วันนี้ในอดีต

สิ้น พระราชอุปัธยาจารย์ ในหลวง ร.10

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้เมื่อ 31 ปีก่อน

 

วันนี้เมื่อ 31 ปีก่อน คือวันที่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ ทรงสิ้นพระชนม์ สิริพระชันษา 91 ปี

 

สำหรับ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ นั้นทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงผนวช

 

มีพระนามเดิมว่า มัทรี นิลประภา ภายหลังเปลี่ยนพระนามเป็น “วาสน์” ประสูติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2440 เวลา 19.33 น. ที่ตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรคนโตของพระชนกผาดและพระชนนีบาง นิลประภา

 

ครอบครัวมีอาชีพทำนา เมื่อแรกประสูติโยมบิดามารดาให้ชื่อว่า “มัทรี” เมื่อทรงบรรพชาเป็นสามเณรจึงเปลี่ยนเป็น “วาสน์”

 

 

 

สิ้น พระราชอุปัธยาจารย์ ในหลวง ร.10

 

 

ก่อนอุปสมบท

 

ข้อมูลจากเวบไซต์ https://www.web-pra.com เล่าว่า สมัยเยาว์วัย ทรงเล่าเรียนหนังสือไทยที่วัดโพธิ์ทองซึ่งเป็นวัดใกล้บ้าน ต่อมาได้เข้ามาเป็นศิษย์ของ พระญาณดิลก แต่เมื่อยังเป็น พระมหารอด วราสโย วัดเสนาสนาราม ในตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งครั้งนั้นยังเรียกว่า กรุงเก่า 

 

และได้ทรงเล่าเรียนหนังสือไทยต่อในโรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า (คือโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ในปัจจุบัน) จนสอบไล่ได้เทียบชั้นมัธยมปีที่ ๒ 



จึงได้ย้ายเข้ามาอยู่วัดราชบพิธ โดยเป็นศิษย์ของ พระอมรโมลี แต่เมื่อยังเป็น พระมหาทวี ธรมธัช ป.ธ. ๙ 
เหตุที่ทรงย้ายเข้ามาเข้าอยู่วัดราชบพิธนั้น ได้ทรงบันทึกเล่าไว้อย่างน่าฟังว่า 



“สมัยเป็นนักเรียนอายุประมาณ ๑๔-๑๕ ปี เป็นศิษย์อยู่ในปกครองของพระมหารอด วราสโย (ภายหลังเป็นพระราชาคณะที่พระญาณดิลก) เจ้าอาวาสวัดเสนาสนาราม พระนครศรีอยุธยา สมัยยังมีชื่อว่า กรุงเก่า ได้มีญาติผู้ใหญ่ชั้นลูกพี่ลูกน้องของยายซึ่งได้นำลูกชายมาฝาก ให้อยู่ในปกครองของพระผู้เป็นญาติ (พระมหาทวี ป.ธ. ๙) วัดราชบพิธอยู่ก่อนแล้ว 



ได้รับการแนะนำจากพระผู้เป็นญาตินั้นว่า ให้พิจารณาเลือกดูนิสัยใจคอของลูกหลานแถวย่านบ้านบ่อโพง 
ถ้าเห็นคนไหนที่มีนิสัยดี ฉลาดเฉลียวพอควร ก็ให้นำมาอยู่ด้วย เพื่อจะได้เป็นเชื้อสายอยู่ในวัดราชบพิธนี้สืบไป 



เราเป็นลูกหลานคนหนึ่ง ที่ญาติผู้ใหญ่นั้นเห็นว่า มีนิสัยควรส่งให้มาอยู่ในสำนักพระผู้เป็นญาติได้ ท่านจึงแนะนำกะพ่อแม่ให้ทราบถึงความหวังเจริญสุขของลูกต่อไปภายหน้า แม่เต็มใจยินดีอนุญาต เพราะมีความตั้งใจอยู่แล้วว่า มีลูกชายคนเดียวจะพยายามส่งเสียไม่ต้องให้มาทำนากินเหมือนพ่อแม่ เมื่อพ่อก็เห็นชอบที่จะส่งลูกให้มาอยู่กรุงเทพฯ แล้ว จึงเป็นอันเตรียมตัวได้ 

 

 

สิ้น พระราชอุปัธยาจารย์ ในหลวง ร.10

เมื่อครั้งยังทรงเป็นสามเณรวาสน์ นิลประภา พ.ศ. ๒๔๕๖ (https://www.web-pra.com)

 



ขณะนั้น เรากำลังเรียนหนังสือไทยอยู่ที่โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า (ปัจจุบันคือโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย) 
เมื่อได้แจ้งการขอลาออกจากโรงเรียน เพื่อไปอยู่บางกอก (เรียกตามสมัยนั้น) แล้ว ญาติผู้ใหญ่จึงได้กำหนดวันนำมาบางกอก โดยพ่อแม่กำลังติดการเกี่ยวข้าวอยู่ (ประมาณเดือนธันวาคม) จึงไม่ได้นำมาด้วยตนเอง 


เมื่อได้พบพระผู้เป็นญาติแล้ว ตกลงจะให้บวชเป็นสามเณร ตอนนี้รู้สึกผิดหวัง เพราะนึกว่าจะต้องมาเรียนหนังสือไทยต่อ แต่เมื่อผู้ใหญ่เห็นดีงามเช่นนั้นก็จำอนุโลมตาม 



การที่ได้รับการพิจารณาเลือกเฟ้นนิสัยใจคอ ความประพฤติว่า เป็นผู้มีแววสมควรให้จากบ้านมาอยู่วัดราชบพิธครั้งนี้ได้ จึงถือว่า เป็นรางวัลในชีวิต ครั้งที่ ๑ 



เมื่อได้อยู่เป็นศิษย์ ติดตามไปในงานต่างๆ เป็นการเปิดหูเปิดตา ในฐานะเป็นลูกศิษย์ต้องนุ่งผ้าพื้น สวมเสื้อ ๕ ตะเข็บ ประมาณ ๒ เดือนเศษ ก็เตรียมการท่องบ่นวิธีบรรพชาไปพลาง 


ถึงฤกษ์งามยามดี ผู้ปกครองนำขึ้นเฝ้าในตำหนักที่ประทับ พร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียนแพ มีตะลุ่มรองตามระเบียบเฝ้าเจ้านาย ฆราวาสจะต้องใช้กิริยาหมอบ 

 

 

เส้นทางอุปสมบท

 

พระองค์ได้บรรพชา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2455 โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ครั้งทรงกรมหมื่น เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยมุนี (แปลก วุฑฺฒิญาโณ) เป็นพระศีลาจารย์ แล้วอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2461

 

 

สิ้น พระราชอุปัธยาจารย์ ในหลวง ร.10

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ครั้งทรงกรมหมื่น เป็นพระอุปัชฌาย์ 

 

 

โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยมุนี (แปลก วุฑฺฒิญาโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระญาณดิลก (รอด วราสโย) วัดเสนาสนาราม พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “วาสโน”

 

 

การศึกษา

 

เมื่ออุปสมบทแล้วได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้ตามลำดับดังนี้

 

พ.ศ. 2458 นักธรรมชั้นตรี

 

พ.ศ. 2459 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค(ได้รับพระราชทานพัดใบตาลพื้นแพรเขียวประดับเลื่อม เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2460 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน

 

พ.ศ. 2461 สอบได้นักธรรมชั้นโท

 

พ.ศ. 2470 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค

 

 

สิ้น พระราชอุปัธยาจารย์ ในหลวง ร.10

ตราประจำพระองค์

 

 

ลำดับสมณศักดิ์

 

พ.ศ. 2465 เป็นพระครูฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัตน์ ที่พระครูโฆสิตสุทธสร

 

พ.ศ. 2466 เป็นพระครูฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัตน์ ที่พระครูธรรมธร และพระครูวิจิตรธรรมคุณ ตามลำดับ

 

 

สิ้น พระราชอุปัธยาจารย์ ในหลวง ร.10

เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูวิจิตรธรรมคุณ 
(พระครูฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์) 
(ภาพจาก www.web-pra.com)

 

 

พ.ศ. 2477 เป็นพระราชาคณะปลัดซ้ายฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ที่พระจุลคณิศร สัทธรรมนิติธรมหาเถราธิการ คณกิจบรรหารธุรการี สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจารย์

 

พ.ศ. 2489 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่พระราชกวี นรสีหพจนปิลันธน์ คันถรจนาบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

 

พ.ศ. 2490 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่พระเทพโมลี ตรีปิฎกธาดา มหากถิกสุนทร ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี

 

พ.ศ. 2492 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมปาโมกข์ยุตตโยคญาณดิลก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาที ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

 

พ.ศ. 2500 เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ญาณวิสุทธิจริยาปริณายก ตรีปิฎกคุณาลังการ นานานสถานราชคมนีย์ สาธุการีธรรมากร สุนทรศีลาทิขันธ์

 

พ.ศ. 2506 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ญาณอดุล สุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบุลคัมภีรญาณสุนทร ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี

 

พ.ศ. 2517 เป็นสมเด็จพระสังฆราชที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกคัมภีรญาณ วาสนภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมโสภณ ภัทรผลสาธารณูปกร ชินวรวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลศีลสมาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช

 

 

สิ้น พระราชอุปัธยาจารย์ ในหลวง ร.10

สมเด็จพระสังฆราช (พระราชอุปัธยาจารย์) 
และพระภิกษุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ฉาย ณ พระอุโบสถ 
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑ (ภาพจาก www.web-pra.com)

 

 

28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ทรงได้รับการสถาปนาพระอัฐิเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ ธรรมาภรณคุณวิจิตรปฏิภาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกคัมภีรญาณบัณฑิต วชิราลงกรณนริศหิโตปัธยาจารย์ วาสนภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมพิศาล นิทัศนนิทานนิพนธปรีชา ปาวจนุตตมโสภณ ภัทรผลสาธารณูปการ วิมลศีลสมาจารวัตรสุนทร สรรพคณิศรมหาสังฆาธิบดี ศรีสมณุดมบรมบพิตร

 

 

งานเผยแผ่ศาสนธรรม

 

งานเผยแผ่ศาสนธรรม นับว่าเป็นงานหลักที่ทรงกระทำเป็นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบต่าง ๆ กล่าวคือ การสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก ในการสมัยสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี นับเป็นครั้งที่ 3 ของประเทศไทย

 

การบรรยายธรรม ได้จัดให้มีพระธรรมเทศนาประจำวันธรรมสวนะในพระอุโบสถเป็นประจำ การบรรยายสวดมนต์มีคำนำแปล ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ประจำวันพระแรม 8 ค่ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ถึง พ.ศ. 2517

 

การตรวจเยี่ยมพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศทั้ง 73 จังหวัด เพื่อรับทราบปัญหาต่าง ๆ ที่จะได้นำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป

 

การแต่งหนังสือและบทความต่าง ๆ เพื่อสอนพระพุทธศาสนาในระดับต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก

 

 

งานสาธารณูปการ

 

งานสาธารณูปการ การตั้งมูลนิธิต่างๆ เพื่อบำรุงพระอาราม ทรงสร้างและให้ความอุปถัมภ์ในการสร้างวัด โรงเรียน โรงพยาบาล และสาธารณสถานต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น วัดแสงธรรมสุทธาราม จังหวัดนครสวรรค์ วัดโพธิทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาคารเรียนโรงเรียนประชาบาลวัดสระกะเทียม นครปฐม

 

โรงเรียนประชาบาลวัดโพธิ์ทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลาบำเพ็ญบุญ วัดเสนาสนาราม หอนาฬิกา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลาที่พักริมทางหลวง 8 แห่ง ศาลาทรงไทยหน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร 2 หลัง และสถานสงเคราะห์คนชราวาสนเวศน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

สิ่งก่อสร้างสุดท้ายคือโรงเรียนวัดราชบพิธแห่งใหม่ ในที่ดินที่กองทัพบกยกให้ เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 90 พรรษา งานสร้างพุทธมณฑลให้สำเร็จเสร็จทันในมหามงคลสมัยที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2530 เป็นผลงานสำคัญของพระองค์ที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521

 

 

งานพระนิพนธ์

 

งานพระนิพนธ์ ทรงนิพนธ์หนังสือและบทความต่างๆ ทั้ง ร้อยแก้ว และร้อยกรองไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ทิศ 6 สังคหวัตถุ 4 สัมปรายิกัตถประโยชน์ วัดของบ้าน พุทธศาสนคุณ พัฒนาใจ บุคคลหาได้ยาก มรดกชีวิต ความเติบโต วาสนาสอนน้อง จดหมายถึงพ่อ วาทแห่งวาสน์ คำกลอนสอนใจ วาสนคติ นิราศ 2 ปี สวนดอกสร้อย สักวาปฏิทิน กลอนปฏิทิน อาจารย์ดี สมพรปาก คน-ระฆัง เรือ-สมาคม วัยที่เขาหมดสงสาร และบทความเรื่องบันทึกศุภาสินี เป็นต้น

 

 

สิ้นพระชนม์

 

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคปับผาสะอักเสบ พระหทัยวาย ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2531 เวลา 16:50 น. สิริพระชันษา 91 ปี 178 วัน ได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2532 ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส

 

อนึ่ง ในปี พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาพระอัฐิของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) ในฐานะพระราชอุปัธยาจารย์เมื่อครั้งทรงผนวช ขึ้นเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ”

 

สิ้น พระราชอุปัธยาจารย์ ในหลวง ร.10

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) (ภาพจาก www.web-pra.com)

 

 

ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานจัดฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้น ถวายกางกั้นพระรูปบรรจุพระสรีรางคาร ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แบ่งพระอัฐิบรรจุลงพระโกศทองคำ เชิญมาประดิษฐานในหอพระนากวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายในพระฐานะพระบุพการีทางธรรมสืบไป

 

 

สิ้น พระราชอุปัธยาจารย์ ในหลวง ร.10

กระบวนอัญเชิญพระโกศจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 
สู่เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส (ภาพจาก www.web-pra.com)

 

 

อนึ่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2517 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงอยู่ในตำแหน่ง 14 พรรษา

 

***************//***********

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากวิกิพีเดีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ