วันนี้ในอดีต

รำลึก 'ครูแก้ว อัจฉริยะกุล'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้เมื่อ 38 ปีก่อน

 

 

 

**********************

 

 

ถ้าเอ่ยถึงเพลง “รำวงวันลอยกระทง” เราคนไทยแทบจะติดหู ร้องติดปากกันได้ตลอดเวลา เมื่อนึกถึงบรรยากาศวันลอยกระทงที่กำลังใกล้เข้ามาแล้ว โดยในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2562

 

หากแต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าใครคือผู้ประพันธ์เนื้อร้องของบทเพลงนี้ขึ้นมา บุคคลผู้นั้นคือ 'ครูแก้ว อัจฉริยะกุล' ผู้ซึ่งจากพวกเราไปนานแล้วตั้งแต่วันนี้เมื่อ 38 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 8 ตุลาคม 2524

 

วันนี้ในอดีตจึงขอรำลึกถึงครูเพลงท่านนี้อีกครั้ง

 

 

ประวัติครูแก้ว

 

แก้ว อัจฉริยะกุล เกิดเมื่อ 15 พฤษภาคม  2458 เป็นบุตรชายคนโตของนายใหญ่ อัจฉริยะกุล (นาย ซี ปาปา ยาโนปูโลส) ซึ่งเป็นชาวกรีก กับมารดาคือ นางล้วน อัจฉริยะกุล (นามสกุลเดิม เหรียญสุวรรณ)

 

ครูแก้วมีพี่น้อง 4 คน เมื่อแรกเกิดพระภิกษุตั้งชื่อให้ว่า “แก้วฟ้า” (ซึ่งเป็นที่มาของนามปากกาและชื่อคณะละครวิทยุของครูแก้ว) แต่นายอำเภอเขียนคำว่า “ฟ้า” ตกไป จึงกลายเป็นชื่อ “แก้ว”

 

ในวัยเรียนนั้น หนังสือ คิดถึงครูแก้ว อัจฉริยะกุล เล่าถึงชีวิตของท่านในวัยรุ่นไว้ว่าครูแก้วเองก็เป็นเหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่ชอบทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ห้าม

 

 

 รำลึก 'ครูแก้ว อัจฉริยะกุล'

ครูแก้ว (ภาพจากหนังสือ คิดถึง ครูแก้ว อัจฉริยะกุล)

 

 

โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ ครูแก้วสูบมาตั้งแต่มัธยม นอกจากนี้ยังเล่นบิลเลียด ที่ถึงขนาดโดดเรียนไปเล่นอยู่แถวหัวถนนสี่พระยา จนมารดาต้องมาตามให้ไปสอบ

 

แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น ช่วงม.8 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ท่านก็สามารถสอบได้ “Diploma” สามารถไปเรียนต่อที่สหรับอเมริการัฐใดก็ได้ โดยไม่ต้องผ่าน college หรือ โรงเรียนเตรียม

 

แต่บิดาไม่ให้ไปเพราะป่วย กลัวว่าจะเสียโดยไม่ได้เห็นหน้าลูกชายเป็นครั้งสุดท้าย ครูแก้วจึงมาสำเร็จการศึกษาจากในระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

 

ในวัยทำงาน ตอนต้นเขาเข้ารับราชการที่กรมไปรษณีย์โทรเลข จนกระทั่งลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2497 ชีวิตส่วนตัวครูแก้วสมรสกับ ประภาศรี อัจฉริยะกุล

 

 

เส้นทางสายละคร

 

เส้นทางละครเวที และละครวิทยุของครูแก้วเริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อท่านลาออกจากราชการเมื่อปี พ.ศ. 2497 โดยครูแก้วทำงานเป็นผู้จัดการแผนกโฆษณาที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยและศาลาเฉลิมเขตร์

 

จากนั้นตั้ง "คณะละครวิทยุแก้วฟ้า" โดยครูแก้วเป็นศิษย์ของ “พระนางเธอลักษมีลาวัณย์” พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และอดีตพระชายาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

 รำลึก 'ครูแก้ว อัจฉริยะกุล'

ภาพละครแก้วฟ้า จากเฟซบุ๊กแฟนเพจ ละครวิทยุ fanpage

 

 

ทั้งนี้คณะแก้วฟ้า ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้ฟังทั่วเมืองไทย (โดยเฉพาะในยุคทองของภาพยนตร์ไทย 16 มม.เจ้าของภาพยนตร์ที่กำลังจะเข้าฉาย มักมอบให้คณะแก้วฟ้าจัดทำเป็นละครวิทยุ) ตลอดจนเป็นวิทยากรพิเศษให้แก่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง

 

สมัยนั้นละครเวททีทั้งละครนอก ละครใน จะใช้ผู้แสดงชายหรือผู้หญิงเพียงเพศเดียว แต่ครูแก้วเป็นผู้ริเริ่มให้มมีะครเวทีที่ใช้ผู้แสดงชายจริงหญิงแท้ เรื่องแรกคือ “นางบุญใจบาป” โดยนําเค้าเรื่องมาจาก “บู๊สง” แสดงทีศาลาเฉลิมกรงุ นำแสดงโดย ม.ล.รุจุริจา มารศรี ล้อต๊อก และ จอกดอกจันทร์

 

ท่านมีผลงานละครเวทีประมาณ 50 เรื่อง และเขียนบทแปลบรรยายไทย จากภาพยนตร์ต่างประเทศ และแต่งบทละครโทรทัศน์ประมาณ 100 เรื่อง โดยใช้นามปากกาว่า "แก้วฟ้า”

 

เมื่อครั้งที่คณะ Walt Disney มาจัดการแสดงโชว์ในประเทศไทย ครูแก้วได้เป็นผู้ถอดบท แปลเพลงเป็นภาษาไทย โดยคณะแก้วฟ้าของครูแก้วเป็นผู้ลงเสียงของโชว์ต่าง ๆ อาทิ พินอคคิโอ สโนว์ไว้ท์ ปีเตอร์แพน เป็นต้น

 

ทั้งนี้คณะละครวิทยุที่ครูแก้วเคยมีผลงานร่วมด้วย 1. คณะจามรของ ครูเวส สุนทรจามร 2. คณะจิตต์ร่วมจของ จิตตเสน ไชยาคํา และ 3.คณะปัญญาพล ของ เพ็ญ ปัญญาพล

 

 

 รำลึก 'ครูแก้ว อัจฉริยะกุล'

แก้ว อัจฉริยะกุล (ขวา) ถ่ายภาพคู่กับพรานบูรพ์

 

 

 

 

ทางแห่งเสียงเพลง

 

แต่นักฟังเพลงไทยสากลลูกกรุงจะทราบกันดีว่า ถ้าพูดถึงเพลงในแนวของ “สุนทราภรณ์” ครูเพลงที่มีผลงานมากมายนับร้อยนับพันเพลง เห็นจะไม่มีใครเกินครูแก้ว อัจฉริยะกุล

 

และที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุดคือ ผลงานของครูแก้วมีสำนวนไพเราะ มีสัมผัสเหมือนบทกวี เลือกใช้เสียงสูงต่ำของวรรณยุกต์ได้อย่างลงตัว และทรงความหมายทุกคำ คำทุกคำคมคาย ว่ากันว่าแม้ในเรื่องเดียวกัน ครูก็เลี่ยงใช้ศัพท์ต่างๆ แสดงว่าครูมี “คลังคำ” ในสมองมากมาย 

 

ทั้งนี้ว่ากันว่าที่จริงแล้วท่านประพันธ์คำร้องตั้งแต่อายุ 19 ปี!!

 

 

 

 รำลึก 'ครูแก้ว อัจฉริยะกุล'

ครูเวส สุนทรจามร

 

 

โดยเส้นทางสายดนตรีและเสียงเพลงของครูแก้วนั้น ท่านมีผลงานประพันธ์เนื้อร้องร่วมกับ ครูเวส สุนทรจามร ซึ่งเป็นผู้ชักนำให้ครูแก้วมาร่วมประพันธ์เนื้อร้องประกอบทํานองให้กับวงดนตรีของกรมโฆษณาการ (ปัจจุบันคือกรมประชาสัมพันธ์) และมีผลงานร่วมกับวงสุนทราภรณ์ตั้งแต่นั้นมา เป็นเวลาเกือบ 15 ปี

 

แต่การทำงานร่วมกับ บรมครูอีกท่าน อย่าง “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” นับว่ามีผลงานร่วมกันมากที่สุด

 

 

 รำลึก 'ครูแก้ว อัจฉริยะกุล'

ครูเอื้อ สุนทรสนาน

 

 

โดยมีผู้ประมาณไว้ว่าครูทั้งสองประพันธ์เพลงร่วมกันประมาณ 1,000 เพลง จนเป็นที่มาของคำคล้องจองที่ว่า “ทำนองเอื้อ-เนื้อแก้ว” และ “แก้วเนื้อ-เอื้อทำนอง” เป็นเหมือนคู่ที่สวรรค์ให้เกิดมาเป็นคู่บุญของกันและกัน 

 

สำหรับผลงานการแต่งคำร้องชิ้นหนึ่งของครูแก้วที่ได้รับคำยกย่อง คือ เพลงประกอบบทละครชุด “จุฬาตรีคูณ” ประกอบด้วยเพลง จุฬาตรีคูณ, จ้าวไม่มีศาล, อ้อมกอดพี่, ใต้ร่มมลุลี และปองใจรัก

 

นอกจากนี้ครูแก้วยังมีผลงานเพลงอมตะอีกเป็นจำนวนมากเช่นเพลง พรหมลิขิต, พรานล่อเนื้อ, คะนึงครวญ, โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย, กรุงเทพราตรี, ขอพบในฝัน, คิดถึง, เงาของใคร, จังหวะชีวิต, ฉันอยู่ใกล้เธอ ฯลฯ

 

 

 

ผลงานอมตะ

 

อย่างไรก็ดี เพลงที่ถูกนำมาขับร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงปัจจุบัน ในเทศกาลสำคัญของประเทศไทย ก็เป็นผลงานคำร้องของครูแก้ว อาทิ รำวงเริงสงกรานต์, รำวงวันลอยกระทง

 

โดยประวัติเพลงรำวงวันลอยกระทงนั้นมีที่มาสุดคลาสสิก เล่ากันว่าในค่ำคืนวันลอยกระทง ราวปี 2492-2493 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งนำโดยครูเอื้อ ได้ถูกเชิญให้ไปร่วมเล่นดนตรีในงานลอยกระทงวันนั้นด้วย

 

 

 รำลึก 'ครูแก้ว อัจฉริยะกุล'

 

 

ปรากฏว่า ทางคณะจัดงานก็ได้ขอให้วงสุนทราภรณ์แต่งบทเพลงบรรเลงในงานวันลอยกระทงเพื่อเป็นที่ระลึก

 

เมื่อขอมา ก็จัดให้  ครูเอื้อ จึงร่วมกับครูแก้ว อัจฉริยะครูเพลงทั้ง 2 จึงได้นั่งลงสร้างบทเพลงรำวงลอยกระทงขึ้นมา ณ เดี๋ยวนั้น ครูแก้วเป็นผู้ประพันธ์คำร้อง ครูเอื้อเป็นคนเขียนทำนอง ใช้เวลาแต่งเพลงนี้ไม่ถึง 30 นาที!!

 

จากนั้นพอซ้อมร้องซ้อมรำกันจนลงตัว วงดนตรีสุนทราภรณ์จึงได้ขึ้นร้องเพลงรำวงลอยกระทงครั้งแรก ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั่นเอง

 

 

 รำลึก 'ครูแก้ว อัจฉริยะกุล'

 

 

อย่างไรก็ดี ตามประวัติเล่าว่าครูแก้วสูบบุหรี่และซิการ์จัด ต่อมาท่านป่วยด้วยโรคหัวใจ, เบาหวาน, โรคตับ, โรคปอด, โรคความดันโลหิตสูง และเสียชีวิตด้วยอาการเส้นโลหิตในสมองแตก เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2524 สิริอายุได้ 66 ปี

 

อย่างไรก็ดี ท่านยังได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคนที่ 5 (ปี 2520-2521) 

 

*****************************

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ