วันนี้ในอดีต

รู้จักไหม "ศรีสุดา รัชตะวรรณ" ตำนานเสียงร้อง "สุขกันเถอะเรา"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้เมื่อ 89 ปีก่อน คือวันที่ดุเหว่าเสียงใสผู้นี้ได้ถือกำเนิดขึ้นมา

 

 

****************************

 

 

เสียงร้องแหลมสูงเป็นเอกลักษณ์ของสตรีผู้หนึ่ง ซึ่งคนไทยมักได้ยินจากเพลงสุทราภรณ์ พูดแค่นี้ เราจะนึกออกทันทีเลยว่าเป็นน้ำเสียงแบบไหน เพราะแทบจะได้ยินกันจนก้องอยู่ในโสตประสาท

 

แน่นอนเสียงนั้นเป็นเสียงของ  ศรีสุดา รัชตะวรรณ หรือ ศรีสุดา จุลละบุษปะ อดีตนักร้องวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์และสุนทราภรณ์

 

 

รู้จักไหม "ศรีสุดา รัชตะวรรณ" ตำนานเสียงร้อง "สุขกันเถอะเรา"

https://business.facebook.com/Srisuda.Ratchatawan/

 

และวันนี้เมื่อ 89 ปีก่อน คือวันที่นกน้อยเสียงหวานผู้นี้ได้ถือกำเนิดขึ้นมา และเฉิดฉายอยู่ในแวดวงเสียงเพลง ขับกล่อมคนไทยให้มีความสุขเสมอมา

 

 

 

 

ประวัตินกน้อย

 

ศรีสุดา รัชตะวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2473 ที่จังหวัดยะลา มีชื่อเล่นว่า “อู๊ด” เป็นบุตรของ หลวงอรรถจารีวรานุวัตร (บุญมาก รัชตะวรรณ) และนางบุญทวน รัชตะวรรณ บิดามารดามีพื้นเพเป็นชาวมอญ อยู่ที่จังหวัดปทุมธานี แต่ศรีสุดาเกิดที่ยะลาเพราะบิดารับราชการเป็นอัยการ ย้ายไปอยู่ที่นั่น 

 

ในวัยเรียน ศรีสุดาศึกษาที่โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วต่อที่โรงเรียนสตรีวัดระฆัง ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

 

ตอนอายุเพียง 15 เธอไปสมัครเป็นนักร้องวงดนตรีกรมโฆษณาการ แต่น่าเสียดายที่ตอนนั้นอัตรานักร้องหญิงเต็ม คือมีทั้ง มัณฑนา โมรากุล, สุปาณี พุกสมบุญ, ชวลีย์ ช่วงวิทย์, จันทนา โอบายวาทย์, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี และจุรี โอศิริ

 

 

รู้จักไหม "ศรีสุดา รัชตะวรรณ" ตำนานเสียงร้อง "สุขกันเถอะเรา"

https://business.facebook.com/Srisuda.Ratchatawan/

 

 

เธอจึงเบนไปสมัครงานเป็นเสมียนที่กรมไปรษณีย์กลาง และที่นี่เองที่เธอมีโอกาสได้ร่วมงานกับ “ครูพจน์ จารุวณิช” เจ้าของวงดนตรีและคณะละครวิทยุ “จารุกนก”

 

ก่อนจะมีโอกาสได้เล่นละครและร่วมร้องเพลงมากมาย ตั้งแต่ปี 2491-2495 อาทิ ราตรีในลำน้ำแดง, ครวญถึงคู่, เชื่อยากปากคน, ตัดบัวยังเหลือใย, ศึกสวาท, จั๊กจี้ใจ, น้ำตาลน้ำตา รักที่หลงคอย, รักอะไร, อาวรณ์รัก, ดวงใจเอย, ฯลฯ

 

ต่อมาในปี 2495 ช่วงเปลี่ยนจากกรมโฆษณาการเป็นกรมประชาสัมพันธ์ ตำแหน่งนักร้องหญิงของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ว่างลง เนื่องจากมัณฑนา โมรากุล, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี และสุปาณี พุกสมบุญ ลาออก

 

ศรีสุดา รัชตะวรรณ ในวัย 22 จึงหวนกลับไปสมัครเป็นนักร้องอีกครั้ง และคราวนี้เธอทำได้ โดยมีผู้สอบผ่านเข้าเป็นนักร้องในคราวเดียวกัน 3 คน คือ วรนุช อารีย์, พูลศรี เจริญพงษ์ และ ศรีสุดา รัชตะวรรณ โดยในการสอบครั้งนั้นศรีสุดา ได้ร้องเพลง 3 เพลง ทั้ง คลื่นกระทบฝั่ง, คะนึงครวญ และดอกไม้ใกล้มือ

 

 

 

กรมประชาสัมพันธ์

และวงสุนทราภรณ์

 

 

ก่อนอื่นต้องเท้าความเพื่อความเข้าใจ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า วงดนตรีกรมโฆษณาการ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “วงสุนทราภรณ์” ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2482

 

 

รู้จักไหม "ศรีสุดา รัชตะวรรณ" ตำนานเสียงร้อง "สุขกันเถอะเรา"

 

 

โดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน , เวส สุนทรจามร และคณะนักดนตรีวงไทยฟิล์ม ของบริษัท ภาพยนตร์ไทยฟิล์ม จำกัด ซึ่งต้องปิดกิจการลง หลวงสุขุมนัยประดิษฐชักชวนให้สมาชิกวง ย้ายเข้าไปสังกัดกรมโฆษณาการ และมีหน้าที่บรรเลงเพลงส่งกระจายเสียง ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ และงานบันเทิงรื่นเริงและงานเต้นรำ ตามคำขอของหน่วยราชการต่างๆ

 

ในระยะแรก นักดนตรีกรมโฆษณาการ จึงเป็นชุดเดียวกับนักดนตรีจากวงไทยฟิล์ม ซึ่งล้วนแต่เป็นข้าราชการสังกัดกรมศิลปากร โดยมี ครูเอื้อ สุนทรสนานเป็นหัวหน้าวง และคณะอีกจำนวนหนึ่ง

 

 

รู้จักไหม "ศรีสุดา รัชตะวรรณ" ตำนานเสียงร้อง "สุขกันเถอะเรา"

ภาพจาก https://pantip.com/topic/37349911

 

 

ส่วนนักร้องของวงในยุคถัดมาได้แก่ รุจี อุทัยกร, มัณฑนา โมรากุล, ล้วน ควันธรรม, สุภาพ รัศมีทัต จนในปี 2491 จึงมีนักร้องเข้าร่วมวงดนตรีเพิ่มขึ้นคือ ชวลี ช่วงวิทย์, สุปาณี พุกสมบุญ, วินัย จุลละบุษปะ, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, จันทนา โอบายะวาทย์, จุรี โอศิริ และเลิศ ประสมทรัพย์

 

 

รู้จักไหม "ศรีสุดา รัชตะวรรณ" ตำนานเสียงร้อง "สุขกันเถอะเรา"

วงดนตรีสุนทราภรณ์พร้อมนักร้องยุคต้นและยุคกลาง

 

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 "กรมโฆษณาการเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์" วงดนตรีจึงเปลี่ยนชื่อตามกรมเป็นวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และเพิ่มสมาชิกคือ พูลศรี เจริญพงษ์, วรนุช อารีย์, ศรีสุดา รัชตะวรรณ และสมศักดิ์ เทพานนท์เข้ามาทดแทนนักร้องที่ลาออกไป

 

นับตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา เรียกได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของบทเพลงกรมประชาสัมพันธ์ หรือวงสุนทราภรณ์ นักร้องที่เข้ามาในระยะนี้จนถึงปัจจุบัน มีทั้งส่วนที่บรรจุเป็นข้าราชการ ในตำแหน่งคีตศิลปินและมิได้เข้ารับราชการ ประกอบด้วย รวงทอง ทองลั่นธม, มาริษา อมาตยกุล, บุษยา รังสี และหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

 

จากนั้นจึงเริ่มต้นยุคของดาวรุ่ง อาทิ ยรรยงค์ เสลานนท์, รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส, ศรวณี โพธิเทศ, อโศก สุขศิริพรฤทธิ์, จั่นทิพย์ สุถินบุตร, พรรณี สกุลชาคร, สุรพล วันประเสริฐ และโฉมฉาย อรุณฉาน เป็นต้น

 

 

 

เส้นทางในวงสุนทราภรณ์

 

ว่ากันว่า ศรีสุดานั้นเป็นนักร้องหญิงของวงสุนทราภรณ์ที่ฉีกแนวการร้องเพลงรัก ที่ต้องช้าๆ ซึ้งๆ หวานๆ มาเป็นเพลงแนวสนุกสนาน สดใส คึกคัก

 

 

รู้จักไหม "ศรีสุดา รัชตะวรรณ" ตำนานเสียงร้อง "สุขกันเถอะเรา"

https://business.facebook.com/Srisuda.Ratchatawan/

 

 

และด้วยสำเนียงเสียงสูง ใส กังวานเป็นเอกลักษณ์ จนมีผู้ตั้งฉายาไว้หลากหลาย เช่น “มะดันดอง”, “มะกอกดอง”, “มะยมดอง” หรือ “ดุเหว่าเสียงใส”

 

เพลงแรกที่สร้างชื่อเสียงให้กับศรีสุดาในช่วงที่มาอยู่กับวงสุนทราภรณ์ คือ “กามฤทธิ์” ซึ่งเป็นเพลงเร็วเพลงแรกที่ครูเอื้อร่วมกับครูแก้วแต่งให้เธอร้อง ในขณะที่เพลงอื่นๆ ก็ล้วนทำชื่อเสียงให้กับเธอมากมาย

 

โดยเฉพาะเพลงในแนวสนุกสนาน ที่ร้องคู่กับ “เลิศ ประสมทรัพย์” ผู้มีเอกลักษณ์เจ้าชู้และกะล่อน อาทิ “ไพรพิสดาร” เพลง “จุดไต้ตำตอ”

 

ชะตาฟ้าลิขิต ศรีสุดา มาทำที่วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ก็ได้พบกับ วินัย จุลละบุษปะ หรือ ฉายาราชาแทงโก้เมืองไทย ทั้งคู่ใช้ชีวิตคู่กันมาตั้งแต่ปี 2499 โดยไม่มีบุตร แต่เพิ่งมาจดทะเบียนสมรสกันที่เขตราชเทวี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2533 หรือหลังจากร่วมชีวิตกันมานาน

 

 

รู้จักไหม "ศรีสุดา รัชตะวรรณ" ตำนานเสียงร้อง "สุขกันเถอะเรา"

https://business.facebook.com/Srisuda.Ratchatawan/

 

 

ต่อมา หลังวินัย จุลละบุษปะ เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2526 ทั้งคู่ร่วมกันตั้งวงดนตรีชื่อว่า “วงดนตรีสังคีตสัมพันธ์”โดยมี เสถียร ปานคง อดีตข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ควบคุมวง

 

รอยต่อระหว่างนั้น ช่วงปี 2529 ศรีสุดาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “หัวหน้างานบันเทิง” ซึ่งเธอเป็นคนที่ 5 ต่อจาก ครูเอื้อ สุนทรสนาน, ระวี พงษ์ประภาส, วินัย จุลละบุษปะ และครูสมาน (ใหญ่) นภายน

 

ต่อมางานบันเทิงได้ขยายหน่วยงานใหม่ขึ้นเป็นฝ่ายบันเทิงเธอจึงเป็นคนแรกที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบันเทิงและเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2534 และได้มาดูแลวงดนตรีสังคีตสัมพันธ์อย่างเต็มตัว

 

แต่แล้ว ในวันที่ 14 เดือนกันยายน 2542 วินัยก็มาเสียชีวิตจากไป

 

 

 

ปลายทางแห่งชีวิต

 

 

สำหรับเส้นทางที่ผ่านมาของศรีสุดานั้น เธอยังได้รับการยกย่องว่า บรรดานักร้องหญิงจำนวนมากของวงดนตรี “สุนทราภรณ์” ที่กลายเป็นตำนานไปแล้ว นอกจาก “มัณฑนา โมรากุล” “เพ็ญศรี พุ่มชูศรี” รวมทั้ง ”รวงทอง ทองลั่นธม” แล้ว ก็มี "ศรีสุดา" นี่แหละที่แรงไม่แพ้กัน เพราะเธอเป็นคนหนึ่งที่มีเสียงร้องอันแหลมปรี๊ดแต่แฝงไว้ด้วยความสดใส

 

 

รู้จักไหม "ศรีสุดา รัชตะวรรณ" ตำนานเสียงร้อง "สุขกันเถอะเรา"

https://business.facebook.com/Srisuda.Ratchatawan/

 

 

สำหรับ บทเพลงที่ได้รับความนิยม เช่น ชื่นชีวิต (นำหมู่ร่วมกับวินัย จุลละบุษปะ), มองอะไร, ยิ้ม, ไพรพิศดาร (คู่เลิศ ประสมทรัพย์), นกเขาไพร (คู่ เลิศ ), สุขกันเถอะเรา, ช่างร้ายนัก, ศรรัก, เพลินเพลงแมมโบ้, บ้านเรือนเคียงกัน, รักจำร้าง (คู่วินัย จุลละบุษปะ),ไม่รักใครเลย (ร่วมกับวินัย, เลิศ ,สมศักดิ์ เทพานนท์),

 

จุดไต้ตำตอ (ร่วมกับ เลิศ ,สมศักดิ์), หนีไม่พ้น (ร่วมกับ เลิศ ,สมศักดิ์), รักฉันสักคน, สวรรค์สวิง, สวรรค์อุรา, แมวกะหนู, ผู้ชายนะเออ, เพลงฟ้า, รักจริงไหม, งานเงิน, เปล่า, เพลงอภินันท์, เริงเพลงสวิง, นี่แหละสวรรค์, กบใต้กอบัว, เกิดเป็นหญิง, ชื่นชีวิต,

 

ยิ้มนิดยิ้มหน่อย, กิเลสคน, รื่นเริงใจ (ร่วมกับวรนุช อารีย์, มาริษา อมาตยกุล) สามนัด (ร่วมกับ เลิศ ,วรนุช, มาริษา) จะเป็นอย่างไรถ้าชายหญิงไม่รักกัน, ร้อนนักรักนั้นฯลฯ

 

นอกจากนี้ ด้วยใบหน้าสะสวย เธอยังเคยแสดงละครเรื่องมายา พ.ศ. 2524 ได้รับบทเป็น ศุภลักษณ์ น้องสาวของอินทนิน

 

แต่แล้วราวปี 2542-2543 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากสามีเสียชีวิตจากไป ศรีสุดา รัชตะวรรณ มีอาการป่วยด้วยโรคสมองขาดเลือด โดยมีข้อมูลจากข่าวผู้จัดการออนไลน์ระบุว่า ช่วงเดือนเดือนพฤษภาคม 2543 มีผู้หวังดีแนะนำให้ทำบอลลูนหัวใจด้วยการฉีดสี

 

 

รู้จักไหม "ศรีสุดา รัชตะวรรณ" ตำนานเสียงร้อง "สุขกันเถอะเรา"

https://business.facebook.com/Srisuda.Ratchatawan/

 

 

ระหว่างนั้นกระแสไฟเกิดขัดข้อง ทำให้เส้นแกนสมองขาดเลือด 3 วินาที ศรีสุดาจึงกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา นอนไม่รู้สติไปร่วม 2 เดือน ต่อมาแม้จะพูดได้แต่ตาก็ไม่อาจลืมขึ้นได้ (https://mgronline.com/entertainment/detail/9480000103550)

 

แพทย์ได้ให้การรักษาจนอาการดีขึ้น ขยับแขนขาได้ แต่กล้ามเนื้อแขนอ่อนแรงยืนและเดินด้วยตนเองไม่ได้ และไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติเช่นคนธรรมได้ อีกทั้งไม่สามารถประกอบกิจการงานใด ๆ ด้วยตนเองได้

 

และขณะที่ศรีสุดาเจ็บป่วยอยู่นั้น พี่น้องของเธอ อันมีน้องสาวและน้องชาย รวมถึงพี่สะใภ้ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งให้ศรีสุดา เป็นคนเหมือนไร้ความสามารถ 

 

 

รู้จักไหม "ศรีสุดา รัชตะวรรณ" ตำนานเสียงร้อง "สุขกันเถอะเรา"

ภาพจาก https://pantip.com/topic/37349911

 

 

ศาลได้ไต่สวนพยานหลักฐานของบรรดาน้องชายน้องสาวและพี่สะใภ้แล้ว มีคำสั่งให้เธอเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และให้อยู่ในความพิทักษ์ของน้องสาวน้องชายและพี่สะใภ้ดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543

 

ที่สุดหลังจากเธอเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลวชิระ ก็ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2548 สิริอายุ 75 ปี

 

ขอรำลึกถึง "ดุเหว่าเสียงใส" ผู้นี้ด้วยบทเพลง "สุขกันเถอะเรา" ดีกว่า เพราะจะเศร้าไปทำไมมี!!

 

ทำนอง - ธนิต ผลประเสริฐ คำร้อง - สมศักดิ์ เทพานนท์

จากผู้ใช้ยูทูบ Peerapol Tearagul

 

 

***************************

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก

https://business.facebook.com/Srisuda.Ratchatawan/

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ