วันนี้ในอดีต

15 ต.ค.2549 วันเลือกตั้งที่ไม่เกิดขึ้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้เมื่อ 13 ปีก่อน

 

 

**************************

 

 

ในปี 2549 หลายคนอาจจดจำไฮไลท์ของการเมืองไทย แค่วันที่ 19 กันยายน 2549 คือวันที่รัฐบาลทักษิณถูกโค่นโดย “คปค.” ที่ภายหลังกลายมาเป็น “คมช.”

 

หากแต่หลายคนอาจลืมไปว่า วันนี้เมื่อ 13 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม 2549 คือวันที่รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวันเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ตุลาคม พ.ศ. 2549

 

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้การเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ จึงทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

 

 

 

15 ต.ค.2549  วันเลือกตั้งที่ไม่เกิดขึ้น

 

 

 

ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้นไม่เคยเกิดขึ้น เพราะที่สุดก็เกิดเรื่องใหญ่มาขโมยซีนไปเสียก่อนนั่นคือ การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 พร้อมกับได้มีประกาศ คปค. ฉบับที่ 3 ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกยกเลิก

 

 

อย่างไรก็ดี มาย้อนดูที่มาที่ไปเรื่องของเรื่องนั้นเกิดขึ้นหลังจาก นายกรัฐมนตรีขณะนั้น พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549

 

จนมีการกำหนดการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 2 เมษายนปีเดียวกัน แต่แล้วหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ อธิบายง่ายๆ เรียกได้ว่าช่วงนั้น ทั้งก่อนและระหว่างนั้น มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะ 2 เหตุการณ์ที่อยากจะไฮไลท์ให้หายคิดถึง

 

 

 

15 ต.ค.2549  วันเลือกตั้งที่ไม่เกิดขึ้น

 

 

เหตุการณ์แรกคือ 3 พรรคฝ่ายค้าน ประชาธิปัตย์, ชาติไทย, มหาชน คว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงแข่งขัน

 

เหตุการณ์ที่ 2 คือ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร (หัวหน้าภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็น ศ.ดร.) ฉีกบัตรเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชน แสดงแนวทางการดื้อแพ่ง หรือที่เรียกว่า “อารยะขัดขืน” จนกลายเป็นวลีฮิตในเวลานั้น!!

 

เรื่องราวหน้าฉาก หลังฉาก และวาระซ่อนเร้น มากมายที่จะกล่าวถึงได้หมด แต่จะประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากข่าวสาร เพื่อให้พอนึกภาพออกดังนี้

 

สำหรับเหตุการณ์แรกนั้น เกิดจากภายหลัง นายกฯ ทักษิณ ทำการยุบสภา (ข้อมูลบางแหล่งระบุว่า ที่ต้องยุบสภา ก็เพื่อหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายค้านยื่นอภิปราย)

 

ต่อมาพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม ซึ่งประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ได้ทำหนังสือถึงพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2549 เพื่อขอให้ลงนามในสัตยาบันร่วมกันว่า

 

“หลังการเลือกตั้งจะจัดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 313 โดยกำหนดให้มีคณะบุคคลที่เป็นกลางเป็นผู้ดำเนินการในการยกร่างรัฐธรรมนูญ”

 

แต่รัฐบาลขณะนั้น มีจุดยืนว่า ไม่ต้องการลงสัตยาบันแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน และดำเนินการเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคมาหารือร่วมกัน ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2549 ที่อาคารวุฒิสภา

 

และเสนอให้ทุกพรรคทำสัญญาประชาคมแก้ไขรัฐธรรมนูญในระหว่างการเลือกตั้ง จากนั้นค่อยมาตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางชุดหนึ่งขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

เรื่องนี้มีผลทำให้พรรคฝ่ายค้านทั้ง 3 พรรค เห็นว่าท่าทีของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย มีเจตนาที่จะถ่วงเวลา จึงประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยไม่ส่งผู้สมัครการเลือกตั้งครั้งนั้น

 

แต่จนแล้วจนรอด การเลือกตั้งก็เกิดขึ้นและนำมาสู่เหตุการณ์ที่ 2 คือ กรณีที่ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ฉีกบัตรเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชน

 

 

 

15 ต.ค.2549  วันเลือกตั้งที่ไม่เกิดขึ้น

 

 

โดยช่วงสายของวันเลือกตั้งนั้นเอง ศ. ดร.ไชยันต์ ชัยพร ได้ทำการฉีกบัตรเลือกตั้งของตนเองที่หน่วยเลือกตั้งที่ 62 เขตสวนหลวง ตั้งอยู่ที่ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ท่ามกลางการกดชัตเตอร์รัวๆ ของนักข่าว

 

และออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ตนต้องเลือกระหว่างการเป็นพลเมืองดี กับการเป็นคนดี เนื่องจากขณะนี้ ทั้ง 2 อย่างไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน

 

พร้อมระบุว่า เขาคิดว่าคดีที่เขาฉีกบัตรเลือกตั้งนี้ จะเป็นกรณีศึกษาของปรัชญาการเมือง” (ข่าวจาก https://www.prachatai.com/journal/2006/04/8011)

 

อย่างไรก็ตาม การกระทำนี้มีความผิดทางกฎหมายเลือกตั้ง มาตรารา 108 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 รวมทั้งจะเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง 5 ปี ซึ่งตอนนั้นอาจารย์ไชยันต์ได้ใช้ตำแหน่งของตนเองประกันตัว (จนภายหลังศาลราวปี 2553 ได้ตัดสินยกฟ้อง)

 

แต่เหตุการณ์สำคัญที่จะต้องกล่าวถึงต่อไปหลังเกิดการเลือกตั้งในวันนั้นคือ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “กรณีการดำเนินการของคณะกรรมการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ”

 

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็ได้พิจารณาและวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งนั้น เป็นการเลือกตั้งที่มิชอบ จึงต้องมีการเลือกตั้งใหม่ หรือกลายเป็นโมฆะนั่นเอง

 

จากนั้น กกต. จึงกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ซึ่งได้เสนอว่าเป็นวันที่ 22 ตุลาคม 2549 แต่แล้ว ถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ขณะนั้น เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กกต.ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา

 

ได้นำมาซึ่งคำพิพากษาให้ กกต.ต้องโทษจำคุก และออกจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549

 

จนมีการสรรหา กกต.ใหม่ และกำหนดการเลือกตั้งใหม่ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549 นั่นเอง

 

และอย่างที่บอกว่าที่สุด การเลือกตั้งครั้งนั้นก็ไม่เกิดขึ้นเพราะได้เกิดการรัฐประหารครั้งประวัติศาสตร์ ขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2549 โดย คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. เป็นคณะบุคคล อันประกอบด้วย กลุ่มทหาร ตำรวจ และ พลเรือน

 

 

15 ต.ค.2549  วันเลือกตั้งที่ไม่เกิดขึ้น

 

 

ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้า ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองราชอาณาจักรไทยไว้ได้ เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 มีที่ตั้ง ณ กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

 

 

15 ต.ค.2549  วันเลือกตั้งที่ไม่เกิดขึ้น

 

 

  และคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ก็ลี้ภัยไปอย่างไม่มีกำหนดกลับมาจนถึงทุกวันนี้!!!

 

 

******************************

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

วิกิพีเดีย

www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9530000152785

https://www.prachatai.com/journal/2006/04/8011)

(http://www.komchadluek.net/news/scoop/175629)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ