็กคนอื่นและสงสารมาก ร้องไห้ไม่กินข้าวอยู่หลายวัน แต่ได้มาตรวจที่ โรงพยาบาลศิริราช และมีทั้งหมอ พยาบาลดูแลอย่างดี

 

เมื่อคลอดแล้วคณะแพทย์ก็ดูแลโดยตลอด และแจ้งให้ทราบว่าระยะห่างของหัวใจตั้งแต่คลอดจนถึงช่วงเวลาก่อนผ่าเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จึงตัดสินใจให้แพทย์ผ่าทั้งคู่ เพราะสงสารลูก เช่นตอนเวลานอนแฝดคนน้องปานวาด ซึ่งตัวเล็กกว่าจะตัวลอยจากที่นอนมาก และ หัวของลูกมีลักษณะแบนมากเพราะนอนได้ข้างเดียว เมื่อปรึกษาแพทย์แน่ใจแล้วจึงให้ผ่าตัดแยก

 

สำหรับใครที่ยังติตดามว่า ที่สุดแล้ว น้องปานวาดและปานตะวันเป็นอย่างไร บอกได้เลยว่าทั้งคู่ยังคงแข็งแรงและมีชีวิตที่มีความสุข เป็นเด็กหญิงวัย 13 ปี ที่สดใสร่าเริงที่สุดเลยทีเดียว

 

 

******************************

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ