วันนี้ในอดีต

21 ม.ค.2453 กำเนิดขุนพลเพลง เอื้อ สุนทรสนาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กำเนิดขุนพลเพลง เอื้อ สุนทรสนาน #วันนี้ในอดีต คอลัมน์วาไรตี้ประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่ความทรงจำ

 

 

**************************

 

 

วันนี้ในอดีต ตรงกับวันที่ 21 มกราคม 2453 คือวันที่ “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” ถือกำเนิดขึ้นมา ท่านนับเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการเพลงไทยสากล เป็นครูเพลง เป็นบุคคลสำคัญที่ควรค่าแก่การรำลึกถึง

 

และในโอกาส 110 ปีชาตกาล วันนี้ในอดีต ขอนำเรื่องราวของท่านมานำเสนออีกครั้ง

 

 

 

วัยเด็ก

 

 

ครูเอื้อเกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2453 ณ ตำบลโรงหีบ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาชื่อ นายดี สุนทรสนาน มารดาชื่อ นางแส สุนทรสนาน

 

เดิมที ครูเอื้อมีนามเดิมว่า “ละออ” ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น “บุญเอื้อ” และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น “เอื้อ”

 

 

21 ม.ค.2453  กำเนิดขุนพลเพลง  เอื้อ สุนทรสนาน

 

 

ครูเอื้อมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ได้แก่ หมื่นไพเราะพจมาน (อาบ สุนทรสนาน) ต่อมาได้รับพระราชนามสกุล สุนทรสนาน จาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และนางเอื้อน แสงอนันต์

 

ครูเอื้อ เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะที่บ้านเกิด แต่ร่ำเรียนได้เพียงปีเดียวบิดาได้พาเข้ากรุงเทพมหานคร โดยพักอาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งเวลานั้นรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ

 

ต่อมาครูเอื้อเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตาราม จนจบชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวง ขึ้นที่สวนมิสกวัน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนวิชาสามัญตามปกติ (ภาคเช้า) และวิชาดนตรีทุกประเภท(ภาคบ่าย) ที่นั่นครูเอื้อเลือกเรียนดนตรีฝรั่งตามความถนัด กับครูผู้ฝึกสอนคือ ครูโฉลก เนตตะสุต และ อาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์พระเจนดุริยางค์

 

หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี 2465 ขณะที่มีอายุ 12 ปี พระเจนดุริยางค์เห็นว่ามีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี จึงให้หัดไวโอลิน และ แซ็กโซโฟน ทั้งยังให้เปลี่ยนมาเรียนดนตรีเต็มวัน ส่วนวิชาสามัญนั้นให้งดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นต้นมา

 

 

 

ชีวิตการทำงาน

 

 

สองปีต่อมา เมื่ออายุได้เพียง 14 ขวบ ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อคณาจารย์ทั้งหลาย จึงได้ให้เข้ารับราชการประจำ กองเครื่องสายฝรั่งหลวงในกรมมหรสพ กระทรวงวัง รับพระราชทานยศเป็น “เด็กชา” เงินเดือน 5 บาท 

 

ต่อมา ได้เลื่อนขึ้นไปเล่นวงใหญ่ในปี 2469 เงินเดือนเพิ่มเป็น 20 บาท และ 2 ปีต่อมาก็ได้รับพระราชทานยศ “พันเด็กชาตรี” และ “พันเด็กชาโท” ในปีถัดไป

 

 

21 ม.ค.2453  กำเนิดขุนพลเพลง  เอื้อ สุนทรสนาน

 

 

กระทั่งช่วงปี 2475 มีอายุได้ 22 ปี ครูเอื้อได้โอนไปรับราชการสังกัดกรมศิลปากร ในสังกัดกองมหรสพ 3 ปีต่อมาหลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ครุเอื้อได้รับเงินเดือนขึ้นเป็น 40 บาท และ 50 บาทใน 2 ปีต่อมา

 

ทั้งนี้ ครูเอื้อนอกจากนับราชการในกรมศิลปากรแล้ว ยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับคณะละครร้องที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น คณะของ “แม่เลื่อน ไวณุนาวิน” และได้แต่งทำนองเพลง “ยอดตองต้องลม” ขึ้น นับเป็นเพลงแรกที่แต่งทำนอง (เฉลิม บุณยเกียรติ ใส่คำร้อง) ในปีเดียวกันนั้น ได้ขับร้องเพลง นาฏนารี (คู่กับ นางสาววาสนา ละออ) ซึ่งถือว่าเป็นเพลงแรกที่ได้ขับร้องบันทึกเสียง

 

จนอายุได้ 26 ปี ครูเอื้อก็มีโอกาสเล่นดนตรีประกอบภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม “ถ่านไฟเก่า” สร้างโดย บริษัทไทยฟิล์ม (ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล, หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์, นายพจน์ สารสิน และ นายชาญ บุนนาค) และยังได้ร้องเพลง “ในฝัน” แทนเสียงร้องของพระเอก ต่อมาได้เป็นหัวหน้าวงดนตรีฟิล์มด้วย

 

ต่อมาท่านจึงได้ตั้งวงดนตรีขึ้นในปีถัดมา ชื่อว่า “ไทยฟิล์ม” ตามชื่อบริษัทหนัง แต่ต้องสลายตัวเมื่อไทยฟิล์มเลิกกิจการไปหลังจากนั้นเพียงปีเศษ

 

ปีต่อมาทางราชการได้ปรับปรุงสำนักงานโฆษณาการ เชิงสะพานเสี้ยว และยกฐานะขึ้นเป็นกรมโฆษณาการ นายวิลาศ โอสถานนท์ อธิบดี เห็นว่า เมื่อมีสถานีวิทยุของรัฐบาลแล้ว ก็ควรจะมีวงดนตรีประจำอยู่ จึงได้นำความคิดไปปรึกษาหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์

 

คุณหลวงจึงได้แนะนให้ยกวงของเอื้อมาอยู่กรมโฆษณาการ โดยการโอนอัตรามาจากกรมศิลปากร อันเป็นที่มาของวงดนตรีกรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ โดยมีครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน  2482 (ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8)

 

 

 

ชีวิตครอบครัว

 

 

ครูเอิ้อสมรสกับ อาภรณ์ กรรณสูต ธิดาพระยาสุนทรบุรี และคุณหญิงสอิ้ง กรรณสูต เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2489 มีบุตร 1 คน คือ นางอติพร เสนะวงศ์ (สมรสกับ พล.ต.ท. สันติ เสนะวงศ์)

 

และตรงนี้เองที่มีเกร็ดเล่าว่า ครูเอื้อคราวนำวงดนตรีไปแสดงที่โรงภาพยนตร์โอเดียน ปี 2482 ผู้จัดเห็นว่าเป็นการไม่เหมาะหากนำวงดนตรีของราชการไปบรรเลงในโรงภาพยนตร์เอกชน จึงหารือกันว่าควรใช้ชื่อวงเป็นอย่างอื่น ในตอนนั้น ครูเอื้อกำลังตกหลุมรักกับ “อาภรณ์” จึงได้ถือโอกาสนำนามสกุลของตนเองไปรวมกับชื่อของคนรัก ซึ่งรวมกันแล้วก็ได้ชื่อวงว่า “สุนทราภรณ์” นั่นเอง

 

 

21 ม.ค.2453  กำเนิดขุนพลเพลง  เอื้อ สุนทรสนาน

 

 

ต่อมาในปี 2495 ครูเอื้อได้เป็นหัวหน้าแผนกบันเทิงต่างประเทศ  ช่วงนั้นนับเป็นบุญสุงสุด ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชทานเหรียญรูปเสมาทองคำที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสครบรอบ 30 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2512 อีกด้วย

 

ครูเอิ้อเกษียณอายุราชการในปี 2514 และทางกรมประชาสัมพันธ์ได้จ้างพิเศษให้ดำเนินตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการดนตรีต่ออีก 2 ปี จนออกจากงานอย่างถาวรในปี 2516 ปีเดียกวันครูเอื้อยังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 อีกด้วย

 

 

 

ปัจฉิมวัย

 

 

ปลายปี 2521 ครูเอื้อในวัย 68 เริ่มมีอาการไข้สูงเป็นระยะๆ แพทย์ได้เอกซเรย์ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา จึงได้เริ่มรักษา

 

ที่สุดปลายปี 2522 มีอาการทรุดหนัก จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วก็กลับไปรักษาที่บ้านต่อ

 

กระทั่งในช่วงปี 2523 ครูเอิ้อได้เดินทางพร้อมกับนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเข้าเฝ้าล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และได้ขับร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้าย คือ “เพลงพรานทะเล”

 

 

21 ม.ค.2453  กำเนิดขุนพลเพลง  เอื้อ สุนทรสนาน

 

 

ตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2523 เป็นต้นมา สุขภาพครูเอื้อทรุดลงเป็นลำดับ จนเมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน 2524 ก็ได้ถึงแก่กรรม รวมอายุได้ 71 ปี 2 เดือน 11 วัน

 

สำหรับ เกียรติยศ ครูเอื้อได้รับโล่เกียรติยศพระราชทานในฐานะศิลปินตัวอย่าง (ผู้ประพันธ์เพลง) ในงานรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2523 - 2524 โดยมี นางอติพร เสนะวงศ์ (สุนทรสนาน) บุตรีเป็นผู้รับแทน

 

 

************************************

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ