วันนี้ในอดีต

26 เม.ย.2456 กำเนิด "สถานเสาวภา" จากการสิ้นชีพิตักษัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นับได้ว่า การถึงชีพิตักษัยของ หม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ ดิศกุล ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสถานเสาวภา สภากาชาดไทย!

          ช่วงปีนี้ข่าวคราวการเสียชีวิตของคนไทยจากการติดเชื้อพิษสุนัขบ้า มีจำนวนมาถึงรายที่ 8 แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดใจมาก โดยเฉพาะรายที่เสียชีวิตล่าสุดเป็นเด็กอายุ 15 ปีเท่านั้น

          ทำให้นึกเหตุการณ์ของวันนี้เมื่อ 105 ปีก่อน ที่เป็นต้นกำเนิดของ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด ปาสตุรสภา (Pasteur Institute) อันเป็นชื่อเดิม

          หากแต่ตามประวัติแล้ว ยังมีเหตุการณ์ที่ถือเป็นหนึ่งในต้นกำเนิดของสถานเสาวภา แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจชาวสยามทั้งประเทศ!!

 

26 เม.ย.2456  กำเนิด "สถานเสาวภา"  จากการสิ้นชีพิตักษัย

          นั่นคือก่อนหน้านี้ในปี 2455 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระดำริที่จะจัดตั้งสถานที่ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจาก หม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ ดิศกุล พระธิดาได้สิ้นชีพิตักษัยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นก็ได้นำความกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อาศัยตึกหลวงที่ถนนบำรุงเมืองเป็นที่ทำการผลิตและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อสร้างเสร็จให้เรียกชื่อว่า “ปาสตุรสภา” ตามชื่อ หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis pasteur) นักเคมีชาวฝรั่งเศสผู้พบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

 

26 เม.ย.2456  กำเนิด "สถานเสาวภา"  จากการสิ้นชีพิตักษัย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

          ต่อมาปี 2460 รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้โอนจากกระทรวงมหาดไทยไปสังกัดสภากาชาดไทย และเปลี่ยนชื่อเป็น “สถานปาสเตอร์”

       ต่อมาในปี 2463 ได้ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่สภากาชาดไทย เพื่อจัดสร้างที่ทำการของสถานปาสเตอร์แห่งใหม่ขึ้นที่ถนนพระราม 4 และได้พระราชทานนามว่า “สถานเสาวภา” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2465 จัดตั้งเป็นที่ทำการของสถานเสาวภา สภากาชาดไทยสืบมาจนถึงทุกวันนี้

 

26 เม.ย.2456  กำเนิด "สถานเสาวภา"  จากการสิ้นชีพิตักษัย

ภาพจาก https://www.pinterest.com/pin/341429215494197578/

          สำหรับเรื่องราวของ หม่อมเจ้าหญิงบันลุศิริศานต์ ดิศกุล หรือ “ท่านหญิงเภา” นั้น ท่านประสูติช่วงเดือน กันยายน พ.ศ. 2441 ทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับหม่อมเจิม ดิศกุล ณ อยุธยา (สกุลเดิม: สนธิรัตน์) ขณะที่ทรงเจริญพระชันษาได้ 13 ปี ก็มีเหตุร้ายที่ไม่มีใครคาดคิดจนถึงแก่ชีพิตักษัย!!

          โดยสาเหตุมีปรากฏรายละเอียดอยู่ในพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง “นิทานโบราณคดี” นิทานที่ 13 เรื่องอนามัย ซึ่งระบุไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2455 ขณะนั้นพระองค์ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยพร้อมด้วยครอบครัว ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จออกไปประทับที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

          บ่ายวันหนึ่ง มีสุนัขบ้าวิ่งเข้ามาในบ้านพักของพระองค์ และได้กัดขาหม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ ซึ่งทรงหกล้มขณะวิ่งหนีสุนัขบ้า ปรากฏเป็นแผลรอยเขี้ยว 2 แผล!!

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงรีบสืบหาแพทย์ที่ชำนาญการรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในเวลานั้น ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแนะนำให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ส่งตัวหม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ไปรักษายังสถาบันปาสเตอร์ที่เมืองไซง่อน อินโดจีนของฝรั่งเศส เนื่องจากที่นั่นมียาสำหรับรักษาโรคนี้

          แต่เรือเดินทะเลประจำทางที่ไปไซ่ง่อนได้ออกเดินทางไปก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน จำเป็นต้องรอถึง 15 วันจึงจะมีเรือลำใหม่เข้ามาที่กรุงเทพ จึงได้แต่รักษาอาการตามแบบแพทย์แผนไทยจนแผลหาย

          หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน หรือในช่วงเช้าของวันที่ 22 เม.ย. 2455 หม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ทรงมีอาการของโรคกลัวน้ำ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตามแพทย์ฝรั่งให้มาตรวจอาการ จึงทราบว่าหมดทางรักษาแล้ว อาการของหม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ได้ทรุดลงอย่างรวดเร็ว และถึงชีพิตักษัยในเวลาดึกของค่ำวันนั้น

        ทั้งนี้ ความตอนหนึ่งจาก “นิทานโบราณคดี” นิทานที่ 13 เรื่องอนามัย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงระบุไว้ว่า

         "วันหนึ่งเวลาบ่าย พวกลูกเด็กๆ ลงไปเล่นกันอยู่ที่สนามหญ้าหน้าเรือน มีหมาบ้าตัวหนึ่งวิ่งเข้ามาในบ้าน พวกเด็กพากันวิ่งหนี แต่ลูกหญิงบรรลุศิริสาร (เรียกกันว่า หญิงเภา) หกล้มถูกหมาบ้ากัดเอาที่ขาเป็นรอยเขี้ยว ๒ แผล ตัวเองไม่รู้สึกเจ็บปวดเท่าใดนัก แต่พวกผู้ใหญ่ตกใจ ฉันก็สั่งให้เที่ยวสืบหาหมอที่ชำนาญการรักษาพิษหมาบ้าแต่ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ ตรัสแนะนำให้ฉันส่งไปรักษา ณ สถานปาสเตอร์ที่เมืองไซ่ง่อน ฉันก็เห็นชอบด้วยพระราชดำริ แต่ให้สืบถึงเรือที่จะรับไปได้ความว่าเรือเพิ่งออกไปเสียเมื่อวันก่อน จะต้องรอคอยเรืออีก ๑๕ วันจึงจะไปได้ ก็ต้องให้หมอซึ่งหามาได้คนหนึ่งรักษาตามวิธีไทย ให้กินยา ทายา รักษาไม่กี่วันแผลก็หาย ตัวเด็กก็สบาย แจ่มใสเหมือนแต่ก่อน จนเชื่อกันว่าหมอคนนั้นสามารถรักษาหายแล้ว"

          "เมื่อกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ก็เป็นปรกติดีมาสัก ๓ เดือน จนเกือบลืมเรื่องที่เธอถูกหมาบ้ากัด อยู่มาวันหนึ่งหญิงเภาตื่นนอนขึ้นเช้าตัวร้อน ก็สำคัญกันว่าเป็นไข้ ให้กินยาตามเคย แต่มีอาการแปลกอย่างหนึ่งในเวลาเมื่อเธอรับถ้วยยาหรือถ้วยน้ำจะกินมือสั่นทั้งสองข้าง ต่อเมื่อวางถ้วยแล้วมือจึงหายสั่น อาการเช่นนั้นทั้งตัวฉันและใครๆ ที่อยู่ด้วย ไม่มีใครเคยเห็น แต่ก็ยังไม่ตกใจ ด้วยอาการอย่างอื่นไม่ผิดกับไข้สามัญ ครั้นสายเข้าเวลาจะกินยาหรือกินน้ำ มือยิ่งสั่นหนักขึ้นจนถึงตัวสั่น ฉันก็แปลกใจ"

          "จึงให้รับหมอปัว (ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาอัศวินอำนวยเวช) มาดู พอหมอปัวเห็นอาการก็หน้าเสีย เรียกฉันไปนั่งด้วยกันให้ห่างคนอื่น แล้วบอกว่าเป็นโรคกลัวน้ำด้วยพิษหมาบ้า ไม่มีทางที่จะรักษาให้หายเสียแล้ว ฉันได้ฟังยังไม่อยากเชื่อ ด้วยเวลานั้นอาการคนไข้ทรุดลงเพียงต้องลงนอนยังพูดจาได้ แต่อาการที่ฉันไม่เคยเห็น เป็นกิริยาโรคกลัวน้ำตรงกับตำราฝรั่งอย่างหมอปัวว่าก็จนใจ"

          "ฉันบอกผู้อื่นเพียงว่าเป็นโรคเกิดจากพิษหมาบ้ากัด มิได้ให้ใครรู้ว่าจะไม่รอด เพราะเกรงจะเกิดโศกศัลย์พาให้คนไข้ใจเสีย เพิ่มทุกขเวทนาหนักขึ้น แต่อาการโรคทรุดเร็ว พอถึงเวลาดึกค่ำวันนั้นหญิงเภาก็สิ้นชีพ เจ็บอยู่ไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง แต่ไม่มีอาการเช่นเคยได้ยินเขาเล่ากัน ว่าคนจะตายด้วยพิษหมาบ้า มักร้องเป็นเสียงเห่าหอน หรือน้ำลายฟอดฟูมปากอย่างหนึ่งอย่างใด"

         "....ที่สถานเสาวภา มีรูปหม่อมเจ้าหญิงบรรลุศิริสาร อย่างปั้นครึ่งตัวหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ตั้งอยู่รูปหนึ่ง เป็นอนุสรณ์ซึ่งเธอเป็นมูลเหตุให้เกิดสถานปาสเตอร์ในเมืองไทย ฉันไปเห็นรูปนั้นเมื่อใด ก็นึกว่าเธอคงไปสู่สุคติภูมิ เพราะชีวิตของเธอช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ในเมืองไทยได้มาก..."

 

26 เม.ย.2456  กำเนิด "สถานเสาวภา"  จากการสิ้นชีพิตักษัย

         ทั้งนี้ เมื่อหม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์สิ้นชีพิตักษัย นายแพทย์ชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นมิตรคนหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้แนะนำพระองค์เกี่ยวกับการจัดตั้งสถานปาสเตอร์ในกรุงเทพขึ้นเพื่อผลิตยารักษาและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งพระองค์ทรงเห็นด้วย เพราะทรงเคยเห็นกิจการของสถาบันปาสเตอร์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อครั้งเสด็จไปราชการในทวีปยุโรปในปี พ.ศ. 2434 มาก่อน

 

26 เม.ย.2456  กำเนิด "สถานเสาวภา"  จากการสิ้นชีพิตักษัย

ภาพจากเฟซบุคเพจ พิพิธประวัติศาสตร์ โดย อัศนัย มีอนันต์ บรรยายว่า หม่อมเจิมนั่งเก้าอี้กอดหม่อมเจ้านิพัทธพันธุดิศ ดิศกุล(ท่านชายนิพัทธ) หม่อมเจ้าอัปภัศราภา (ดิศกุล) เทวกุล(ท่านหญิงแก้ว) ทรงยืนด้านหลังหม่อมเจิม และ หม่อมเจ้าบรรลุศิริสาร ดิศกุล(ท่านหญิงเภา) ประทับยืนด้านหน้าและทรงจับหลังหม่อมเจิม หม่อมมารดาท่านหญิง

 

          พระองค์จึงทรงขอพระบรมราชานุญาตประกาศบอกบุญเรี่ยไรเงิน และได้จัดตั้งสถานปาสเตอร์ขึ้นที่ตึกของกระทรวงมหาดไทยริมโรงเลี้ยงเด็ก ถนนบำรุงเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2456 (ในเวลานั้นเรียกว่า “ปัสตุรสภา”) ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 กิจการดังกล่าวได้โอนจากกระทรวงมหาดไทยไปอยู่ในความดูแลของกองวิทยาศาสตร์ สภากาชาดสยาม โดยใช้สถานที่เดิมเป็นที่ทำการไปพลางก่อน และในปี พ.ศ. 2465 ได้ย้ายที่ตั้งมาอยู่ที่ทำการแห่งใหม่ในชื่อสถานเสาวภาจนถึงปัจจุบัน

          จึงนับได้ว่า การถึงชีพิตักษัยของ หม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ ดิศกุล ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสถานเสาวภา สภากาชาดไทย!

/////////////////////

ขอบคุณภาพและข้อมูลตามรายละเอียดดังนี้

วิกิพีเดีย

https://www.pinterest.com/pin/341429215494197578/

เฟซบุค พิพิธประวัติศาสตร์ โดย อัศนัย มีอนันต์ ตามลิงค์นี้ https://www.facebook.com/1145764992140751/photos/pcb.1150725984977985/1150725344978049/?type=1&theater

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ