Lifestyle

21 พ.ย.2358 สิ้นกษัตริย์นักรบ "พระเจ้ากาวิละ" ผู้นำล้านนา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กษัตริย์ชาตินักรบ ได้ถึงแก่พิราลัยทรงปกครองนครเชียงใหม่เป็นระยะเวลานาน 32 ปี สิริพระชนมายุได้ 74 พรรษา

 

 

***********************

 

 

ย้อนไปนานมาก ในวันนี้เมื่อ 204 ปีก่อน ตรงกับวันพุธที่ 21 พฤศจิกายน 2358 คือวันที่ พระเจ้ากาวิละ พระเจ้านครเชียงใหม่พระองค์แรกแห่ง “ราชวงศ์ทิพย์จักร” ผู้ทรงได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ชาตินักรบ ได้ถึงแก่พิราลัยทรงปกครองนครเชียงใหม่เป็นระยะเวลานาน 32 ปี สิริพระชนมายุได้ 74 พรรษา

 

วันนี้ในอดีตขอรำลึกถึง พระบรมราชาธิบดี หรือพระเจ้ากาวิละ ด้วยพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจอันสำคัญ อีกครั้ง

 

 

พระราชประวัติ

 

ข้อมูลจากวิกิพีเดียเล่าถึงพระราชประวัติไว้ว่า พระเจ้ากาวิละ ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2285 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

 

 

21 พ.ย.2358 สิ้นกษัตริย์นักรบ  "พระเจ้ากาวิละ"  ผู้นำล้านนา

พระเจ้ากาวิละ

 

 

พระองค์เป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ในเจ้าฟ้าสิงหราชธานี เจ้าฟ้าหลวงชายแก้วเจ้านครลำปาง กับแม่เจ้าจันทาราชเทวี และเป็นพระราชนัดดา (หลานปู่) พระองค์แรกในพระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง) กับแม่เจ้าพิมพาราชเทวี องค์ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร

 

 

21 พ.ย.2358 สิ้นกษัตริย์นักรบ  "พระเจ้ากาวิละ"  ผู้นำล้านนา

จ้าฟ้าสิงหราชธานี เจ้าฟ้าหลวงชายแก้วเจ้านครลำปาง

 

 

 

พระเจ้ากาวิละ มีพระอนุชาและพระขนิษฐารวม 10 พระองค์ (หญิง 3 ชาย 7) เจ้าชายทั้ง 7 พระองค์ได้ทรงช่วยกันต่อสู้อริราชศัตรูขยายขอบขัณฑสีมาล้านนาออกไปอย่างเกรียงไกร เป็นเหตุให้ทั้งเจ็ดองค์มีพระสมัญญาว่า “เจ้าเจ็ดตน” มีพระนามตามลำดับ ดังนี้

 

1.พระเจ้ากาวิละ พระเจ้านครเชียงใหม่ พระองค์ที่ 1, เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 3

2.พระยาคำโสมเจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 4

3.พระยาธรรมลังกาเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 2

4.พระเจ้าดวงทิพย์เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 5

5. เจ้าศรีอโนชาพระอัครชายาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

6.เจ้าหญิงสรีวัณณา (ถึงแก่พิราลัยแต่เยาว์)

7.เจ้าอุปราชหมูหล้า พระอุปราชนครลำปาง

8.พระยาคำฟั่นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 3 และเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 1

9.เจ้าหญิงสรีบุญทัน (พิราลัยแต่เยาว์)

10.พระเจ้าบุญมาเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 2

 

 

 

ราชโอรส ราชธิดา

 

พระเจ้ากาวิละ มีพระราชเทวี คือ แม่เจ้าโนจา และมีพระโอรสและพระธิดา รวม 5 พระองค์ อยู่ในสกุล “ณ เชียงใหม่” มีพระนามตามลำดับ ดังนี้

 

เจ้าราชบุตร (สุริยฆาต) - เจ้าไปยกา (ตาทวด) ในหม่อมทิพวันและหม่อมศรีนวลชายาในพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ พระเจ้านครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 - พระอัยกา (เจ้าตา) ในเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระไปยกา (เจ้าตาทวด) ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี

เจ้าหนานมหาวงศ์ - เจ้าปู่ในเจ้าจอมมารดาทิพเกสร ในรัชกาลที่ 5และพระไปยกา (เจ้าตาทวด) ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี

เจ้าคำใส

เจ้าหนานไชยเสนา - เสกสมรสกับ “เจ้าหญิงสนธยา ณ เชียงใหม่” ราชธิดาใน “พระยาคำฟั่นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 3 และ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 1”

 

 

พระราชกรณียกิจ

 

ตลอดรัชสมัยของพระองค์เป็นช่วงเวลาแห่งการศึกสงครามและสร้างบ้านแปงเมือง ดังนั้นจึงทรงเป็นกษัตริย์ชาตินักรบ ที่ได้ทรงร่วมกับพระอนุชาทั้ง 6 และกองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกอบกู้อิสรภาพแผ่นดินล้านนาออกจากพม่า และนำล้านนาเข้ามาเป็นประเทศราชแห่งสยาม

 

โดยพระราชกรณียกิจของพระเจ้ากาวิละ อาจแบ่งได้เป็นยุค ดังนี้

 

ยุคล้านนาของพม่า  หรือ ในสมัยปลายพม่าครองล้านนา เมื่อปี 2313 พระยาจ่าบ้าน (บุญมา) ขุนนางเมืองเชียงใหม่ เกิดวิวาทถึงขั้นใช้กำลังทหารเข้าทะเลาะวิวาทกับโป่มะยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ พระยาจ่าบ้านมีกำลังน้อยสู้ไม่ไหวจึงหนีไปหาโป่สุพลา แม่ทัพพม่าที่แต่งทัพไปล้านช้าง โป่สุพลากับโป่มะยุง่วนนั้นไม่ค่อยถูกกัน โป่สุพลาจึงรับพระยาจ่าบ้านไว้ในความดูแล

 

ในปี 2314 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพขึ้นเหนือเพื่อจะขับไล่พม่าที่ครองเวียงเชียงใหม่อยู่ แต่ล้อมเชียงใหม่ได้เพียง 9 วันก็เลิกทัพกลับ[4]โป่สุพลายกทัพจากเชียงแสนกลับถึงเชียงใหม่ในพ.ศ. 2316 พร้อมพาพระยาจ่าบ้านกลับมาด้วย โปสุพลาตั้งทัพอยู่ที่ประตูท่าแพและไม่ยอมส่งตัวพระยาจ่าบ้านให้โป่มะยุง่วน โป่มะยุง่วนทำอะไรไม่ได้จึงร้องเรียนไปยังกรุงอังวะ

 

ในปี 2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯ ให้เจ้าพระยาสองพี่น้องคือ เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพขึ้นตีเวียงเชียงใหม่ โปสุพลาทราบว่าธนบุรียกทัพขึ้นมา จึงให้พระยาจ่าบ้านและเจ้ากาวิละคุมกำลังพล 1,000 นายเป็นกองหน้าลงไปลำปาง แล้วตนจะยกทัพใหญ่ราวหมื่นนายตามลงไปสมทบหมายจะทำศึกกับทัพธนบุรีที่ลำปาง

 

 

21 พ.ย.2358 สิ้นกษัตริย์นักรบ  "พระเจ้ากาวิละ"  ผู้นำล้านนา

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระนามเดิม บุญมา

 

 

ระหว่างนั้น กรุงอังวะมีตราเรียกให้ส่งตัวพระยาจ่าบ้าน และเจ้ากาวิละไปพิจารณาความที่กรุงอังวะ แต่โป่สุพลาก็ยังปฏิเสธส่งตัวทั้งสองคน โดยอ้างว่าทั้งสองยังติดพันราชการศึกอยู่ หากเรียกตัวทั้งสองกลับมาจะทำให้เสียการเสียงานได้ โป่มะยุง่วนทำอะไรไม่ได้จึงสั่งนายกองที่ลำปางเข้าคุมตัวเจ้าฟ้าหลวงชายแก้วภริยา และบุตรของเจ้ากาวิละส่งตัวไปที่กรุงอังวะเป็นตัวประกัน

 

พระยาจ่าบ้านซึ่งคุมกำลังอยู่ที่ฮอดทราบข่าวจึงรีบใช้คนสนิทไปบอกเจ้ากาวิละ และตนเองออกอุบายรับอาสาโป่สุพลาจัดกองหน้า ที่นำโดยนายก้อนแก้วผู้เป็นหลานไปสำรวจทาง

 

นายก้อนแก้วจึงนำกองทหารโพกผ้าแดงลอบไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งตั้งกองทหารเล็กๆอยู่ที่ถ้ำช้างร้องใกล้เวียงลี้

 

เจ้ากาวิละเมื่อทราบว่าบิดาและครอบครัวถูกส่งตัวไปยังกรุงอังวะ ก็นำกำลังสังหารนายกองพม่าในนครลำปางเสีย และรีบส่งคนไปชิงตัวครอบครัวกลับมาได้

 

 

ยุคธนบุรี 

 

เมื่อกองทัพเจ้าพระยาสองพี่น้องยกมาถึงลำปาง เจ้ากาวิละได้นำเสบียงอาหารและไพร่พลเข้าร่วมสมทบกับกองทัพกรุงธนบุรี

 

เมื่อโปสุพลาซึ่งยกทัพใหญ่ตามลงมาได้ครึ่งทางได้ยินว่าเจ้ากาวิละไปเข้ากับธนบุรีเสียแล้ว จึงยกทัพถอยไปตั้งหลังที่เวียงเชียงใหม่แต่ก็ไม่สามารถต้านทานได้ พาพวกหลบหนีออกไปทางประตูช้างเผือกมุ่งหน้าไปเชียงแสน

 

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยาจ่าบ้านขึ้นเป็น "พระยาวิเชียรปราการไ ครองนครเชียงใหม่ และตั้งนายก้อนแก้ว ผู้เป็นหลาน ขึ้นเป็นพระยาอุปราชนครเชียงใหม่

 

ขณะเดียวกัน ทรงสถาปนาเจ้ากาวิละขึ้นเป็น “พระยานครลำปาง” และให้เจ้าหนานธัมมลังกาเป็น “พระยาอุปราชนครลำปาง” ในฐานะประเทศราชของกรุงธนบุรี

 

ในการนี้เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ได้รับเอาเจ้ารจจาน้องสาวของเจ้ากาวิละเป็นภริยากลับไปยังกรุงธนบุรีด้วย

 

ต่อมา ในปี 2318 โปมะยุง่วนยกทัพพม่าจากเชียงแสนมาล้อมเวียงเชียงใหม่ พระยาวิเชียรปราการเห็นว่าสู้ไม่ไหวจึงมอบหมายให้อุปราชก้อนแก้วสะสมเสบียงรออยู่ที่วังพร้าว

 

เมื่อพม่าล้อมเชียงใหม่ได้ 8 เดือน พระยาวิเชียรปราการจึงทิ้งเมืองมุ่งหน้าไปเมืองระแหง (เมืองตาก) เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

 

ทัพพม่าตามตีหลังมาจนถึงลำปางและยกทัพเข้าตีนครลำปาง พระยากาวิละและอนุชาไม่สามารถต้านทานได้จึงทิ้งเมืองมุ่งหน้าไปสวรรคโลกทางด้านพระยาวิเชียรปราการนั้น

 

พอยกทัพมาถึงวังพร้าวก็เกิดทะเลาะวิวาทกับอุปราชก้อนแก้วเรื่องเสบียง ซึ่งทำให้พระยาวิเชียรปราการบันดาลโทสะฆ่าอุปราชก้อนแก้วเสีย

 

เมื่อทัพหลวงธนบุรีขับไล่พม่าออกไปในปี 2319 พระยากาวิละและอนุชาจึงยกทัพกลับมาตั้งมั่นที่นครลำปางอีกครั้ง

 

ในปี 2323 ครั้นกรุงธนบุรีไปตีล้านช้าง เมื่อเจ้าพระยาจักรีและพระยาสุรสีห์ตีเวียงจันทร์ได้แล้ว แม่ทัพทั้งสองได้แต่งกองข้าหลวงออกไปสืบข่าวทางเมืองน่านจนถึงนครลำปาง

 

แต่ข้าหลวงเหล่านั้นได้ประพฤติตนเช่นอันธพาล เที่ยวปล้นโจรกรรมชิงทรัพย์สินด้วยประการต่างๆ พระยากาวิละทราบความจึงคุมกำลังเข้าสังหารข้าหลวงเหล่านั้นเสีย พวกที่รอดตายพากันไปกราบทูลพระเจ้ากรุงธนบุรี

 

พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้มีตราเรียกพระยากาวิละลงมาเข้าเฝ้าที่กรุงธนบุรี ซึ่งพระยากาวิละทราบว่าตนมีความผิด จึงไม่ยอมลงมาจึงขัดตรานั้นถึงสามครั้ง ซึ่งพระยากาวิละก็ได้ไปตีเอาผู้คนจากเมืองลอง เมืองเทิงเพื่อหวังเอาความชอบไถ่โทษ

 

เมื่อพระยาวิเชียรปราการพาผู้คนที่กวาดต้อนลงไปถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงมีพระราชโองการให้ลงโทษ พระยาวิเชียรปราการในความผิดฆ่าอุปราชก้อนแก้วผู้เป็นหลาน และลงโทษพระยากาวิละที่ขัดตราด้วยการโบยคนละ 100 ที 

 

พร้อมทั้งให้ตัดขอบหูพระยากาวิละทั้งสองข้างในความผิดสังหารข้าหลวง ทั้งสองถูกนำไปขังคุก ในระหว่างที่ถูกคุมขัง พระยากาวิละได้ขออาสาไปตีเมืองเชียงแสนเป็นการไถ่โทษ จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษพร้อมกลับคืนฐานันดรศักดิ์ ส่วนพระยาวิเชียรปราการได้ล้มป่วยและเสียชีวิตที่กรุงธนบุรี

 

ยุครัตนโกสินทร์ เมื่อพระยากาวิละตีเชียงแสนได้แล้ว เป็นช่วงเวลาที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

 

พระยากาวิละที่นำไพร่พลและเชลยลงไปเฝ้า ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "พระยาวชิรปราการ" เจ้านครเชียงใหม่ พร้อมกันนี้โปรดเกล้าให้ เจ้าหนานธัมลังกาเป็น “พระยาอุปราชนครเชียงใหม่” และให้เจ้าคำสมเป็น “พระยานครลำปาง” และเจ้าดวงทิพเป็น “พระยาอุปราชนครลำปาง”

 

เมื่อพระยาวชิรปราการขึ้นครองนครเชียงใหม่ ขณะนั้นเวียงเชียงใหม่ยังคงเป็นเมืองร้างที่ไร้ผู้คน พระยาวชิรปราการจึงต้องนำไพร่พลไปพักอยู่ที่เวียงเวฬุคามนานเกือบ 20 ปี

 

ระหว่างนั้น ก็ได้ไปกวาดต้อนผู้คนจากที่ต่างๆ มาสะสมไว้ที่เวียงเวฬุคาม เพื่อรอฟื้นฟูเวียงเชียงใหม่ จึงเรียกว่ายุคนี้เป็นยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”

 

ครั้นสะสมกำลังพลและพลเมืองพอที่จะดูแลเวียงเชียงใหม่ได้แล้ว จึงได้ยาตราเข้าเวียงเชียงใหม่ เมื่อปี 2334 และได้ฟื้นฟูเวียงเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของล้านนาได้ในเวลาต่อมา โดยได้ขนานนามเวียงเชียงใหม่ว่าเมืองรัตนตึงษาอภินณบุรี เมื่อปี 2343

 

 

 

21 พ.ย.2358 สิ้นกษัตริย์นักรบ  "พระเจ้ากาวิละ"  ผู้นำล้านนา

อนุสรณ์สถานพระเจ้ากาวิละ

 

 

 

ต่อมาพม่าได้ตั้งชาวยูนนานฉายาว่า “ราชาจอมหงส์” มาเกลี้ยกล่อมให้นครเชียงใหม่เข้าร่วมด้วยกับพม่าและอ้างตนเป็นใหญ่ล้านนาไท 57 เมืองในนาม "เจ้ามหาสุวัณณหังสจักกวัติราช" โดยตั้งมั่นเมืองสาด

 

พระยาวชิรปราการตั้งให้อุปราชธัมลังกาและเจ้ารัตนหัวเมืองยกทัพไปตีที่เมืองสาด สามารถจับกุมราชาจอมหงส์ได้ พร้อมกันได้จับตัวส่วยหลิงมณี ทูตพม่าที่ส่งไปเมืองแกว (ญวน) ที่กำลังพำนักที่เชียงตุงนำทั้งสองล่องเรือไปถวายตัวที่กรุงเทพ นับว่ามีความชอบมาก

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระยาวชิรปราการขึ้นเป็น "พระเจ้าเชียงใหม่" ปกครองดินแดนล้านนาไท 57 เมือง เฉลิมพระนามว่า "พระบรมราชาธิบดี ศรีสุริยวงศ์อินทรสุรศักดิ์ สมญามหาขัตติยราชชาติราไชยสวรรค์ เจ้าขัณฑเสมาพระนครเชียงใหม่ราชธานี " เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2345

 

อย่างไรก็ดี ที่สุดพระเจ้ากาวิละ ถึงแก่พิราลัยในวันพุธที่่ 21 พฤศจิกายน 2358 ยามแตรบอกเวลาเข้าสู่เที่ยงคืน ทรงปกครองนครเชียงใหม่เป็นระยะเวลานาน 32 ปี สิริพระชนมายุได้ 74 พรรษา

 

สำหรับ พระอิสริยยศ มีดังนี้

พ.ศ. 2285 - 2317: เจ้ากาวิละ

พ.ศ. 2317 - 2325: พระยานครลำปาง

พ.ศ. 2325 - 2345: พระยาวชิรปราการ พระยาเชียงใหม่

พ.ศ. 2345 - 2358: พระบรมราชาธิบดี พระเจ้าเชียงใหม่

 

***************************

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ