วันนี้ในอดีต

สิ้นสุดยอดนักธรรมชาติวิทยา ดร.จารุจินต์ นภีตภัฏ เพราะแบบนี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หมอได้ฉีดยาชาและยานอนหลับให้ แต่แล้วจู่ ๆ ชีพจรของ ดร.จารุจินต์ก็หยุดเต้นลงทันที และเสียชีวิตลงบนเตียงผ่าตัด นั่นเอง

         

        ข่าวช็อคคนไทยเมื่อวันนี้ของ 10 ปีก่อน หนีไม่พ้นข่าวการจากไปอย่างกะทันหันและไม่มีใครคาดคิดว่า มันจะเกิดขึ้นได้

 

          นั่นคือ ข่าวที่ ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ได้เสียชีวิตอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551 ด้วยการผ่าตัดถุงใต้ตาที่คลินิกศัลยกรรมแห่งหนึ่ง ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่

 

         โดยหมอได้ฉีดยาชาและยานอนหลับให้ แต่แล้วจู่ ๆ ชีพจรของ ดร.จารุจินต์ก็หยุดเต้นลงทันที และเสียชีวิตลงบนเตียงผ่าตัด นั่นเอง

          ไม่เพียงความเศร้าโศกเสียใจของครอบครัวและญาติมิตร หากแต่คนไทยทั้งประเทศยังเสียดายอย่างสุดจะบรรยายออกมาได้ ที่เมืองไทยได้ขาดบุคคลที่มีความสามารถ เป็นเพชรน้ำหนึ่งประจำแวดวงธรรมชาติวิทยาไปอย่างน่าใจหายอีกหนึ่งคน         

 

          วันนี้ในอดีต จึงขอย้อนเกียรติประวัติและผลงานมาฝากผู้อ่าน เผื่อว่าคนรุ่นใหม่ ที่ยังไม่มีโอกาสได้รู้จักบุคคลท่านนี้ จะได้รับรู้ไว้ว่า เมืองไทยเคยมีสุดยอดนักธรรมชาติวิทยา และงานด้านอนุกรมวิธานสัตว์ของประเทศไทย ยากจะใครมาทดแทนได้ อย่าง ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ

 

          ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ เกิดเมื่อ 22 มกราคม พ.ศ. 2493 ที่ริมคลองบางซื่อ สุขาภิบาลอนุสาวรีย์ จังหวัดพระนคร จบการศึกษาจากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และเข้าเรียน กีฏวิทยา (ศาสตร์วิชาเกี่ยวกับแมลง)เป็นวิชาเอกที่คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนจบปริญญาโท 

 

          ด้วยความที่มีนิสัยชอบศึกษาสิ่งมีชีวิตต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก ว่าตรงกันว่า เขาชื่นชอบสัตว์มาก โดยเฉพาะแมลง ที่มักแอบนำเอากิ้งกือ จิ้งหรีด ใส่กระเป๋าเข้าบ้านเป็นประจำจนแม่ต้องคอยตรวจค้นอยู่เสมอ

 

 

สิ้นสุดยอดนักธรรมชาติวิทยา  ดร.จารุจินต์ นภีตภัฏ เพราะแบบนี้

เครดิตภาพจาก https://www.sarakadee.com/2008/12/12/jarujint/

 

 

          ขณะศึกษาอยู่ปริญญาโท ได้มาช่วยงานกับ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นักบุกเบิกงานอนุรักษ์สัตว์ป่าของเมืองไทย โดยได้ร่วมเขียนหนังสือคู่มือผีเสื้อประเทศไทย และหนังสือเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อจบออกมาแล้วได้เข้าทำงานในสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

 

          ต่อมา ได้เข้าทำงานที่ศูนย์รวบรวมวัสดุอุเทศก์ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยมีหน้าที่ในการสำรวจและศึกษาวิจัยสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ในประเทศไทย

 

          สำหรับการทำอนุกรมวิธานนั้น มีลักษณะงานเหมือนกับงานในพิพิธภัณฑ์ คือทำงานทั้งในส่วนของวิจัยและจัดแสดง ทั้งนี้ ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ มีผลงานด้านการอนุกรมวิธานสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้ง พืช แมลง นก ปลา สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ พร้อมทั้งงานวิจัยและเขียนหนังสือรวบรวมรายชื่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในประเทศไทย รวมทั้งค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ จำนวนหนึ่ง และได้รับเกียรติตั้งตามชื่อของท่าน

 

          ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี งานสุดท้ายที่ตั้งใจจะทำแต่ไม่สำเร็จเพราะเสียชีวิตเสียก่อน คือการออกหนังสือรวบรวมรายชื่อนกทั้งหมดที่พบในประเทศไทย ชื่อ Birds of Thailand

 

          อย่างไรก็ดี คนที่ติดตามงานของ ดร.จารุจินต์ จะรู้กันดีว่า ท่านไม่เพียงเป็นนักธรรมชาติวิทยา นักอนุกรมวิธาน นักอนุรักษ์ แต่ยังเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถ ด้วยบุคลิกอารมณืดี เป็นมิตร คุยสนุก แฝงด้วยความตลก ประกอบกับความรอบรู้รอบด้าน ทำให้ท่านสามารถถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างน่าประทับใจแก่ผู้ที่ได้มีโอกาสได้พบหรือฟังการบรรยาย

 

 

สิ้นสุดยอดนักธรรมชาติวิทยา  ดร.จารุจินต์ นภีตภัฏ เพราะแบบนี้

เครดิตภาพจาก https://www.sarakadee.com/2008/12/12/jarujint/

 

 

          ถ้าจะยกตัวอย่าง คงหนีไม่พ้นบทสัมภาษณ์ ในนิตยสาร a day ฉบับที่ 96 เดือนสิงหาคม 2551 ซึ่งคาดว่าเป็นบทสัมภาษณ์ “ชิ้นสุดท้าย” ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชน

 

          ท่านได้กล่าวถึง “ตัวเงินตัวทอง” หรือ “เหี้ย” ซึ่ง เป็นสัตว์อีกประเภทที่ ดร.จารุจินต์มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ

 

          ในบทสัมภาษณ์นั้น ท่านกล่าวว่า “ถ้าผมเป็นตัวเหี้ย จะฟ้องร้องมนุษย์ด้วยซ้ำ โทษฐานที่นำชื่อไปตั้งเป็นคำหยาบ ฟ้องหมิ่นประมาทได้เลยนะเนี่ย”

 

          ขณะที่ยังมีการเขียนไว้อาลัยถึงท่าน ซึ่งหลายคนยังจดจำมาจนทุกวันนี้ ที่ว่า “ใครหลายคนบอกว่า ดร.จารุจินต์ เป็นหนึ่งในบุคคลที่ห้ามตาย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นองค์ความรู้ที่นับไม่ได้จะสลายไปในที่สุด”

 

          อย่างไรก็ดี ถึงวันนี้บุคลากรคนสำคัญผู้เป็นพหูสูตรด้านธรรมชาติวิทยา ได้จากคนไทยไปแล้วนับทศวรรษ ทิ้งผลงานไว้มากมาย อาทิ เรื่องผีเสื้อเมืองไทย นกเมืองไทย ฉบับปรับปรุงจากภาษาอังกฤษคือ A Guide to the Birds of Thailand อันถือเป็นผลงานที่มีคุณภาพระดับโลก จัดทำโดย น.พ.บุญส่ง เลขะกุล บิดาแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติไทยผู้ล่วงลับ

 

 

สิ้นสุดยอดนักธรรมชาติวิทยา  ดร.จารุจินต์ นภีตภัฏ เพราะแบบนี้

เครดิตภาพจาก https://www.sarakadee.com/2008/12/12/jarujint/

 

 

          และก่อนที่ท่านเสียชีวิต ดร.จารุจินต์ กำลังเขียนหนังสือพจนานุกรมชื่อสัตว์เป็นชื่อไทยและชื่อภาษาอังกฤษอยู่ เป็นงานที่รับปาก น.พ.บุญส่ง ว่าจะดำเนินการทำให้สำเร็จ

 

          โดยดร.จารุจินต์ ถือเป็นทายาทสายตรงทางด้านวิชาการของ น.พ.บุญส่ง เป็นลูกศิษย์เอกได้รับการถ่ายทอดวิชาจาก น.พ.บุญส่ง มาตั้งแต่ยังหนุ่ม และรับการยอมรับจากคนในตระกูล “เลขะกุล” ว่าเป็น “ลูกนอกไส้” ของ น.พ.บุญส่ง การจากไปของดร.จารุจินต์ จึงนับเป็นความสูญเสียอย่างยิ่งในวงการนักวิจัยทางชีววิทยา (น.ส.พ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 13 กันยายน 2551)

 

          ที่สำคัญ คนไทยหลายคนยังจดจำและเจ็บปวด เพราะท่านจากไปแบบกะทันหัน เกินกว่าที่ใครจะตั้งตัวทัน

 

 

สิ้นสุดยอดนักธรรมชาติวิทยา  ดร.จารุจินต์ นภีตภัฏ เพราะแบบนี้

เครดิตภาพจาก https://www.sarakadee.com/2008/12/12/jarujint/

 

 

          ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดนั้นมีว่า ท่านได้เข้ารับการผ่าตัดถุงใต้ตาในคลินิกแห่งหนึ่งย่านมักกะสัน เพชรบุรี จากนั้น เจ้าหน้าที่พร้อมด้วยแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดีเข้าตรวจสอบศพภายในร้านคลินิกแห่งนั้น

 

          ตำรวจได้ทำการสอบสวนแพทย์เจ้าของคลินิก ทราบว่า ผู้ตายเข้ารับการผ่าถุงใต้ตาที่มีรอยด่างดำ โดยก่อนการรักษาได้ฉีดยาชา และยานอนหลับ

 

          หลังจากนั้น สังเกตเห็นผู้ตายเลือดเปลี่ยนเป็นสีดำ และชีพจรหยุดเต้น จึงประสานแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพมาปั๊มหัวใจ แต่ไม่ทันการ

 

          อย่างไรก็ดี ขณะนั้นเบื้องต้นตำรวจคาดว่า ผู้ตายอาจแพ้ยาชา หรือ ยานอนหลับ พนักงานสอบสวนจึงนำยาทั้ง 2 ชนิด ส่งให้แพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีตรวจสอบหาสารผิดปกติ ก่อนจะสรุปว่า คลินิกดังกล่าว มีความผิดหรือไม่

 

          ด้าน น.พ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ แพทย์นิติเวช ร.พ.รามาธิบดี เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นจากการชันสูตรศพ พบว่าผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวคือโรคความดัน เส้นเลือดแดงเลี้ยงหัวใจตีบตัน โรคประจำตัวนี้อาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน

 

          แต่อย่างไรก็ดี ต้องรอผลการตรวจทางพิษวิทยา โดยการตรวจเลือด และน้ำในกระเพาะอาหารของผู้เสียชีวิต เพื่อตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง ต้องใช้เวลาประมาณ 7 วันจึงจะทราบผลการเสียชีวิต

 

          ที่สุดข่าวคราวก็เงียบหายไป ไม่มีการรายงานสรุปชี้ชัดออกสู่สาธารณะ ว่าท่านเสียชีวิตจากสาเหตุใดกันแน่ นอกจากมีรายงานข่าวว่า ทางครอบครัวและญาติพี่น้อง ไม่ได้ติดใจอะไร เพราะทราบอยู่แล้วว่าท่านมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ซึ่งคงเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วน ไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น

 

          ขอรำลึกถึง ดร.จารุจินต์ นภีตภัฏ มา ณที่นี้

 

//////////////

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

วิกิพีเดีย

https://mgronline.com/science/detail/9510000109485

https://www.sarakadee.com/2008/12/12/jarujint/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ